แนวคิดการส่งมนุษย์ไปสร้างอาณานิคมบนดาวอังคารยังคงอยู่ท่ามกลางสปอร์ตไลท์เสมอ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ‘แอนเจโล เวอร์มิวเลน’ (Angelo Vermeulen) นักวิจัยอวกาศ ผู้หลงใหลในวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และการออกแบบระบบ เดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมงาน ‘Creativities Unfold 2018’ และบรรยายเปิดหัวข้อ ‘Post-Planetary Futures’ และเขาบอกเล่าประสบการณ์การทำงานในฐานะหัวหน้าทีมภารกิจไฮ-ซีส์ (Hi-Seas) ที่องค์การนาซาให้การสนับสนุน ในปี 2013
ภารกิจไฮ-ซีส์ เป็นโครงการสร้างแบบจำลองพื้นผิวดาวอังคารบนภูเขาไฟเมานาโลอา (Mauna Loa) สุดแห้งแล้ง ในรัฐฮาวาย ความสูง 8,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล และส่งมนุษย์กลุ่มเล็กๆ เข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกันภายใต้โดมแคบๆ ปราศจากการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก ขณะเดียวกันเวอร์มิวเลนก็ใช้เวลา 4 เดือนทำการวิจัยทุกรูปแบบที่เกี่ยวกับ ‘อนาคตของระบบอาหารบนสถานีอวกาศ’
“อาหารเป็นสิ่งสำคัญต่อจิตใจของลูกเรือ และมันจำเป็นต้องจัดการด้วยความรอบคอบ” เวอร์มิวเลนกล่าว
ปัจจุบันเมนูอาหาร และเครื่องดื่มบนสถานีอวกาศนานาชาติของนาซามีให้เลือกมากกว่า 200 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาพัฒนาในห้องปฏิบัติการระบบอาหารของศูนย์อวกาศฮุสตัน (Space Center Houston) รัฐเท็กซัส ประมาณ 8-9 เดือนก่อนเปิดตัว
โดยนักบินอวกาศสามารถเข้าร่วมประเมินผลอาหารเช้า อาหารกลางวัน อาหารเย็น และอาหารว่าง เช่น ไข่กวน มักกะโรนี และชีส ทว่าอาหารทุกชนิดมักได้รับการปรับปรุงให้มีคุณค่าทางโภชนาการสูง จำกัดปริมาณแคลอรี ธาตุเหล็ก และโซเดียมอยู่ที่ 10 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อรักษากระดูกให้แข็งแรง
“เวลาทุกคนนึกถึงอาหารของนักบินอวกาศ ส่วนใหญ่ภาพในหัวพวกเขามักจะเป็นบรรจุภัณฑ์แบบซอง หรือแบบหลอด เต็มเปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ ขนาดเล็ก และไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยรับประทานใดๆ ให้ยุ่งยาก ซึ่งมันดูเป็นทางออกอันดีเยี่ยม แต่ความจริงแล้วพวกนักบินอวกาศเกลียดอาหารดังกล่าวมาก” เวอร์มิวเลนเล่าให้ฟัง
นอกจากนั้น เมื่อนักบินอวกาศต้องทานอาหารแบบซองเป็นระยะเวลานานๆ อาจส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ เพราะประเภทอาหาร และรสชาติล้วนมีความสำคัญต่อการเดินทางสำรวจอวกาศอันยาวนาน และนั่นทำให้นาซาพยายามคิดค้นหาวิธีอื่นๆ เพื่อจัดหาอาหารรูปแบบใหม่ๆ ให้นักบินอวกาศอยู่เสมอ
เมื่อราวๆ 4 ปีก่อน องค์การนาซาเสนอวิธีการส่งอาหารสดไปส่งยังสถานีอวกาศนานาชาติ โดยการใช้จรวดไร้คนขับชื่ออันทาเรส (Antares) แต่กลับเกิดระเบิดกลางอากาศหลังจากทะยานออกจากจากฐานปล่อยบนเกาะวอลลอปส์ (Wallops) นอกชายฝั่งรัฐเวอร์จิเนีย และตกลงสู่พื้นจนเกิดเป็นลูกไฟขนาดมหึมา ซึ่งภายในอัดแน่นด้วยอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์หนัก 1,600 ปอนด์ และเสบียงอาหารน้ำหนักกว่า 1,360 ปอนด์
กระทั่งต่อมาองค์การนาซาจินตนาการภาพนักบินอวกาศปลูกพืชแบบไร้ดิน หรือไฮโดรโปนิกส์ ภายในห้องทดลองบนยานสำรวจอวกาศนานาชาติที่เต็มไปด้วยมันฝรั่ง ถั่วเหลือง ข้าวสาลี และถั่ว ซึ่งครั้งหนึ่งเวอร์มิวเลนเคยทดลองปลูกพืชเรือนกระจกในช่วงฤดูหนาวรุนแรงที่สถานีวิจัยทะเลทรายดาวอังคาร (Mars Desert Research Station - MDRS) ห่างจากซอลท์เลคซิตี้ (Salt Lake City) ออกไปทางใต้ประมาณ 4 ชั่วโมง เพื่อค้นคว้าหาอาหารอวกาศรูปแบบต่างๆ
แน่นอนว่า นักบินอวกาศก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง และหากใครเติบโตในประเทศที่รุ่มรวยวัฒนธรรมอาหารมาก่อน การต้องทนอยู่กับอาหารบรรจุหลอดเป็นประจำทุกวันมันคงเป็นอะไรที่น่าเบื่อมากๆ ดังนั้น ทางออกก็หนีไม่พ้นการเปิดโอกาสให้นักบินอวกาศลองทำอาหารท���นเอง
“ในโครงการสำรวจอวกาศไฮ-ซีส์ ได้จำลองสภาพแวดล้อม และลูกเรือทุกคนต้องดำรงชีวิตด้วยวัตถุดิบที่เก็บรักษาไว้ในสภาพอากาศปกติ ทั้งข้าว ธัญพืช และผักอบแห้ง จากนั้นทดลองทานอาหารของนักบินอวกาศ สลับกับเปิดโอกาสให้ลูกเรือทั้ง 6 คนทำอาหารทานเอง ซึ่งเวลาปรุงอาหารสามารถทำอะไรก็ได้ ไม่มีใครสั่ง”
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยที่ต้องการทราบว่า รูปแบบของการทานอาหารจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และมันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้น ทุกๆ ส่วนประกอบต้องชั่ง ต้องถ่ายภาพ ต้องประเมิน จดใส่กระดาษ และหลังจากทานแล้วก็ต้องประเมินอาหารซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
“ครั้งแรกที่ทำภารกิจแบบไม่ต้องจดรายละเอียดอาหารลงกระดาษมันยอดเยี่ยมมาก ลูกเรืออวกาศบางคนสามารถนำวัตถุดิบมาทำอาหารต่างๆ ได้น่าทึ่ง” เวอร์มิวเลนอธิบาย
เวอร์มิวเลนเล่าให้ฟังต่อว่า นอกเหนือจากการศึกษาเรื่องอาหารแล้ว การพัฒนาระบบอาหารแบบใหม่ให้กับนักบินอวกาศก็นับเป็นความท้าทายเช่นกัน และบทเรียนสำคัญจากการปฏิบัติภารกิจตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดาวอังคารตลอด 120 วันคือ อาหารส่งผลกระทบในหลายๆ ระดับ เบื้องต้นเป็นการสร้างพื้นที่เล็กๆ ภายในครัว เพื่อให้ผู้รับผิดชอบปรุงอาหารเกิดการพูดคุย และแบ่งปันประสบการณ์กัน ต่อด้วยการสร้างบรรยากาศให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เพราะหากต้องอาศัยในพื้นที่เล็กๆ ทุกคนจะพยายามหาช่องทางทำให้พื้นที่ทุกตารางนิ้วเกิดประโยชน์สูงสุด
ที่สำคัญคือ การปรุงอาหารในสถานีอวกาศบนดาวอังคารส่งผลทางด้านจิตใจด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาในการศึกษาเรื่องอนาคตอาหารบนอวกาศ เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์เวลาทำอาหารให้คนอื่นทานเบื้องลึกมักรู้สึกภาคภูมิใจ
“ท่ามกลางอวกาศสิ่งที่ทุกคนต้องการคือ อาหารธรรมดาๆ ทำไม่ยาก และลูกเรือบางคนเป็นพ่อครัวที่ประสบความสำเร็จ โดยทุกๆ สัปดาห์เกิดความประหลาดใจที่แตกต่างกันออกไปเสมอ”
