ไม่พบผลการค้นหา
องค์การอนามัยโลกออกรายงานที่ระบุว่า CBD สารประกอบในกัญชา มีประโยชน์ทางการแพทย์ และไม่ทำให้ติด พร้อมแนะนำให้รัฐบาลยุติการตราให้สารออกฤทธิ์ดังกล่าวผิดกฎหมาย

คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านการพึ่งพายาขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกรายงานว่าด้วยแคนนาบิไดออล (Cannabidiol) หรือ CBD ซึ่งเป็นหนึ่งในกว่า 100 สารประกอบที่พบในกัญชา โดยพบว่าจนถึงขณะนี้ ยังไม่เคยมีหลักฐานใดๆที่ชี้ชัดว่าแคนนาบิไดออลมีโทษต่อร่างกาย แต่ในทางตรงข้าม กลับมีประโยชน์ โดยใช้ในการบำบัดอาการชักจากโรคลมชักได้ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และสัตว์ รวมถึงใช้รักษาอาการของโรคอัลไซเมอร์ อาการประสาทหลอน มะเร็ง และโรคพาร์กินสันได้ นอกจากนี้ยังพบว่า CBD ยังต่างจากสารอื่นๆที่พบในกัญชา หรือที่เรียกว่าสารตระกูลแคนนาบินอยด์ ตรงที่ไม่มีฤทธิ์ต่อประสาท เท่ากับไม่สามารถทำให้ "ไฮ" หรือ "เมา" ได้ และยังไม่ทำให้ผู้ใช้ต้องพึ่งพายา หรือเกิดการติดยาอีกด้วย

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวของ WHO ยังระบุด้วยว่า คุณประโยชน์ทางยาของ CBD ทำให้รัฐบาลหลายประเทศเริ่มปรับกฎหมายเพื่อให้สามารถนำสารชนิดนี้มาใช้รักษาผู้ป่วยได้ แต่ยังมีรัฐบาลบางประเทศ เช่นสหรัฐฯ ที่ยังขึ้นบัญชี CBD ให้อยู่ในสารควบคุมประเภท 1 คือให้โทษสูงและไม่มีประโยชน์ทางการแพทย์ ทำให้เกิดการซื้อขาย CBD อย่างผิดกฎหมาย เสี่ยงต่อการใช้เกินขนาดหรือผิดวิธี รวมถึงการได้ยาที่ไม่มีคุณภาพ

ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกได้ออกรายงานที่ชื่อว่า The health and social effects of nonmedical cannabis use หรือผลกระทบด้านสุขภาพและสังคมที่เกิดจากการใช้กัญชาโดยไม่ใช่ทางการแพทย์ ซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุขของสวีเดนเป็นเจ้าภาพ โดยรายงานดังกล่าวระบุว่าการผลกระทบจากการเสพกัญชาที่ชัดเจนที่สุด ก็คือการทำให้ผู้เสพเสี่ยงต่อการก่ออุบัติเหตุจราจรเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 1-3 เท่า อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าวถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับผลกระทบที่ผู้ขับขี่รถยนต์ได้รับจากการเสพแอลกอฮอล