ไม่พบผลการค้นหา
ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด ความต้องการในเรื่องสุขภาพ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะสร้างผลกระทบหนักต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น รัฐบาลจำเป็นต้องผลักดันนโยบายสอดรับกับผู้สูงวัยจำนวนกว่า 30 ล้านคน

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบไปแล้ว แต่ปัจจุบันญี่ปุ่นกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ซึ่งหมายถึงสังคมที่มีประชากรผู้สูงวัยมากกว่า 75 ปีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

รายงานของกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น อ้างอิงผลสำรวจครั้งล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไปในญี่ปุ่น มีจำนวน 17.7 ล้านคน และผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 65 -74 ปี มีจำนวน 17.64 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขของผู้สูงอายุที่จะขยับไปสู่ช่วงอายุที่มากกว่า 75 ปีเฉลี่ยในเเต่ละเดือนเพิ่มขึ้น 30,000 คน

ขณะที่ในทางเศรษฐกิจพบว่า ผุ้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นผู้บริโภคหลักในระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่น แต่คนกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจำนวนมาก และอาจจะไม่สามารถดูแลตัวเองได้ สืบเนื่องจากอาการป่วยต่างๆ เช่น ความจำเสื่อม หรือต้องอยู่ในการดูแลของพยาบาลหรือสถานพยาบาล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างหนักไปด้วย เพราะรัฐต้องช่วยเหลือและให้บริการด้านสุขภาพที่ครอบคลุม

รายงานของรัฐบาลญี่ปุ่นประเมินว่าประชากรผู้สูงอายุในเมืองหลวงอย่างโตเกียวจะเพิ่มขึ้น 200,000-300,000 คนทุกๆ 5 ปี และเมื่อปีที่ผ่านมา ทางเทศบาลกรุงโตเกียวสำรวจประเด็นเรื่องสังคมผู้สูงวัย พบว่า ผู้สูงวัยต้องการการดูแลที่เพิ่มมากขึ้น และมีการละทิ้งบ้านเพื่อไปอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น

ฮาจิเมะ ทาคาตะ นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยมิซูโฮ ประเมินว่า ในปี 2578 ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมจะมากกว่า 150 ล้านล้านเยน หรือ 1.42 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และถ้าเงินจำนวนนี้ไม่มีการหมุนเวียน จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ชะลอตัวด้วยเช่นกัน

แต่ทั้งนี้ระบบประกันสังคมของญี่ปุ่นยังคงมีปัญหา เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจที่จะเลื่อนการจ่ายเงินบำนาญให้แก่ผู้สูงอายุล่าช้าจากกำหนดเดิม โดยผู้ที่จะได้รับเงินบำนาญจากทางรัฐบาลนั้นจะต้องมีอายุ 70 ปีขึ้นไป 

"ในหลายกรณีการจ่ายเงินบำนาญแก่ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมจะต้องได้รับการช่วยเหลือ รัฐบาลต้องพิจารณาถึงผลประโยชน์จากการดูแลสุขภาพการพยาบาลและกองทุนบำเหน็จบำนาญ เช่น การลดการจ่ายเงินให้กับผู้ที่อยู่ในสถานพยาบาลของรัฐ เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถหยุดค่าใช้จ่ายประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ " โนริยูกิ ทาคายามะ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยนโยบายบำนาญและผู้สูงวัย มหาลัยเคโอ โคบายาชิ กล่าว

"รัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องหามาตรการในการช่วยเหลือผู้สูงอายุ รวมไปถึงนวัตกรรมต่างๆ เพื่อจัดการปัญหาทางสังคมที่จะเกิดขึ้นตามมา เช่น นโยบายทางการเงิน นโยบายทางการคลัง รวมไปถึงรูปแบบของขั้นตอนการทำงานที่สามารถตอบสนองผู้สูงอายุได้"

ที่มา Asian Nikkei

ข่าวที่เกี่ยวข้อง