ส่วนมื้อที่ประสบความสำเร็จมาก ได้แก่ ซุปบอร์ชสไตล์รัสเซีย (ทำจากผักหลากหลายชนิด) ทาจินสไตล์โมร๊อกโก เอ็นซิลาด้าสไตล์แม็กซิกัน ซุปทะเล และฟาบาดา อัสตูเรียนา (สตูถั่ว) โดยผักอบแห้งนานาชนิด และเนื้อแช่แข็งเป็นสิ่งที่ทำให้เวอร์มิวเลนประหลาดใจมาก เพราะมันเป็นของดีจริง กลมกล่อม แทบไม่มีกลิ่นใดๆ และช่วยให้รู้สึกสดชื่นเหมือนวัตถุดิบสดๆ ทำให้ทีมวิจัยเลือกนำมาใช้เป็นประจำทุกวัน ซึ่งข้อดีของการใช้อาหารสำเร็จรูปคือ นักบินอวกาศบนดาวอังคารใช้เวลาเตรียมอาหารน้อยลง และเครียดน้อยลง
อีกประเด็นหนึ่งที่นักวิจัยอวกาศต้องการเน้นย้ำคือ ‘ความหลากหลาย’ โดยทีมงานที่ทำภารกิจประกอบด้วยผู้ชาย 3 คน ผู้หญิง 3 คน และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประกอบด้วยคนเปอร์โตริโก อเมริกัน แอฟริกัน รัสเซีย แคนนาดา และยุโรป ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทำให้บทสนทนาน่าสนใจ
“ภูมิหลังทางอาชีพของพวกเราก็แตกต่างกัน ดังนั้น เวลามีปัญหาพวกเราจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหา และมุมมองที่แตกต่างกันออกไป”
ถัดมาเป็นเรื่องของอำนาจการตัดสินใจ เพราะการส่งนักบินอวกาศไปดาวอังคารต้องใช้เวลา 2 ปีครึ่ง และนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติจะถูกติดตาม และต้องปฏิบัติตามคำสั่งตลอดเวลา เพื่อให้ทำการทดลองบรรลุตามเป้าหมาย
“เพื่อนผมก็เป็นนักวิจัยอวกาศ เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาอวกาศ และเขาเอาข้อมูลมาให้ผมดูว่า นักบินอวกาศที่ขึ้นไปปฏิบัติงานบนสถานีอวกาศนานาชาติต้องเจอกับคำสั่งประเภทไหนบ้าง แค่การเสียบแท่งยูเอสบีเข้ากับแล็ปท็อปก็มีคำสั่งยาวประมาณครึ่งหน้ากระดาษทีเดียว”
แน่นอนว่า การขึ้นไปอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติมันไม่มีการติดต่อกันอบบเรียวไทม์ทันทีทันควัน ดังนั้น ความไว้วางใจให้นักบินอวกาศตัดสินใจเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่มีใครสามารถควบคุมการตัดสินใจของพวกเขาทุกวินาทีชีวิตได้
“การอนุญาตให้นักบินอวกาศปรุงอาหารเป็นการมอบอิสระให้กับพวกเขา ซึ่งประเด็นอิสรภาพเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคตการสำรวจอวกาศ”
สุดท้ายเรื่องการสื่อสารเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และในฐานะหัวหน้าทีมเวอร์มิวเลนต้องทำให้ทุกคนสามารถทำงานร่วมกัน สร้างสรรค์ผลงานออกมา ขณะเดียวกันก็มีความสุขด้วย
“แนวทางของผมก็คือ ต้องพยายามทำให้ทุกคนสื่อสารกันตลอด เพราะฝันร้ายที่อยู่ในหัวผมคือ ถ้าสมมุติอยู่ในสถานีอวกาศที่ขั่วโลก แล้วนักวิจัยมีมุมทำงานของตัวเอง ไม่มาพูดคุยกันเลย คือผมไม่ต้องการแบบนั้น ผมต้องการให้ทุกคนทานอาหารร่วมกัน คุยกัน และเวลาเกิดปัญหาสามารถรับรู้ว่าจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร เพราะถ้าไม่เคยคุยกันเลย มันยากมากที่จะให้คนกลุ่มนั้นมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน” เวอร์มิวเลนกล่าวทิ้งท้าย