ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์สังเกตการณ์ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ หรือ ไอดีเอ็มซี ระบุว่าเมื่อปีที่แล้วทั่วโลกมีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศจากปัญหาความขัดแย้งและภัยพิบัติรวม 50.8 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ถือเป็นภัยคุกคามใหม่ของคนเปราะบางกลุ่มนี้

รายงานประจำปีของไอดีเอ็มซี (Internal Displacement Monitoring Centre) ระบุว่าจนถึงสิ้นปี 2562 จำนวนคนทั่วโลกที่เป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศตัวเองอยู่ที่ 45.7 ล้านคน จากสาเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน 61 ประเทศ ส่วนอีก 5.1 ล้านคนใน 96 ประเทศกลายเป็นผู้พลัดถิ่นเนื่องจากภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหวและน้ำท่วม โดยในจำนวนตัวเลขผู้พลัดถิ่นรวมทั้งหมดนี้ มี 33.4 ล้านคน เป็นผู้พลัดถิ่นรายใหม่ในปี 2562 ถือเป็นจำนวนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา 

ขณะที่การระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศจำนวนมากมีชีวิตที่ยากลำบากขึ้น ซึ่งหลายคนก็มีสภาพความเป็นอยู่ที่จำกัดและไม่ถูกสุขลักษณะอยู่แล้ว เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่พักพิงฉุกเฉินชั่วคราว หรืออาศัยอยู่ในชุมชนแออัดและสลัมในเมือง ซึ่งสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดทำให้ยากสำหรับพวกเขาที่จะปฏิบัติตามหลักเว้นระยะห่างทางกายภาพและมาตรการสุขอนามัยเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 โดย 'อเล็กซานดรา บิแลก' ผู้อำนวยการไอดีเอ็มซี ระบุว่า การระบาดใหญ่ของไวรัสยังทำให้สภาพการดำรงชีวิตที่ไม่ปลอดภัยอยู่แล้วของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศยิ่งแย่ลงอีกด้วยข้อจำกัดที่มากขึ้นในการเข้าถึงบริการที่จำเป็นและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ขณะเดียวกันรายงานนี้ก็ระบุว่า ถึงแม้จะไม่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 จำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศทั่วโลกก็เป็นสัญญาณความล้มเหลวในภาพรวม 

ไอดีเอ็มซีเรียกร้องรัฐบาลต่างๆ ทำงานเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง เช่นสงครามกลางเมืองในซีเรียซึ่งประชาชนประมาณ 1 ล้านคน ต้องหนีออกจากบ้านของตัวเองตั้งแต่เดือนธ.ค. เพื่อหลบหนีปฏิบัติการโจมตีของรัฐบาลในสงครามที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 9 ปีที่แล้ว และยังเน้นย้ำปัญหาความขัดแย้งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เยเมน และอัฟกานิสถาน พร้อมแนะนำว่ายังต้องมีการดำเนินการเพิ่มขึ้นเพื่อต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเตรียมการเพื่อรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วมีประชาชนหลายล้านคนที่ต้องพลัดถิ่นจากพายุไซโคลนและน้ำท่วม ขณะเดียวกัน ก็เรียกร้องรัฐบาลต่างๆ ให้รับรองว่าผู้ที่กลายเป็นคนพลัดถิ่นจะสามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพระหว่างการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่วนในระยะยาวก็ต้องแก้ที่สาเหตุของปัญหาการพลัดถิ่นด้วย 

ทั้งนี้ ไอดีเอ็มซีระบุว่ากำลังจับตาดูสถานการณ์ในอิรักอย่างใกล้ชิด ซึ่งมีการยืนยันพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายแรกในหมู่ผู้พลัดถิ่นแล้ว รวมถึงจับตาสถานการณ์ในประเทศอื่นๆ เช่น ซีเรีย บูร์กินาฟาโซและโคลอมเบีย ที่เผชิญทั้งปัญหาการพลัดถิ่นและอัตราการติดเชื้อที่กำลังเพิ่มขึ้น 

อ้างอิง BBC/The Guardian