ไม่พบผลการค้นหา
เบื้องหลังความอลังการของวงลูกทุ่งหมอลำระดับประเทศ 'เสียงอิสาน' คือ ปัญหาเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่เข้ามาท้าทายความอยู่รอดของ 'นกน้อย อุไรพร' และสมาชิกวงกว่า 400 ชีวิต

"...พลังนี้ขึ้นอยู่กับพลังสามัคคีของลูกๆ หลานๆ บ้านตอง 5 กับตอนนี้ พ.ศ. นี้ ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กรของเรา ซึ่งได้แสดงน้ำจิตน้ำใจ ได้แสดงความรักความกตัญญูต่อผืนแผ่นดินบ้านตอง 5 กับคำว่าสู้ปัญหาสู้วิบาก ทุกคนไม่ทิ้งกัน ทุกคนไม่ทิ้งแม่นก ไม่ทิ้งพ่อหลอด ไม่ทิ้งเสียงอิสาน ยังคงแสดงความกตัญญูต่อผืนแผ่นดินบ้านตอง 5 ซึ่งเป็นความประทับใจ ความซึ้งใจของแม่นกน้อย อุไรพร ให้มีพลัง แม้ท้อถอย ท้อแต่ถอยก็ถอยไม่ได้ อย่างนั้นจึงจะขอมาพูดให้ลูกให้เต้าได้รับรู้รับทราบ..."

นกน้อย อุไรพร หรือ นางอุไร สีหะวงศ์ นักร้องหมอลำชื่อดัง วัย 62 ปี หัวหน้าวง กล่าวเปิดวงเสียงอิสาน ปีที่ 43 ด้วยน้ำตา เธอเล่าให้ทีมข่าว 'วอยซ์ ออนไลน์' ฟังว่า เมื่อก่อนวงเสียงอิสานได้รับความนิยมอย่างมาก คนดูในแต่ละรอบเป็นหมื่นคน แต่ในยุคที่เศรษฐกิจระดับฐานรากซบเซา การจ้างวงขนาดใหญ่ไปแสดงในที่ต่างๆ ก็น้อยลง เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง หรือเลือกจ้างวงขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่ราคาถูกกว่า และถ้าปิดวิกเก็บตั๋วเอง คนดูในแต่ละรอบก็ลดลงจนเหลือน้อยที่สุดประมาณ 2,000 คนต่อรอบ ขณะที่เธอต้องรับผิดชอบดูแลชีวิตคนในวงกว่า 400 ชีวิต ประกอบกับกระแสข่าวการฟ้องร้องเรื่องโฉนดที่ดินก็เข้ามาบั่นทอนกำลังใจของเธอ และความเชื่อมั่นของวงต่อสายตาเจ้าภาพ

นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนของโลกยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย ที่เผยแพร่ภาพคนตีกันในวงหมอลำ จนทำให้คนเฒ่าคนแก่ไม่กล้ามาดู แต่เลือกที่จะนอนดูเฟซบุ๊กไลฟ์อยู่ที่บ้าน หรือยอดขายซีดีการแสดงที่ลดลงจนแทบเหลือไม่ถึงร้อยแผ่นต่อปี ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี

นกน้อย อุไรพร.JPG

นกน้อย ยอมรับว่า สิ่งที่วงเสียงอิสานทำอยู่นี้คือการกระทำที่สวนทางเศรษฐกิจ บางเดือนถึงกับขาดทุน ต้องควักเงินส่วนตัวออกมาดูแลวง จนหลายครั้งมีคนแนะนำให้เธอยุบวง แต่เธอก็ยังยืนหยัดที่จะเปิดวงทำการแสดงด้วยความยิ่งใหญ่อลังการตามมาตรฐานเสียงอิสาน เพื่อสร้างตำนานของศิลปะหมอลำ และไม่ทำลายความคาดหวังของคนดู

อย่างไรก็ตาม วงเสียงอิสานก็สามารถปรับลดขนาดของวงตามจำนวนงบประมาณของเจ้าภาพ เช่น วงลูกนก หรือ เสียงอีสานมินิ เพื่อหารายได้มาเลี้ยงสมาชิกในวง เพราะเธอต้องการสืบทอดศิลปะนี้ให้คงอยู่ต่อไป และหวังว่าวันหนึ่งที่เธอจากไปแล้ว ลูกหลานก็จะเป็นคนสานต่อ และเธอยังมีแผนที่จะเปิดบ้านเลขที่ 555 ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์หมอลำอีสาน โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ซึ่งคาดว่าภายใน 2 ปีน่าจะแล้วเสร็จ

ส่วนกรณีที่ถูกแจ้งความเอาผิดเกี่ยวกับการยืมโฉนดที่ดิน แม่นกน้อยขอให้เป็นเรื่องของทนายความดำเนินการต่อสู้ไปตามกระบวนกฏหมาย

“เรื่องบางเรื่องก็ไม่สมควรออกสื่อ เรื่องบางเรื่องพูดแล้วทำให้คนอื่นตาย ตายหมู่ ก็ไม่ควรพูด เรื่องราวที่เป็นข่าวดราม่าไม่ได้ส่งผลต่อการทำงาน ลูกหลานในวงกำลังใจดี หลังเห็นแม่นกเจอปัญหา ทำให้เกิดคำถามเกิดขึ้นมาในสังคมมากมาย เจ้าภาพงานก็ถามว่าจริงไหมยังไปแสดงได้ไหม เราก็อธิบายให้เขาฟังและยืนยันว่ายังไปแสดงคอนเสิร์ตได้ตามเดิม ถ้าถามว่างานลดลงเพราะเรื่องราวดราม่าหรือไม่ ตอบว่าไม่ใช่ ลดลงเพราะสภาพเศรษฐกิจไม่ดี แต่เราก็เน้นงานโชว์อลังการเหมือนเดิม” นกน้อยกล่าว

ชาลี ฮอลิเดย์ เสียงอีสาน.JPG

ด้านนายเลื่อน วิเศษเพ็ง หรือ 'พ่อใหญ่ชาลี ฮอลิเดย์' ตลกชื่อดัง วัย 68 ปี เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้สมาชิกดาวรุ่งหลายคนที่มีแฟนคลับ ก็ลาออกจากวง เช่น ปอยฝ้าย มาลัยพร, ไหมไทย หัวใจศิลป์, ลูกแพร อุไรพร, นิกรน้อย เสียงอีสาน, และยายแหลมทอง ฟ้าสะอื้น เป็นต้น หรือ ดาวตลกเรียกแขกที่เสียชีวิต อย่าง พ่อใหญ่ยงค์ หรือ คนที่อายุมากเจ็บปวดจนต้องพักงาน เช่น ยายจื้น ก็ส่งผลกระทบทำให้คนดูลดลงจำนวนมาก การรับส่งมุกกับคนรุ่นใหม่ก็ยังไม่ลื่นไหลเท่าที่เคย แต่คนรุ่นใหม่ก็มีความสามารถที่จะพัฒนาฝีมือต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ตนก็ยังศรัทธาและเชื่อมั่นในตัวแม่นกน้อย และพ่อใหญ่หลอด ที่ทำให้ตนเป็นที่รู้จักของแฟนหมอลำ และตั้งใจจะอยู่กับเสียงอีสานจนกว่าถูกไล่ออก เพราะเสียงอีสาน และแฟนหมอลำคือความสุข และชีวิตจิตใจของตน

เสียงอีสาน.JPG

แป้ง ณัฐธิดาพร ขันคำ นักร้องและนางเอกหมอลำ อายุ 24 ปี หลานสาวของนกน้อย อุไรพร กล่าวว่า ทุกครั้งที่เธอร้องเพลง 'สาวกนกปีกเหล็ก' เพลงประจำวงในปี 2561-2562 จะรู้สึกตื้นตันใจจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เพราะก่อนเปิดวง สมาชิกที่ปักกล้าดำนาเสร็จก็จะมาร่วมซ้อมการแสดงกันตั้งแต่ 2 ทุ่มจนถึง 7 โมงเช้าทุกวันตามเวลาการแสดงจริง และแน่นกน้อยก็จะคอยดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน ทั้งสมาชิกเก่า สมาชิกใหม่ และสมาชิกที่เคยออกไป แล้วกลับเข้ามาในวง เหมือนกับเพลงที่ร้องว่า 'แม่นกน้อยเหมือนศาลาริมทาง' แม้ทุกวันนี้วงเสียงอิสาน และแม่นกน้อย ต้องเจอกับวิกฤติหลายอย่าง แต่ตนและสมาชิกในวงจะเป็นกำลังใจและยืนเคียงข้างหัวหน้าวงเสมอ

"เมื่อก่อน เข้ามาในวงแรกๆ อายุ 10 ขวบ แม่ใหญ่ก็ให้ไปเสียบขนนกตามพร็อปก่อน แล้วก็ให้ไปเป็นหางเครื่อง เพราะแม่ใหญ่บอกว่า ถ้าเราจะเป็นหมอลำ เราต้องมีพื้นฐานในการเต��นเสียก่อน ต้องมีพื้นฐานในการเป็นหางเครื่อง แม่ใหญ่สอนว่าเราจะทำได้ทุกอย่าง"

นอกจากนี้ เธอยังเล่าให้ฟังว่า วงเสียงอิสานพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การมีวงขนาดกลางและขนาดเล็กเพื่อให้รับงานจ้างได้ตามงบประมาณของเจ้าภาพ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีรถไฮโดรลิกมาใช้ทำเวที เพื่อลดงบประมาณ ระยะเวลา และบุคลากรที่ใช้เก็บและตั้งเวที ทำให้รับงานได้มากขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของวงหมอลำ คือการกำหนดสมาชิกในวงที่ชัดเจนไม่ได้ แล้วแต่ความสะดวกของสมาชิกแต่ละคนว่าคิวไหนสะดวก หรือคิวไหนติดงานที่บ้าน ซึ่งหัวหน้าวงก็ต้องวางแผน และจัดบล็อกกิ้งสำรองไว้ 3-4 แบบ

อย่างไรก็ตาม เธอในฐานะทายาทเสียงอิสานรุ่นต่อไป ยืนยันว่าจะสืบทอดความยิ่งใหญ่ และรักษามรดกของหมอลำเสียงอีสานไว้ต่อไป แม้วันข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงอีก แต่ตนไม่กลัวและเชื่อว่าจะสามารถปรับตัวและก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไปได้

เสียงอีสาน.JPG