‘ความบันเทิง’ ในช่วงประเพณีงานบวช กลายเป็นที่สนใจของผู้คน หลังเหตุการณ์กลุ่มวัยรุ่นบุกระห่ำโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ พุ่งเข้าทำร้ายและทำอนาจารผู้บริสุทธิ์ คนเหล่านี้ไม่พอใจที่ถูกครูและผู้อำนวยการประกาศเตือนให้ขบวนแห่นาคช่วยงดใช้เสียงเนื่องจากโรงเรียนกำลังมีสอบ
นอกเหนือจากการทำร้ายร่างกาย คำถามตัวโตของสังคมก็คือ การใช้เสียงและความบันเทิงในพิธีการบวชพระนั้นจำเป็นและสำคัญขนาดไหนกัน ?
ตามพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า คืนที่เจ้าชายสิทธัตถะตัดสินใจเสด็จออกบรรพชา พระองค์ทรงม้ากัณฐกะออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ มีนายฉันนะยึดหางม้าตามไป ข้างหน้ามีเทวดาถือธงนำ ถัดมาเป็นท้าวสักกะเทวราชกำลังจูงม้า เบื้องหลังมีพรหมเชิญเครื่องบวช ท้าวจตุโลกบาลประคองเท้าม้าทั้งสี่ให้เคลื่อนที่ไป และในขณะที่จะพ้นพระราชวังออกไป มีพญามารวัสวดี ผู้ใจบาปแสดงอาการห้ามไว้มิให้ไป
จากพุทธประวัติดังกล่าว พูดง่ายๆ ว่าการเสด็จออกบรรพชาของพระองค์ เทวดาต่างพาร่วมกันอนุโมทนาสาธุและช่วยเหลือ เนื่องจากยินดีกับการตัดสินใจครั้งนี้ ขณะที่พวกพญามารนั้นไม่ต้องการ
ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร เล่าว่า เหตุการณ์ตามพุทธประวัติถูกชาวบ้านในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำลองและนำมาปรับใช้สร้างประเพณีในพิธีออกบวช โดยเหล่าเทวดา เปรียบได้ดั่งกับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่ออกมาร่วมแสดงความยินดี ขณะที่เรื่องราวเถิดเทิง เปรียบเสมือนการผจญมาร เหนี่ยวรั้ง สร้างกิเลสตัณหาเพื่อไม่ให้ออกบวช
“บวชไปเพื่อการหลุดพ้นออกจากกิเลส คนที่มาขัดขวางคือคนที่ต้องการให้กลับไปสู่กิเลส” เขาบอก
อย่างไรก็ตาม อาจด้วยเป้าหมายและจุดประสงค์การบวชที่เปลี่ยนไปในเวลาต่อมา จากอดีตที่ต้องการหลุดพ้นกิเลส ค้ำจุนและสืบทอดพระศาสนา กลายเป็นการบวชระยะสั้นเพื่อทดแทนบุญคุณบิดามารดา ทำให้การตีความในการบวชและพิธีการนั้นเปลี่ยนแปลงไป โดยเน้นไปที่ความบันเทิงและการเฉลิมฉลอง
“ความรื่นเริงและเสียงดนตรีในประเพณีงานบวชของไทย ไม่ได้มีนัยของการทดสอบความกล้าแกร่งในจิตใจ แต่เป็นลักษณะสร้างความบันเทิงเสียมากกว่า” เขาบอกต่อ
“มันเหมือนกับการปลดปล่อยครั้งสุดท้าย แทนที่จะเป็นการผจญมาร”
นักวิชาการด้านศาสนา สรุปว่า การออกบวชถูกตีความในแบบไม่ซื่อตรงต่อสาระทางศาสนา จนนำไปสู่การเฉลิมฉลองด้วยการดื่มสุรา จ้างวงดนตรีและโคโยตี้มาร่วมสร้างความบันเทิง ขณะเดียวกัน ขนาดและความยิ่งใหญ่ของงานยังแสดงถึงฐานะของผู้จัดงานอีกด้วย
พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระวัดสร้อยทอง เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ชาวพุทธต้องช่วยกันสร้างค่านิยมที่ถูกต้อง ก่อนที่วัฒนธรรมประเพณีจะเสื่อมถอยไปมากกว่านี้ หากลองพิจารณาดูปัจจุบันเราจัดงานบุญกันแทบจะไม่เป็นงานบุญ ไม่ว่าผ้าป่า กฐิน บวชนาค เป็นต้น เมื่อเน้นความสนุกสนานและความสำราญกันจนเกินขอบเขตไปมาก
อันดับแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือ เขตพุทธาวาส ควรจะต้องเป็นสถานที่ที่ปลอดจากสิ่งเสพติดมึนเมาทุกชนิด ทุกคนจะจัดงานรื่นเริงสนุกสนานอะไรก็ได้ แต่ควรสนุกกันเสียให้พอแต่ที่บ้าน เมื่อมาอยู่ในวัดแล้ว ต้องเงียบสงบ และรู้จักกาละเทศะ
“ถ้าเราแยกบ้านกับวัดได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ทุกวันนี้มีการจ้างโคโยตี้มาเต้นกันถึงในลานวัด เปิดเครื่องเสียงอย่างดังเกิน นำเหล้าเบียร์ไปกินกันถึงในเขตอุโบสถ เรื่องพวกนี้กำลังกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว”
พระอาจารย์แห่งวัดสร้อยทองไม่ได้ปฏิเสธเครื่องดนตรี แต่เห็นควรระบุให้ชัดว่า ไม่ควรใช้เครื่องเสียงขนาดใหญ่ที่ผลมีกระทบกับพื้นที่รอบข้างหรือชุมชนเกินไป ที่สำคัญที่สุดคือ สุรา สิ่งมึนเมา ต้องห้ามเด็ดขาดที่จะมีในเขตวัด หากมี เจ้าอาวาสต้องยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่ทำพิธีกรรมให้ นอกจากนี้ยังควรมีเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลและจัดการหากมีการกระทำผิดกฎหมายในงานบุญ
“จับ ปรับกันเหมือนทำผิดกฎจราจร ห้ามมีการอะลุ่มอล่วยเด็ดขาด”
ปัจจุบันมักมีภาพเยาวชนผู้หญิงแสดงออกด้วยท่าเต้นอย่างอนาจารไม่เหมาะสม เด็กผู้ชายก็มีเรื่องต่อยตีฟันแทงกันอย่างปกติแม้จะอยู่ในงานบุญ ซึ่งพระมหาไพรวัลย์ตั้งข้อสังเกตว่า สังคมกำลังปล่อยให้เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องธรรมดาหรือเปล่า ?
“ที่เราดูแล้วสนุกสนาน หัวเราะ ยิ่งเต้นท่าพิสดาร คนยิ่งชอบ แต่คนลืมไปว่าที่เต้นๆ อยู่ คุณอยู่ในเขตพุทธาวาสนะ ไม่ใช่บ้านหรือกลางทุ่งนา”
พระสงฆ์รายนี้ชี้ว่า ประเด็นและสาระสำคัญของการไปงานบวชคือ การไปร่วมอนุโมทนาให้กับการตั้งใจทำความดีของนาคที่จะเข้ามาสู้ร่มกาสาวพัสตร์
“สมัยก่อนคนโบราณเวียนโบสถ์ เขามีคำพูดเลยว่า อนุโมทนา และจะมีคนรับว่าสาธุ ไปอนุโมทนาให้กับความตั้งใจของนาคที่จะเข้ามาสู่ร่มกาสาวพัสตร์ แต่วันนี้กลายเป็นว่าคนคิดถึงเรื่องเต้น เรื่องรำ เรื่องเมา มันต้องตระหนักให้ได้ว่าความพอดีควรอยู่ตรงไหน”
ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ระบุว่า วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาเป็นสถานที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตราที่ 31
(1) ระบุว่าห้ามมิให้ผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา เว้นแต่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา
ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่ในมาตรา 39 ระบุว่าผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากพบว่าพระสงฆ์เป็นผู้ที่กระทำผิดเสียเองจะถือว่ามีโทษ 2 เด้งคือ นอกจากจะถูกจับสึก เพราะทำผิดพระธรรมวินัยแล้ว ยังจะต้องออกไปรับโทษตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
มองในภาพกว้างความบันเทิงในวัดอาจไม่ได้มีที่มาจากนิสัยและความมึนเมาสุราเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับทัศนคติของผู้คน
อติภพ ภัทรเดชไพศาล ผู้เขียนหนังสือ เสียงเพลง วัฒนธรรม อำนาจ วิเคราะห์ว่า การใช้เสียงในวัด เป็นปรากฎการณ์ที่ตกค้างมาจากสังคมเก่าที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมสมัยใหม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่าการใช้เสียงของศาสนสถานในสมัยก่อน ไม่เคยขัดแย้งกับวิถีชีวิตของผู้คน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ขณะที่ปัจจุบันไม่ใช่
“เสียงมันไปกับสังคมสมัยใหม่ไม่ได้ เพราะไปรบกวนส่วนอื่นๆ ในสังคมและทำให้เกิดความขัดแย้งบ่อยครั้ง ล่าสุดที่กลายเป็นข่าวดังคือ เสียงระฆังในยามเช้าที่เป็นปัญหากับผู้อยู่อาศัยในคอนโด ฉะนั้นมันเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างสังคมยุคเก่าและใหม่ สถาบันดั้งเดิมไม่ยอมปรับตัว”
เขาบอกว่าการอ้างอิงเรื่องของ "เสียง" เข้ากับศาสนาและความดี เช่น ทำวัตร, บวชนาค นับเป็นข้ออ้างของคนจำนวนหนึ่งที่ต้องการใช้สิทธิพิเศษของสังคมเก่า ในท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไปแล้ว และที่เขากล้าอ้างสิทธิพิเศษได้ ก็เพราะสถานะขององค์กรเหล่านี้ในไทยมันกดครอบเสียงอื่นๆ ได้จริง
“คนจำนวนหนึ่งคิดว่าความเป็นพุทธศาสนา การบวช เป็นความดีที่ใครไม่สามารถไปโต้แย้งได้ เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณอ้างความดีที่โต้แย้งไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะรบกวนเพื่อนบ้านเท่าไหร่ แต่ถ้าคุณทำเพื่องานบวช เท่ากับว่า คุณถูกเสมอ วิธีคิดแบบนี้มันทำให้เกิดปรากฎการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดการรุกรานสิทธิของคนอื่น ทำให้เกิดการสถาปนาตนเองว่า กำลังทำความดี เสร็จแล้วจะทำอะไรก็ถูกไปหมด”
อติภพบอกว่า วิธีคิดดังกล่าวฝังรากลึกในสังคมไทย เป็นความพยายามแอบอิงความชั่วร้ายของตัวเองเข้ากับสถาบันที่ทรงอำนาจมากอย่างเช่น ศาสนา
ขณะที่การเปลี่ยนแปลงคือต้องทำให้สถาบันเหล่านี้อ่อนกำลังลง ผ่านการปฏิรูปศาสนา ทำให้สถาบันศาสนาอยู่ร่วมกันได้กับสังคมสมัยใหม่มากขึ้น และไม่ทำให้กลายเป็นสิ่งสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวที่โต้แย้งไม่ได้
“เปิดโอกาสให้คนได้ถกเถียงในประเด็นเหล่านี้ ไม่ใช่ปิดกั้นด้วยการไปประณาม ด่าว่าเขาเป็นคนไม่ดี คนบาป อกตัญญู ต้องเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยถึงสถาบันเหล่านี้ที่คงความศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่หลากหลาย” เขาทิ้งท้าย