ไม่พบผลการค้นหา
กีฬาเกือบทุกชนิดมีการแยกประเภทตามเพศผู้เข้าแข่งอย่างชัดเจน แต่ปัญหาก็มาถึงเมื่อนักกรีฑาหญิงที่ประสบความสำเร็จดูเหมือนจะมีระดับ ‘เทสโทสเตอโรน’ เป็นชายมากกว่าหญิง

สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ หรือ IAAF ได้ออก ข้อบังคับ ใช้สำหรับการแข่งขันที่เริ่มมีผลมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2017 กำหนดคุณสมบัตินักกรีฑาหญิงในประเภท 400 เมตรไปถึง 1 ไมล์ ต้องมีระดับ ‘เทสโทสเตอโรน’ (testosterone) ในเลือดต่ำกว่า 5 nmol/L โดยให้เหตุว่าเพื่อสร้างความยุติธรรมและให้นักกีฬามีคุณสมบัติตรงกับประเภทการแข่งขันอย่างแท้จริง

เทสโทสเตอโรน คือฮอร์โมนหลักที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายแสดงลักษณะความเป็นเพศชาย ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้มีอยู่กับมนุษย์ทั้ง 2 เพศ หากมีน้อยในผู้ชายจะทำให้ลักษณะความเป็นชายไม่ปรากฏ ในทางตรงกันข้ามหากมีสูงในผู้หญิงจะทำให้แสดงความลักษณะความเป็นชายสูง หรือที่เรียกว่าภาวะ ‘ไฮเปอร์แอนดรอจีนิสซึ่ม’ (Hyperandrogenism) คือมีลักษณะความเป็นชายมากกว่าปกติ ซึ่ง ‘อาจจะ’ ได้เปรียบมากกว่าผู้หญิงด้วยกันในการแข่งขัน

โดยตามข้อบังคับใหม่ของ IAAF ผู้ที่จะเข้าแข่งขันนั้นจะต้องมีเทสโทสเตอโรน ในเลือดต่ำกว่า 5 nmol/L. ต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือนก่อนการแข่งขันเป็นอย่างน้อย ในการร่วมแข่งขันกับผู้หญิงด้วยกัน ไม่อย่างนั้นจะต้องไปแข่งขันกับผู้ชายหรือบุคคลที่มีภาวะ ‘กำกวมทางเพศ’ (intersex)

ข้อบังคับดังกล่าวมาจากกรณีของ Caster Semenya นักวิ่งหญิงชาวแอฟริกาใต้ ที่คว้าแชมป์โลกกรีฑา 800 เมตร ในปี 2009 ด้วยวัยเพียงแต่ 18 ปีเท่านั้น ดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ของเธอ แต่กลับตามมาด้วยข้อครหาเรื่องเพศ จากรูปร่างที่กำยำดูไม่ต่างจากผู้ชายของมากกว่าจะเป็นผู้หญิงของเธอ และเมื่อมีการตรวจร่างกายจึงพบว่าเธอไม่มีมดลูก ทั้งยังมีโครโมโซมออกไปทางเพศชายมากกว่าปกติ จึงตามมาด้วยข้อครหาว่าเธอแปลงเพศมาแข่ง ทำให้เธอถูกแบนจากการแข่งขัน ส่วนเกียรติยศรางวัลต่างๆ ก็ถูกริบไปด้วย

หลังจากการต่อสู้ในหลายประเด็น ในทางแพทย์ได้ยืนยันว่า Semenya เป็นผู้หญิงมาตั้งแต่กำเนิดไม่ได้ทำการแปลงเพศแต่อย่างได้ เพียงแต่อวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงของเธอไม่เติบโตจากภาวะไฮเปอร์แอนดรอจีนิสซึ่ม ซึ่งไม่ใช่การแปลงเพศ เธอจึงสามารถกลับมาลงแข่งขันประเภท 800 เมตรหญิง ในกีฬาโอลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน และได้เหรียญเงินมาครอบครอง

ถึงอย่างนั้น เรื่องร่างกายที่ดูเหมือนจะได้เปรียบผู้หญิงคนอื่นของเธอจึงยังข้อถกเถียงในวงการกีฬาอยู่ ว่าที่สุดแล้วควรจะให้ผู้หญิงที่มีฮอร์โมนความเป็นชายมากเช่นนี้เข้าแข่งขันหรือไม่ ไปจนถึงของถกเกียงทางการแพทย์ว่าไฮเปอร์แอนดรอจีนิสซึ่มสามารถเพิ่มประสิทธิภาพทางกีฬาให้กับผู้หญิงมากแค่ไหน? และในกีฬาประเภทใดบ้าง?

แม้จะถูกครหามากมายจากทั่วโลกแต่ Semenya ยังเป็นขวัญใจของชาวแอฟริกาใต้ ทั้งยังได้รับเลือกเป็นตัวแทนถือธงชาติแอฟริกาใต้ ในพิธีปิดการแข่งขันโอลิมปิก ปี 2016 พร้อมแฮชแท๊กให้กำลังใจในโลกโซเชี่ยล “#handsoffcaster” หรือ “อย่าแตะคาสเตอร์”

เมื่อมีข้อบังคับใหม่ในปัจจุบันของ IAAF จึงเหมือนบังคับให้เธออกจากการแข่งขัน Semenya จึงได้นำเรื่องเข้าสู่ศาลอนุญาโตตุลาการสำหรับกีฬา (Court of Arbitration For Sport) ว่ากฎของ IAAF เป็นการเลือกปฏิบัติและไร้ซึ่งเหตุผล

นักกัฬา.jpg

เรื่องของเธอจึงเป็นมากกว่าเรื่องสมรรถภาพทางกีฬา แต่ยังมีการพูดถึงการละเมิดสิทธิความเป็นผู้หญิง ล่าสุด Human Rights Watch องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติ ได้ส่ง จดหมายเรียกร้อง ให้ทาง IAAF ถอนกฎข้อบังคับเรื่องปริมาณเทสโทสเตอโรนในเลือด เนื่องจากเป็นการละเมิดขั้นพื้นฐานของสิทธิสตรี เพราะเป็นการเป็นเลือกปฏิบัติทางจากเพศสภาพ โดยบอกว่าข้อบังคับนี้ออกมาโดยไม่มีข้อยืนยันทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัด จึงเป็นการกีดกันผู้หญิงที่มีภาวะไฮเปอร์แอนดรอจีนิสซึ่มออกจากการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม

“ผลของมันทำให้ผู้หญิงที่ลักษณะกำกวมทางเพศ ถูกบังคับให้เลือกระหว่างใช้การแทรกแซงทางการแพทย์ที่ไม่จำเป็น เพื่อลดระดับเทสโทสเตอโรน หรือจะต้องหมดโอกาสในการแข่งขันระดับนานาชาติ” ส่วนหนึ่งของจดหมายจาก Human Rights Watch ระบุ

ทั้งนี้มีนักวิทยาศาสตร์ เคยประเมิน ออกมาว่าถ้าลดเทสโทสเตอโรนลงตามข้อบังคับ เธอจะทำเวลาในประเภทกรีฑา 800 เมตร ได้ช้าลง 7 วินาที

“ฉันว่ามันไม่ยุติธรรมที่ฉันถูกบอกต้องเปลี่ยน มันไม่ยุติธรรมที่ผู้คนตั้งคำถามว่าฉันเป็นใคร ฉันเป็น Mokgadi Caster Semenya เป็นผู้หญิงและฉันรวดเร็ว” เธอกล่าวในแถลงการณ์

Smanachan Buddhajak
0Article
0Video
0Blog