วันที่ 11 มี.ค. 2564 ที่พรรคประชาธิปัตย์ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ระบุถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุรัฐสภาจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งคำวินิจฉัยมาให้เพียง 4-5 บรรทัด ซึ่งขณะนี้ความเห็นก็ยังไม่ค่อยตรงกันเท่าไรนัก ยังคงตีความกันอยู่ ดังนั้น จึงต้องรอรายละเอียดของคำวินิจฉัยก่อน
เมื่อถามว่าจะสามารถโหวตแก้รัฐธรรมนูญในวาระที่่สามต่อได้หรือไม่ ชวน กล่าวว่า ตนได้สั่งบรรจุระเบียบวาระก่อนที่ศาลมีคำวินิจฉัยออกมา
เมื่อถามย้ำว่าการโหวตรัฐธรรมนูญวาระที่สองที่ผ่านไปแล้วนั้น เป็นโมฆะหรือไม่ ชวน กล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะวาระสองผ่านไปโดยเรียบร้อย ระเบียบวาระไม่ได้มีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตาม วาระสองที่ผ่านไปแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนวาระสามที่จะโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบนั้น เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าโหวตผ่านวาระสองแล้วให้ทิ้งเวลา 15 วัน แล้วจึงโหวตวาระสาม ซึ่งขณะนี้วาระที่สองได้พ้น 15 วันไปแล้ว
ชทพ.ยันโหวตวาระ 3 สอดคล้องคำวินิจฉัยศาล รธน. ค้านประชามติ 3 รอบสิ้นเปลืองงบฯ
ด้าน นิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับเพิ่มเติม ระบุว่า ตนยังมีความกังวลจากคำวินิจฉัยนี้อยู่ที่ความเห็นในการตีความคำวินิจฉัยของฝ่ายต่างๆ ในทางการเมืองที่ออกมาไม่เหมือนกัน สมาชิกบางส่วนเห็นว่า ร่างที่ยกร่างถูกต้องสอดคล้องกับคำวินิจฉัยแล้ว ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่า ทุกอย่างที่ทำมาเป็นโมฆะ ต้องเริ่มต้นใหม่โดยกลับไปถามประชาชนก่อน แต่ส่วนตัวแล้วมีความเห็นว่า ร่างของรัฐสภาที่กำลังรอโหวตวาระสามนั้น สอดคล้องและเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เพราะร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รอการพิจารณาอยู่ในขณะนี้ เป็นการการแก้ไขเพียงมาตราเดียว
"เท่ากับว่า มีการเสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญโดยให้ ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชนเป็นผู้กำหนดได้ตามที่เห็นสมควร ยกเว้นหมวด 1หมวด 2 อันเป็นการทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นเป็นของประชาชน โดยหลังจากมีมติในวาระสามของร่างฉบับที่กำลังพิจารณานี้แล้ว ให้ทำประชามติสอบถามประชาชนว่า เห็นชอบหรือไม่ กับการจัดทำใหม่ทั้งฉบับโดยใช้ ส.ส.ร. เท่ากับเป็นไปตามที่ข้อวินิจฉัยแรกที่ให้ถามประชาชนของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งหากยังมีความกังวลว่า ไม่ครบอาจจะใช้เพิ่มเติมคำถามในการทำประชามติเข้าไปในช่วงนี้ก็สามารถทำได้ ต่อจากนั้นเมื่อมีการเลือก ส.ส.ร. และยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่แล้วเสร็จให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าพิจารณารัฐสภาโดยไม่มีการลงมติ จากนั้นให้ประชาชนลงประชามติว่าเห็นชอบกับร่างฉบับใหม่นั้นหรือไม่ ถือเป็นการสอบถามประชาชนเป็นครั้งที่ 2 ตามคำวินิจฉัย" นายนิกร กล่าว
เมื่อถามว่าซีก ส.ว.เสนอให้มีการย้อนกลับไปทำประชามติ เริ่มต้นใหม่อีกครั้งนั้น นิกร กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วย เพราะเรื่องนี้ได้มีการพิจารณาในชั้น กมธ.พิจารณาก่อนรับหลักการมาก่อนแล้วว่า การทำประชามติก่อนที่จะมีการยกร่างแก้ไขนั้น กระทำไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจตามกฏหมายที่จะทำ การใช้มาตรา 166 เป็นของรัฐบาล เกี่ยวกับนโยบายใดๆ ของฝ่ายบริหารไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติ และนอกจากนั้นจะถือเป็นการทำประชามติถึง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้มีอันตรายอยู่ เพราะถ้ายังคลุมเครือก็จะเป็นอันตราย เพราะถ้าหากว่า เข้าพิจารณาในวาระสาม อาจมีการยกเป็นข้ออ้างว่า ยังความไม่ชัดเจนในการทำประชามติแล้วงดออกเสียง ซึ่งจะทำให้ได้เสียงจาก ส.ว.ไม่ครบ 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงส.ว.ตามบทบัญัตติเดิมของรัฐธรรมนูญ ทำให้ร่างนี้ต้องตกไปในทันที จึงสมควรใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง
'อนุทิน' เคารพ ศาล รธน. ถ้ายื้อไม่ดันเข้ารัฐสภา
ที่ทำเนียบรัฐบาล อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อน ว่า ดี ผู้สื่อข่าวถามว่า ภท.เห็นตามที่ศาลมีคำวินิจฉัยด้วยหรือไม่ อนุทิน กล่าวว่า มีทางเลือกอื่นหรือไม่ ก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล และเคารพคำสั่งศาล ทุกอย่างจึงจะได้เดินหน้าไปได้
เมื่อถามว่าการทำประชามติจะยื้อเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปหรือไม่ อนุทิน กล่าวว่า ไม่ ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ อย่าไปคิดอะไรมาก ถ้ายื้อเวลาก็คงไม่ต้องบรรจุเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาตั้งแต่แรกแล้ว แต่นี้ทำทุกอย่างแล้ว สภาฯก็ทำหน้าที่ทุกอย่าง เมื่อศาลมีคำสั่งออกมาแบบนี้แล้วไปบอกว่ายื้อเวลาก็คงไม่ใช่ อย่างนี้ก็หาเรื่องแล้ว
ข่่าวที่เกีี่ยวข้อง