นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการใช้เงินกู้ตามแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาท เบื้องต้นมีการพิจารณาโครงการรอบที่ 1 ที่เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 8 ก.ค.นี้ ได้แล้วจำนวน 213 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 101,482 ล้านบาท
ประกอบด้วย แผนงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 58,069 ล้านบาท เช่น โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ "โคก หนอง นา โมเดล" โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) โดยจะมีการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ตำบลละ 2 คนเพื่อจัดทำ Big Data โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง โครงการพัฒนาป่าใหม่ รวมถึงโครงการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งจะมีการกันเงินให้กับกองทุนหมู่บ้านละ 200,000 บาท
ส่วนของแผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน วงเงิน 20,989 ล้านบาท เช่น โครงการยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด โครงการสร้างความเข้มแข็งศูนย์ข้าวชุมชน ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทร์เพื่ออุตสาหกรรมการเกษตรอาหารและการแพทย์ รวมถึงโครงการยกระดับนวัตกรรมแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์สู่ตลาดท่องเที่ยวคุณภาพชีวิตตามวิถี New Normal
และแผนงานกระตุ้นอุปโภค บริโภค และกระตุ้นการท่องเที่ยว วงเงิน 22,422 ล้านบาท เช่น โครงการกำลังใจเที่ยว และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ครม.ได้มีการพิจารณาอนุมัติไปแล้ว
นายทศพร ระบุว่า ในส่วนของโครงการรอบแรก จะเกิดการจ้างงาน 410,415 ราย ทำให้มีฐานข้อมูลพื้นฐานชุมชนเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ ผู้สูงอายุกว่า 710,518 ได้รับการดูแล สร้างความเข้มแข็งให้ 79,604 ชุมชน หรือ 3,000 ตำบล เกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 240,000 ไร่ เกษตรกรแปลงใหญ่/เกษตรสมัยใหม่ เพิ่มขึ้นกว่า 5 ล้านไร่ ทำให้เกษตรได้รับประโยชน์กว่า 262,500 ราย
ทั้งนี้จากการเสนอโครงการตั้งแต่วันที่ 5 - 24 มิ.ย. 2563 มีการเสนอโครงการรวมทั้งสิ้นกว่า 46,429 โครงการ เป็นเงินกว่า 1.456 ล้านบาท เลขาฯ สภาพัฒน์ ระบุว่า ที่เหลือยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อนำเสนอ ครม. ในรอบที่ 2 และ 3 หรือ ในเดือน ส.ค. และ ก.ย.นี้ ซึ่งขณะนี้ทุกโครงการที่เสนอเข้ามายังมีความเป็นไปได้ที่จะผ่านการพิจารณา ยกเว้น โครงการที่ไม่ทำให้เกิดการจ้างงานและสร้างอาชีพ หรือ ส่วนใหญ่นำเงินลงไปกับบริษัทที่ปรึกษาเป็นต้น
ส่วนประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าหลายหน่วยงานเริ่มรับทราบ และมีการชี้แจงว่าว่าได้รับจัดสรรเงินกู้ 400,000 ล้านบาทบางส่วนแล้วนั้น สภาพัฒน์ ยืนยันว่า ไม่ได้มีการจัดสรร หรือ เซ็ตโควตาให้กับหน่วยงานใดทั้งสิ้น ส่วนกรณีที่หน่วยงานระบุว่ามีแผนจะนำเงินไปใช้เป็นเรื่องของแต่ละหน่วยงานที่สามารถกำหนดแผนรายละเอียดในเบื้องต้นได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ในประเด็นการตรวจสอบความโปร่งใส่ สภาพัฒน์ ยืนยันว่า ทุกโครงการที่จะมีการเสนอต้องมีแบบประเมินความเสี่ยง ขณะที่การจ่ายเงินจะทำผ่านระบบ e-banking ส่วนในโครงการที่จะต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างต้องมีใบสืบราคามากกว่า 3 เจ้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :