นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรณีที่มีข้อวิจารณ์มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น กระทรวงพาณิชย์ขอชี้แจงว่ารัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 11.46 ล้านคนทั่วประเทศ โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์จัดหาร้านค้าเข้าร่วมโครงการเป็นร้านค้าธงฟ้าประชารัฐกระจายให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ จำหน่ายสินค้าในราคาต่ำกว่าท้องตลาด เพื่อเป็นการลดค่าครองชีพให้แก่ผู้บริโภคอย่างถาวร การดำเนินการดังกล่าวเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านการจ่ายเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐ นอกจากจะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยตรง ทั้งประชาชนทั่วไป เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ฯลฯ แล้ว ยังเป็นการช่วยให้ร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่กระจายอยู่ตามชุมชนท้องถิ่นสามารถดำเนินธุรกิจ สามารถยืนหยัดอยู่ได้ในภาวะการแข่งขันที่สูงกับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ โดยปัจจุบันมีร้านค้าธงฟ้าประชารัฐกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศประมาณ 50,000 ราย
นอกจากนี้ การที่กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงการคลังนำแอพพลิเคชั่น “ถุงเงิน ประชารัฐ” เพื่อให้ร้านธงฟ้าประชารัฐให้บริการประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการอย่างทั่วถึง ครอบคลุมไปถึงร้านค้ารายย่อย อาทิ แผงจำหน่ายเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ผัก ผลไม้ ทั้งในตลาดสด ตลาดกลาง ตลาดต้องชม ผู้ค้าอาหารสำเร็จรูป ร้านอาหาร ร้านชำที่อยู่ถิ่นชนบท ผู้ค้าสินค้าเกษตรในชุมชน และรถเร่ ทำให้ผู้ผลิตสินค้าภาคเกษตร ผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่นสามารถระบายสินค้าผ่านช่องทางร้านธงฟ้าประชารัฐกว่า 50,000 ร้านค้า โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมมียอดจำหน่ายผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐสูงสุด คือ ข้าวสาร และผลผลิตทางเกษตรอื่น เช่น กะปิ น้ำปลา และอาหารแปรรูป ไม่ใช่เฉพาะร้านค้าที่มาจากบริษัทขนาดใหญ่เพียงด้านเดียว
อธิบดีกรมการค้าภายใน เผยว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตจำนวนมากมีสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพหลากหลาย ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ OTOP วิสาหกิจชุมชนจำนวนมาก ส่งสินค้าจำหน่ายผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐ โดยกว่าร้อยละ 50 เป็นสินค้าที่ผลิตในชุมชนและสินค้าเกษตรในพื้นที่ ส่งผลให้ราคาที่จำหน่ายต่ำกว่าร้านค้าสมัยใหม่ทั่วไป นอกจากนี้ ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐยังเป็นแหล่งกระจายสินค้า/ผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยเกษตรกรสามารถระบายสินค้าจากท้องถิ่นสู่ชุมชนเมือง ซึ่งที่ผ่านมามีร้านค้าธงฟ้าประชารัฐรับซื้อสับปะรด ลำไย มะพร้าว กระเทียม และสินค้าเกษตรอื่น จากทั้งในและนอกพื้นที่มาวางจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง
นายวิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจฐานรากที่ได้รับประโยชน์จากการจ่ายเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประกอบด้วย ประชาชนทั่วไป เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก/โชห่วย แผงจำหน่ายเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ผัก ผลไม้ ทั้งในตลาดสด ตลาดกลาง ตลาดต้องชม ผู้ค้าอาหารสำเร็จรูป ร้านอาหาร ร้านชำที่อยู่ถิ่นชนบท ผู้ค้าสินค้าเกษตร ผลผลิตภายในชุมชน และรถเร่ นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์กับธุรกิจขนาดเล็กในท้องถิ่นอีกด้วย