ไม่พบผลการค้นหา
“หนักแผ่นดิน” สั้นๆ นิ่มๆ จาก ‘บิ๊กแดง-พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์’ ผบ.ทบ. ที่สะเทือนไปถ้วนหน้า โดยเฉพาะพรรคขั้วต้าน คสช. ที่เสนอนโยบายลดงบกองทัพและยกเลิกเกณฑ์ทหาร นำโดยพรรคอนาคตใหม่ แต่มาเป็นกระแสหลังพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคใหญ่จับกระแสนี้มาหาเสียง นำโดย ‘หญิงหน่อย-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์’ แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ที่กลับมาคืนฟอร์มอีกครั้ง

หลังผ่านเหตุการณ์ ‘บิ๊กเซอร์ไพรส์’ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยได้หาเสียงตัดงบกระทรวงกลาโหม 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ ราว 20,000 ล้านบาท และยกเลิกระบบเกณฑ์ทหารมาเป็นระบบสมัครใจแทนพร้อมนำงบจากการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ 10 เปอร์เซ็นต์ มาดูแลสวัสดิการกำลังพลแทน

แต่ดูจากคำตอบของ พล.อ.อภิรัชต์ จะเห็นว่าเป็นคำตอบที่เตรียมมาแล้ว หลังสื่อถามถึงการดูแลสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนี้ ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ถามสื่อกลับว่าว่ารู้ไหมเพลงอะไรกำลังฮิตตอนนี้ คือ เพลงหนักแผ่นดิน เมื่อถามถึงนโยบาย

พรรคการเมืองถึงกองทัพทั้ง 2 อย่างนั้น พล.อ.อภิรัชต์ ยังคงยืนยันในคำตอบเดิมให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน จนกลายเป็นวาทะเดือดในโซเชียลฯ และขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ หากย้อนไปในอดีตเพลงหนักแผ่นดินที่ใช้ปลุกใจฝ่ายขวาในการต่อสู้กับนักศึกษา จนนำมาสู่เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 นั่นเอง

หากดูเหตุการณ์ทางการเมืองจะเห็นว่าไม่ได้ต่างจากในอดีตเมื่อ 28 ปีที่แล้วมากนัก รอยร้าวระหว่างรัฐบาล ‘น้าชาติ-พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ’ กับกองทัพเริ่มมีมากขึ้น ช่วงปี 2533

โดยมีจุดเริ่มต้นมาจาก ‘บิ๊กจิ๋ว- พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ’ ได้ลาออกจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. – ผบ.ทหารสูงสุด 

จากนั้น ‘บิ๊กจ๊อด-พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์’ เพื่อน จปร.1 ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุด และ ‘บิ๊กสุ-พล.อ.สุจินดา คราประยูร’ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. 

แม้ ‘น้าชาติ’ จะแก้ปัญหาให้ พล.อ.ชวลิต มาเป็น รองนายกฯ และรมว.กลาโหม แทนก็ตาม แต่ก็ไม่จบ

เพราะ พล.อ.ชวลิต ได้วิจารณ์รัฐบาลว่ามีการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะ อสมท. ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ดูแลอยู่ ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม ออกมาตอบโต้ว่า “ทหารควรกวาดบ้านตัวเองก่อน” ทำให้รอยร้าวกองทัพกับรัฐบาลมีมากขึ้น ซึ่งต่อมา พล.อ.ชวลิต ได้ลาออกจาก ครม. เพื่อมาลงการเมืองในนามพรรคความหวังใหม่

สถานการณ์สุกงอมมากขึ้น หลัง พล.อ.สุนทร ได้กล่าวว่า “ทหารเสื่อมศรัทธาในรัฐบาล” แม้ พล.อ.ชาติชาย จะพยายามสมานรอยร้าวแต่ก็ไม่เป็นผล มาพร้อมกระแสข่าวลือรัฐประหารอยู่ตลอด จนนำมาสู่การรัฐประหาร 23 ก.พ. 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พล.อ.สุนทร โดยก่อนรัฐประหารไม่นานก็มีกระแสข่าวลือว่า ‘น้าชาติ’ จะปลด พล.อ.สุนทร กับ พล.อ.สุจินดา ออกจากตำแหน่งด้วย ซึ่งคล้ายกับกรณีมีราชกิจจานุเบกษาปลอม อ้างคำสั่งหัวหน้าคสช. ผ่าน มาตรา 44 ปลด 3 ผบ.เหล่าทัพ ก่อนหน้านี้ โดย ‘บิ๊กป้อม- พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ก็กำชับอย่างมากให้หาผู้ทำราชกิจจาฯ ปลอมนี้ให้ได้

ก่อนหน้านั้น พล.อ.สุจินดา เคยกล่าววาทะ “ระวังไม่มีแผ่นดินจะอยู่” ออกมาด้วย ซึ่งหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 23 ก.พ. 2534 ทำให้รัฐมนตรีต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ หนึ่งในนั้นคือ ร.ต.อ.เฉลิม แต่สุดท้ายก็ได้กลับไทยอีกครั้งหลังประสาน ผ่าน พล.อ.สุนทร 

ประยุทธ์ อภิรัชต์

หากย้อนกลับไปปี 2560 สมัย พล.อ.อภิรัชต์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ได้เรียก ‘วัน อยู่บำรุง’ ลูกชาย ร.ต.อ.เฉลิม มาพูดคุย หลังโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ คสช. ถึงขั้นให้ ‘บิ๊กทหาร’ ไปตาย เพราะทำบ้านเมืองล้าหลัง แต่ได้ลบโพสต์ไป และได้โพสต์ขอโทษ พร้อมนำพวงมาลัยมาขอขมา พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำเนียบฯ ผ่านศูนย์บริการประชาชนฯ และเปิดเผยว่าได้พบ ‘บิ๊กแดง’ แล้ว

ในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกับอดีตกลับมาอีกครั้ง วันเวลาที่ปี่กลองการเลือกตั้งดังขึ้น ร.ต.อ.เฉลิม ที่เก็บตัวเงียบมานานก็ได้ออกมาโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ ว่าถ้าพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ จะรู้นรกมีจริง เพราะได้รัฐบาลเสียงข้างน้อย ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์เปลี่ยนใจ

รวมทั้งกรณีที่ ‘หญิงหน่อย’ ได้ออกมาเสนอนโยบาย ‘ผ่าตัดกองทัพ’ เช่นนี้ 

ซึ่งที่ผ่านมา ‘หญิงหน่อย’ ก็วางบทบาทประนีประนอมมาตลอด หากย้อนไปในอดีตก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘หญิงหน่อย’ ก็รู้จักกับ ‘บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร’ สมัยที่ ‘บิ๊กป้อม’เป็น ผบ.ทบ. โดยมีสะพานเชื่อมสัมพันธ์มาจาก ‘บิ๊กเหวียง-พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร’ นายทหารสายวงศ์เทวัญ-บูรพาพยัคฆ์ ที่ขึ้นเป็น รมว.กลาโหม สมัยรัฐบาลทักษิณ1 ปี2557 

ซึ่ง พล.อ.เชษฐา เป็นอีกแรงผลักดันให้ พล.อ.ประวิตร ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ด้วย และให้ ‘บิ๊กกี่-พล.อ.นพดล อินทปัญญา’ เพื่อนตท.6 ของพล.อ.ประวิตร มาเป็น หัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำ รมว.กลาโหม โดยในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พล.อ.นพดล ก็เป็น เลขานุการ พล.อ.ประวิตร ขณะเป็น รมว.กลาโหม สมัยนั้นด้วย

สุดารัตน์ปราศรัย พรรคเพือไทย

ช่วงที่ พล.อ.ประวิตร เป็น ผบ.ทบ. และ พล.อ.นพดล เป็น หัวหน้าฝ่ายเสธ.ประจำ รมว.กลาโหม เป็นจุดเริ่มสร้างคอนเนคชันทางการเมือง เช่น ‘พรรคไทยรักไทย’ ที่มี ‘อรทัย ฐานะจาโร’ ลูกสะใภ้ พล.อ.เชษฐา แกนนำพรรคไทยรักไทย สายเดียวกับ ‘หญิงหน่อย’ คุมพื้นที่กรุงเทพฯ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘หญิงหน่อย’ ก็รู้จัก พล.อ.ประวิตร เช่นกัน 

แม้ในระยะหลังๆ มีรายงานว่าทั้งคู่ไม่ได้ติดต่อกันแล้วก็ตาม แต่ในการพูดคุยสร้างความปรองดอง ของ คสช. พรรคเพื่อไทยก็ได้ส่ง ‘หญิงหน่อย’ ไปเป็นตัวแทนพูดคุยที่ กระทรวงกลาโหมด้วย ในช่วงต้นปี 2560

การดับเครื่องชนของ ‘หญิงหน่อย’ กับ ‘กองทัพ’ ที่เกิดขึ้นจึงต้องดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร หากอ่านคำแถลงของ ‘หญิงหน่อย’ ต่อ พล.อ.อภิรัชต์ ก็ห่วงสถานะของ ผบ.ทบ. ที่ต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง และ ‘ไม่ได้สุดโต่ง’ ในนโยบายกองทัพ หากเทียบกับพรรคอื่นๆ ที่ได้เสนอ 

แต่อย่าลืมว่า ‘หญิงหน่อย’ ก็มีบทบาทนำในสมัยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ในการโค่นอำนาจของ รสช. ที่นำโดย พล.อ.สุจินดา ในการกล่าว “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ขึ้นเป็น นายกฯ จนทำให้ทหารต้องกลับเข้ากรมกองมาแล้ว จึงทำให้แสงส่อง ‘หญิงหน่อย’ ไม่น้อยในเวลานี้ ในฐานะคู่แข่งกับ พล.อ.ประยุทธ์ ชิงเก้าอี้นายกฯ

แต่อย่าลืมว่าสถานการณ์ในวันนี้ ‘รัฐบาล-กองทัพ’ เป็นเนื้อเดียวกัน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น หัวหน้าคสช. และ พล.อ.อภิรัชต์ เป็น เลขาธิการ คสช. รวมทั้ง ผบ.เหล่าทัพ เป็น สมาชิก คสช. ด้วย จึงต้องติดตามสถานการณ์หลังจากนี้ต่อไป

ประยุทธ์ แถลงผลงาน ยุทธศาสตร์ชาติ

แต่หากย้อยกลับไปปี 2552- 2553 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพ ได้เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงขึ้น รวมทั้งเป็นจุดที่ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ เป็นที่รู้จักด้วย สมัยเป็น ผู้การ ร.11 รอ. ได้นำกำลังเข้ายึดคืนสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไทยคม จ.ปทุมธานี จากคนเสื้อแดง จนทำให้ชื่อติด ‘แบล็คลิสต์’ คนเสื้อแดง การขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. ของ พล.อ.อภิรัชต์ จึงเป็นที่จับตาทุกฝีก้าว

ต่อมาสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น เส้นทางเดินของ พล.อ.อภิรัชต์ไม่ราบเรียบ ถูกโยกไปเป็น ผบ.พล.ร.11 ฉะเชิงเทรา และ ผบ.มทบ.15 เพชรบุรี แต่การกลับมาผงาดอีกครั้งของ พล.อ.อภิรัชต์ เกิดขึ้นก่อนรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เพียง 1 เดือน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ผลักดันขึ้นเป็น ผบ.พล.1 รอ. ที่คุมพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด แสดงถึงความไว้วางใจที่มีให้ อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ผลักดันให้ ‘บิ๊กแดง’ ได้ขึ้นเป็น แม่ทัพภาคที่1 จนขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ด้วย

ที่สำคัญอย่าลืมว่า พล.อ.อภิรัชต์ ในขณะนี้มี ‘สถานะสำคัญ’ อยู่ด้วย ดังนั้นการกล่าวสิ่งใดออกมาย่อมมีน้ำหนักไม่น้อย และในเรื่องต่างๆ ก็ใช่ว่า พล.อ.อภิรัชต์ จะมีอำนาจตัดสินใจได้โดยเพียงลำพัง เพราะมี ‘เงื่อนไข-ปัจจัยสำคัญ’ อยู่ด้วย หากจับคำพูดการให้สัมภาษณ์แต่ละครั้งของ พล.อ.อภิรัชต์ ถือว่ามีนัยยะสำคัญทั้งสิ้น 

รวมทั้งปรากฏการณ์ล่าสุดที่ได้มีการเปิดเพลงปลุกใจทหารให้ตระหนักในหน้าที่ภายในรั้ว ทบ. ด้วย

จากอดีต ถึงปัจจุบัน จาก รสช. ถึง คสช. เมื่อกองทัพกำลังถูก ‘กระตุกหนวดเสือ’! 

 

 

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog