ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงาน กสทช. จัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz ที่จะใช้ในการประมูลคลื่นความถี่ฯ ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (18 ธ.ค. 2560) สำนักงาน กสทช. จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ 4 ฉบับ ได้แก่

1.ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 890-895 MHz/935-940 MHz

2.ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785 MHz/1835-1880 MHz

3.ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT) ย่านความถี่ 824-839/869-884 MHz

4.ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการเคลื่อนที่ ย่านความถี่ 885-895/930-940 MHz ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่จะใช้ในการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz ที่จะสิ้นสุดสัมปทาน 

โดยประเด็นสำคัญที่จะรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความย่าน 900 MHz และ 1800 MHz ในวันนี้ ประกอบไปด้วย 1.ขนาดของคลื่นความถี่ที่จะให้อนุญาต 2.วิธีการอนุญาต 3.ราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ (Reserve Price) 4.กระบวนการอนุญาต 5.สิทธิ หน้าที่ และเงื่อนไขใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 6.มาตรการจำกัดพฤติกรร��สมยอมในการเสนอราคาประมูล และ 7.ประเด็นอื่นๆ ซึ่งหลังจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันนี้ ผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปยังสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมายังสำนักงาน กสทช. ได้อีกจนถึงวันที่ 29 ธ.ค. 2560 ใน 3 ช่องทาง ได้แก่ 1. ทาง e-mail: [email protected] 2. ทางโทรสารที่หมายเลข 0 2278 5316 และ 3. นำส่งด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนมายัง สำนักงาน กสทช. (สำนักวิชาการและจัดการทรัพยากรโทรคมนาคม) เลขที่ 87 ถนนพหลโยธิน ซอย 8 (สายลม) แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 

ขั้นตอนหลังจากนั้น สำนักงาน กสทช. จะสรุปความคิดเห็นที่ได้รับ นำเสนอที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาเห็นชอบ และตามแผนคาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ได้ในเดือน ม.ค. 2561 หลังจากนั้นจะเปิดให้มีการประมูลได้ในเดือน พ.ค. 2561 ซึ่งคาดว่าจะออกใบอนุญาตได้ในเดือน มิ.ย. 2561 ก่อนที่สัญญาสัมปทานจะหมดอายุ 

นายฐากร กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวที่สำนักงาน กสทช. นำมารับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันนี้ ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz กำหนดให้มีการประมูล 1 ชุดคลื่นความถี่ ( 1 ใบอนุญาต) ขนาดคลื่นความถี่ 5 MHz มีอายุใบอนุญาต 15 ปี โดยราคาขั้นต่ำของการประมูลครั้งนี้อยู่ที่ 37,988 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่กำหนดตามมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 31/2558 ที่กำหนดให้นำราคาสุดท้ายของการประมูลคลื่น 900 MHz ในปี 2558 มาคำนวณเป็นพื้นฐานที่เป็นอัตราส่วนเดียวกัน ในส่วนของการเคาะราคาจะเพิ่มขึ้นรอบละ 0.2% ของราคาขั้นต่ำ คิดเป็น 76 ล้านบาท 

กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลมากกว่า 1 ราย ก็จะเปิดให้มีการประมูล กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพียง 1 ราย จะขยายเวลาเปิดรับผู้เข้าร่วมการประมูลไปอีก 30 วัน ถ้ายังไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพิ่ม ให้เปิดการประมูล โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องเคาะเพิ่มราคา 1 ครั้ง 

การชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จะแบ่งการชำระออกเป็น 4 งวด ดังนี้ 

- งวดที่ 1 ชำระ 4,020 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล 

- งวดที่ 2 ชำระ 2,010 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต 

- งวดที่ 3 ชำระ 2,010 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต 

- งวดที่ 4 ชำระเงินค่าประมูลส่วนที่เหลือทั้งหมด ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต 

ทั้งนี้ สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz กสทช. ได้กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต โดยกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาต ต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมประชากรมากกว่า 50% ภายใน 4 ปี และต้องครอบคลุมประชากรมากกว่า 80% ภายใน 8 ปี และต้องมีการจัดเก็บข้อมูลและลงทะเบียนผู้ใช้บริการ รวมถึงดูแลคุณภาพสัญญาณให้ได้มาตรฐานตามที่ กสทช. กำหนด 

กรณีผู้ชนะการประมูลไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขก่อนรับอนุญาต สำนักงาน กสทช. จะริบหลักประกันการประมูล ซึ่งคิดเป็นเงิน 5% ของราคาขั้นต่ำ พร้อมทั้งคิดค่าปรับในอัตรา 15% ของราคาขั้นต่ำ 

นาย ฐากร กล่าวว่า ในส่วนของการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz หลักเกณฑ์กำหนดให้มีการประมูลคลื่นความถี่จำนวน 45 MHz โดยแบ่งเป็น 3 ชุดคลื่นความถี่ (3 ใบอนุญาต) ขนาดคลื่นความถี่ชุดละ15 MHz มีอายุใบอนุญาต 15 ปี โดยราคาขั้นต่ำของการประมูลครั้งนี้อยู่ที่ 37,457 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่กำหนดตามมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 31/2558 ที่กำหนดให้นำราคาสุดท้ายของการประมูลคลื่น 1800 MHz ในปี 2558 มาคำนวณเป็นพื้นฐานที่เป็นอัตราส่วนเดียวกัน รวมถึงการนำหลักการคิดมูลค่าเงินตามเวลาจริง (Time Value of Money) มาใช้เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาใบอนุญาตที่ปรับลดลงจาก 18 ปีเหลือ 15 ปี มาใช้ในการคำนวณราคาขั้นต่ำด้วย ในส่วนของการเคาะราคาจะเพิ่มขึ้นรอบละ 0.2% ของราคาขั้นต่ำ คิดเป็น 75 ล้านบาท 

กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลมากกว่า 3 ราย จะประมูล 3 ชุดคลื่นความถี่ กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูล 2-3 ราย จะนำคลื่นความถี่ออกมาประมูลเท่ากับ N-1 ชุด โดย N=ผู้เข้าร่วมการประมูล นั่นคือถ้ามีผู้เข้าร่วมการประมูล 3 ราย จะนำคลื่นความถี่ออกมาประมูล 2 ชุด และถ้ามีผู้เข้าร่วมการประมูล 2 ราย จะนำคลื่นความถี่ออกมาประมูล 1 ชุด ในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพียง 1 ราย จะขยายเวลาเปิดรับผู้เข้าร่วมการประมูลไปอีก 30 วัน ถ้ายังไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพิ่ม ให้เปิดการประมูล โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องเคาะเพิ่มราคา 1 ครั้ง 

สำหรับการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จะแบ่งการชำระออกเป็น 3 งวด ดังนี้ 

- งวดที่ 1 ชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่จำนวน 50% ของราคาการประมูลสูงสุดของผู้ชนะการประมูลแต่ละราย พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล 

- งวดที่ 2 ชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่จำนวน 25% ของราคาการประมูลสูงสุดของผู้ชนะการประมูลแต่ละราย พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต 

- งวดที่ 3 ชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่จำนวน 25% ของราคาการประมูลสูงสุดของผู้ชนะการประมูลแต่ละราย ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต 

สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz กสทช. ได้กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต โดยกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาต ต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมประชากรมากกว่า 40% ภายใน 4 ปี และต้องครอบคลุมประชากรมากกว่า 50% ภายใน 8 ปี ในส่วนของอัตราค่าบริการ 4G จะต้องมีอัตราค่าบริการถูกกว่าอัตราค่าบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนั้นผู้รับใบอนุญาตจะต้องจัดให้มีแพ็คเกจราคาประหยัดสำหรับผู้พิการ และจัดทำแผนความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) โดยให้ครอบคลุมถึงการจัดการขยะอิเล็คทรอนิกส์ สุขภาพของผู้ใช้บริการ 

กรณีผู้ชนะการประมูลไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขก่อนรับอนุญาต สำนักงาน กสทช. จะริบหลักประกันการประมูล ซึ่งคิดเป็นเงิน 5% ของราคาขั้นต่ำ พร้อมทั้งคิดค่าปรับในอัตรา 15% ของราคาขั้นต่ำ