ไม่พบผลการค้นหา
'พาณิชย์' ผลักดัน ประกันราคาสินค้าเกษตร สนับสนุนส่งออก ควบคุมราคาสินค้าและบริการ และเริ่มเจรจาการค้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้การกำกับดูแลของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันพร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ชู 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตร การส่งออก ราคาสินค้าภายในประเทศ และเปิดเสรีการค้า

โดยในเช้าวันนี้ (18 ก.ค.) ในพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงฯ นายจุรินทร์ ย้ำถึงความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ และจะทำงานในกระทรวงให้ดีที่สุดเพื่อไปเสริมประสิทธิภาพในการเดินหน้าของประเทศร่วมกับกระทรวงอื่นๆ


"ผมก็คงทำงานสม่ำเสมอ คงไม่มีวันหยุดครับ ตั้งใจไว้แบบนั้น" นายจุรินทร์ กล่าว

เกษตรกรอยู่ไม่ดีประเทศอยู่ไม่ได้

นายจุรินทร์ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาราคาสินค้าเกษตร และพร้อมใช้มาตรการประกันรายได้กับสินค้าดังต่อไปนี้ ได้แก่ ข้าว มัน ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และข้าวโพด โดยจะเริ่มดำเนินการให้เร็วที่สุดหลังมีการยื่นเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี

โดยจะมีการหารือระหว่าง 3 ฝ่าย ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และ เกษตรกร หรือผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อกำหนดนโยบาย โดยจะเริ่มต้นทันทีหลังมีการมอบนโยบาย ซึ่งต้องรอแถลงต่อหน้ารัฐสภาก่อน


"จะไม่ตัดสินใจอะไรโดยลำพัง หรือเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง" นายจุรินทร์ กล่าว


ส่งออกต้องได้ไปต่อ

การส่งออกเป็นปัจจัยหลักที่กระทบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ มีผลต่อตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี เสมอ 

สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันที่หลายองค์กรออกมาปรับลดค่าประมาณการการส่งออกจนเป็นลบ นายจุรินทร์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ทราบตั้งแต่ก่อนเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีฯ แล้ว และก็เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไข 

อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ปฏิเสธที่จะพูดถึงวิธีหรือนโยบายที่จะใช้ในการแก้ปัญหา รวมทั้งตัวเลขคาดการณ์การส่งออกในปีนี้จากกระทรวงฯ พร้อมบอกว่าขอเวลาในการเข้าไปคุยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงก่อน

ควบคุมราคาเพื่อประชาชน

ในมิติของประชาชนส่วนใหญ่ กระทรวงพาณิชย์ฯ ตั้งใจที่จะเข้ามาควบคุมราคาสินค้าและบริการไม่ให้สูงเกินไป เพื่อไม่ให้กระทบกับ "คนไทยทั้งประเทศ"

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีการพูดถึงนโยบายอย่างชัดเจน และไม่ได้พูดถึงค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จากทั้งค่าโดยสารสาธารณะที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งค่าน้ำมันสำหรับผู้ที่ใช้รถยนต์โดยสารส่วนบุคคล

นโยบายค้างท่อ

การเดินหน้าพูดคุยเรื่องนโยบายการค้ากับต่างประเทศ เป็นนโยบายเร่งด่วนลำดับสุดท้ายที่นายจุรินทร์หยิบขึ้นมา ทั้งการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป) ระหว่างอาเซียน กับ 6 ประเทศคู่เจรจา คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ 

"กับอียู ยังไม่ได้นับหนึ่ง เพราะสถานการณ์ทางการเมืองไม่ปกติ" นายจุรินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ยังให้ความมั่นใจถึงการเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ที่ยังไม่สามารถเริ่มต้นได้จากสถานการณ์การเมืองในอดีต ว่าปัจจุบัน ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว การเริ่มต้นเจรจา จึงเป็นไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :