ไม่พบผลการค้นหา
การเชียร์กีฬาทำให้เรารู้สึกร่วมไปกับความสำเร็จของทีม และเกิดความรู้สึกผูกพันกับทั้งทีม และบรรดาแฟนๆ ที่เชียร์ทีมเดียวกัน เติมเต็มความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับกลุ่ม ซึ่งเป็นความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์

นัดแล้วนัดเล่าเฝ้าถ่างตาดู ยิ่งเอเชียนคัพไทยติด 16 ทีมยิ่งต้องเชียร์คนไทยด้วยกัน เพราะศักดิ์ศรีมันค้ำคอ แต่ความอินจัดจนรู้สึกเหมือนลงไปเตะเองนี้มาจากไหนกัน? ผู้เชี่ยวชาญมีคำตอบ

เอ็ดเวิร์ด เฮิร์ต (Edward Hirt) นักจิตวิทยาสังคมจากมหาวิทยาลัยอินเดียนา (Indiana University) กล่าวว่า การรู้สึกร่วมยินดีไปกับชัยชนะของทีมที่เชียร์ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันการภูมิใจกับความสำเร็จของลูก หรือการอวดถึงดาราคนดังที่มาจากเมืองหรือโรงเรียนเดียวกัน

“เรามีความเชื่อมโยงบางอย่างกับคนเหล่านั้น และเมื่อเราชี้ถึงความเชื่อมโยงนั้น เราก็รับเอาความภาคภูมิใจของพวกเขามาแบบอ้อมๆ ด้วย”

ดร.เฮิร์ต ทำแบบสำรวจกับแฟนๆ ของทีมบาสเกตบอลมหาวิทยาลัยอินเดียนา โดยแจกรูปคนที่ดูน่าดึงดูดใจให้ดู แล้วประเมินว่ามีโอกาสมากแค่ไหนที่จะชวนคนๆ นั้นออกเดทสำเร็จ

ผลปรากฏว่า หากสำรวจหลังจากทีมที่เชียร์เพิ่งชนะ พวกเขาจะมีความมั่นใจมากว่าจะชวนออกเดทสำเร็จ รวมถึงประเมินว่าทักษะอื่นๆ ของตัวเองอย่างการปาเป้า หรือการเล่นเกมเชาว์สมองอยู่ในเกณฑ์ดีด้วย แต่หากสำรวจหลังทีมแพ้ ความมั่นใจเหล่านั้นกลับหายวับไป

นอกจากนี้ การเชียร์ยังส่งผลต่อร่างกายของเราโดยตรงด้วย ในการทดลองหนึ่ง เจมส์ แดบส์ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยจอร์เจียสเตท (Georgia State University) ได้เก็บตัวอย่างน้ำลายจากชาวอิตาลี และชาวบราซิลอย่างละ 21 คน ในรัฐแอนแลนตา ก่อนและหลังบราซิลเอาชนะอิตาลีในฟุตบอลโลกปี 1994 พบว่า ระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนของชาวบราซิลสูงขึ้นกว่าเดิม 28 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ของชาวอิตาลีตกลง 27 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม การเชียร์กีฬาไม่ได้มีแต่ชัยชนะ และความภาคภูมิ หากเราแบ่งคนเชียร์กีฬาออกเป็นแฟนที่เชียร์เฉพาะช่วงขาขึ้นของทีมกับแฟนพันธุ์แท้ คำอธิบายของดร.เฮิร์ตก็คงอธิบายได้เฉพาะกลุ่มแฟนขาขึ้นที่อาจจะหยุดเชียร์เมื่อทีมฟอร์มตก ขณะที่แฟนพันธุ์แท้อาจยังติดตามและเจ็บไปกับทีม

อัลเลน อาร์. แม็คคอนเนลล์ (Allen R. McConnell) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยไมอามี (Miami University) อธิบายว่าความผูกพันระหว่างคอกีฬากับทีมโปรดนั้นมาจากความต้องการที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับกลุ่มไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ

“มนุษย์เรามีความปรารถนาอย่าแรงกล้าที่จะรู้สึกผูกพัน เป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า ให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นมากกว่าปัจเจกคนหนึ่งที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว”

มากไปกว่านั้น แดเนียล วานน์ (Daniel Wann) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเมอร์เรย์สเตท (Murray State University) อธิบายอีกว่า ความรู้สึกผูกพันเป็นหนึ่งเดียวนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับทีมเท่านั้น ทว่าเกิดขึ้นกับกลุ่มแฟนๆ กันเองด้วย

การพบคนที่ใส่เสื้อทีมเดียวกับเราก็สามารถทำให้รู้สึกถึงความเชื่อมโยงกันได้ทันที อีกทั้งการชมกีฬาเป็นวิธีปฏิสัมพันธ์อย่างง่าย และโดยส่วนใหญ่ผู้ชมก็มักจะดูกีฬาร่วมกันกับเพื่อนหรือคนอื่นๆ

ลิเบอร์ตี เอตัน (Liberty Eaton) อาจารย์จิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ (University of Cape Town) ยกทฤษฎีอัตลักษณ์ทางสังคมอธิบายว่า เมื่อเราค้นพบกลุ่มที่เป็นของเรา เราจะพยายามทำให้กลุ่มๆ นั้นดูดีขึ้น เพื่อเพิ่มความภาคภูมิใจของตัวเอง เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะแพ้แต่แฟนๆ ก็มักจะหาข้อดีมาเทียบกับทีมคู่ปรับได้เสมอ เช่น อาจจะไม่ได้ทำประตูได้เยอะสุด แต่เล่นสนุกกว่า หรือมีสปิริตมากกว่า

สำหรับการแก้ต่างลักษณะนี้ โรเบิร์ต เจ. ฟิสเชอร์ (Robert J. Fisher) ศาสตราจารย์ด้านการตลาด มหาวิทยาลัยเวิสเทิร์นออนทาริโอ (The University of Western Ontario) และทีมงานได้ศึกษาว่า แฟนของทีมชนะกับทีมแพ้จะอธิบายความชอบของตัวเองต่างกันอย่างไร?

จากผลสำรวจแฟนกีฬาฮ็อคกี้พบว่า สำหรับทีมชนะ หรือทำผลงานได้ดีจะอธิบายว่า ฟอร์มของทีมเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขานิยามตัวเองเป็นส่วนหนึ่งกับทีม แต่สำหรับกลุ่มแฟนที่เชียร์ทีมแพ้ตลอด ความเชื่อมโยงไม่ได้เป็นไปในลักษณะนั้น แต่กลับหันไปให้ความสนใจแง่มุมอื่นๆ ของทีม เช่น การบอกว่าตัวเองชอบผู้เล่นคนไหนเป็นรายคนแทน

อ้างอิง:

On Being
198Article
0Video
0Blog