ไม่พบผลการค้นหา
พรรคประชาธิปัตย์ย้ำจุดยืนไม่ร่วมวงประชุมระหว่าง คสช. - กกต. ในวันที่ 7 ธ.ค. นี้ มอง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคารพกฎหมาย ไม่ยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล

นายธนา ชีรวินิจ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการนัดประชุมระหว่าง พรรคการเมือง, คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันที่ 7 ธ.ค. นี้ ว่า พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เข้าร่วมประชุม เพราะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ไม่เคารพกฎหมาย แม้กระทั่งกฎหมายที่ คสช. ออกเองโดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 คือ คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ซึ่งเป็นคำสั่งที่แก้ไขเพิ่มเติมการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองและการเปิดรับสมาชิกพรรค 

รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยึดมั่นหลักธรรมาภิบาลตามเคยพูดไว้ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ มี 3 สถานะ และยังเชื่อได้ว่า จะเป็นหนึ่งในรายชื่อนายกรัฐมนตรี ที่ถูกเสนอโดย พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ์ จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงกับการเลือกตั้งครั้งนี้ 

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่เปิดโอกาสให้บุคคลที่มีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งแสดงความคิดเห็น จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่า แม้จะเป็นช่วงเริ่มต้นของกระบวนการเลือกตั้งก็มีปัญหาแล้ว หากเป็นเช่นนี้ก็เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ อาจไม่เป็นที่ยอมรับของคนทุกภาคส่วน ประกอบกับที่ผ่านมาตลอดการยึดอำนาจของ คสช. พล.อ.ประยุทธ์ ได้แสดงท่าทีว่าเป็นเจ้าของการเลือกตั้งแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงอยากขอให้ พลเอกประยุทธ์ เคารพประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ และเป็นเจ้าของอำนาจในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า ผู้ที่จะไม่เข้าร่วมประชุมแสดงว่า เป็นผู้ที่ไม่เคารพกติกานั้น ก็ต้องย้อนถามว่า ที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์ เคารพกติกาและกฎหมายที่ตัวเองเป็นผู้ออกหรือไม่ ขณะเดียวกัน พลเอกประยุทธ์ ยังแสดงให้เห็นหลายอย่างว่า มีส่วนเกี่ยวข้อง และจะทำให้การเลือกตั้งขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ควรเป็นกระบวนการที่รับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมือง แต่การที่ไม่ให้พรรคการเมืองแสดงความคิดเห็น จึงมองว่าหากต้องการเรียกไปเพียงแค่รับฟังจะฟังที่ไหนก็ได้ ดังนั้น เมื่อเข้าร่วมประชุมแล้วไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมประชุม 

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงจุดยืน และสะท้อนความคิดเห็นเรื่องการทำหน้าที่ของ คสช. มาโดยตลอด จึงเชื่อว่ารัฐบาล และ คสช. ทราบดีว่าสิ่งใดเป็นปัญหาในการดำเนินการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ เคารพกติกาและยอมรับการเลือกตั้ง แต่ คสช. ต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่ากระบวนการที่นำไปสู่การเลือกตั้งนั้นมีความชอบธรรม