นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สถานการณ์คนว่างงานยังอยู่ในภาวะปกติ แม้จะเพิ่มขึ้นแต่ไม่มากนัก โดยปีนี้ (2560 )มีอัตราว่างงาน 1 % จากปีที่แล้ว(2559 )มีอัตราว่างงาน 0.8 % แต่ถือว่าไม่ผิดปกติเพราะไม่เกิน 3 %
ส่วนการจ้างงานที่มีแนวโน้มว่าผู้ประกอบการจะพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นนั้น นายอนุรักษ์ ยอมรับว่าทุกอุตสาหกรรมปัจจุบันไปในแนวทางการใช้เทคโลยีมากขึ้น แต่ก็เชื่อว่ายังไม่สามารถพึ่งพาเทคโลยีทดแทนคนได้ถึง 100 % จึงยังมีความต้องการแรงงานมนุษย์อยู่ส่วนอุตสาหกรรมก่อสร้างแรงงานฝีมือ เช่นช่างไม้ ช่างปูน ยังมีความต้องการในตลาดแรงงานและในแรงงานระดับล่างแบบไร้ฝีมือก็ยังคงขาดแคลนค่อนข้างมากเช่นกัน
อย่างไรก็ตามในส่วนอุตสาหกรรมก่อสร้าง นายจักรพร อุ่นจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีสัญญาณการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ลดลงต่อเนื่องทุกเดือนตั้งแต่ต้นปีมาโดยล่าสุดในเดือนต.ค.2560 การจ้างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 2.1 ล้านคนเทียบกับต.ค. 2559 การจ้างงานอยู่ที่ 2.21 ล้านคนลดลงประมาณ 1 แสนคนหรือราว 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
อัตราการจ้างงานที่ลดลงสวนทางกับมูลค่าการลงทุนที่ปีนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหรือใกล้เคียงปี 2559 ที่มีมูลค่าการลงทุน 1.225 ล้านล้านบาท เนื่องจากผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างมีการปรับตัวใช้เทคโนโลยีมากขึ้น
ทั้งนี้อุตสาหกรรมก่อสร้างเริ่มปรับตัวมา 2-3 ปีแล้วจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานซึ่งจะเห็นว่ามีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆที่จะลดคนโดยจะเห็นว่าการก่อสร้างคอนโดมิเนียมปัจจุบันที่มีการใช้วัสดุที่สำเร็จรูปนำมาประกอบมากขึ้นซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ลดคนได้ค่อนข้างมาก เช่นการสร้างโรงแรมที่สิงคโปร์ยังมีการสร้างที่จีนแล้วยกมาประกอบใช้เวลาแค่ 2 เดือน เท่านั้น
สำหรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างปี 2561 แนวโน้มน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนในภาคเอกชนซึ่งเริ่มมีสัญญาณที่จะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ โดยพบว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 ที่การลงทุนเป็นบวก 3.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากปกติเฉลี่ย 2 ปีที่ผ่านมาการลงทุนเอกชนในภาคก่อสร้างติดลบมาโดยตลอดและตรงกันข้ามการลงทุนของภาครัฐเริ่มติดลบ 5.19% จากที่เติบโตมาต่อเนื่อง ถือเป็นการปรับฐานมาสู่ภาวะปกติที่เฉลี่ยการลงทุนรัฐและเอกชนจะมีสัดสวน 50 ต่อ 50 แต่ช่วง 2 ปีการลงทุนภาครัฐจะนำมากกว่าเอกชน
การลงทุนอุตสาหกรรมก่อสร้างในส่วนของอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่บางฝ่ายมองว่าอาจล้นตลาดและอาจนำไปสู่ปัญหาฟองสบู่ได้นั้น สถาบันฯกำลังติดตามใกล้ชิดแต่ยังไม่มีปัจจัยใดที่จะชี้ให้เห็นสัญญาณดังกล่าวในขณะนี้เนื่องจากตลาดคอนโดมิเนียมที่เกิดขึ้นตามแนวรถไฟฟ้าแม้จะมีปริมาณมากแต่ก็พบว่าตลาดสต่างประเทศเช่น ฮ่องกง ไต้หวัน ยังสามารถขายได้ ไม่ได้พึ่งพิงตลาดคนไทยเช่นอดีตที่ผ่านมา