ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงการคลัง ยันแบ่งกลุ่มผู้ลงทะเบียนได้เงิน–ไม่ได้เงิน-หรือต้องขอข้อมูลเพิ่ม แล้วเสร็จทั้ง 24 ล้านคนภายในสัปดาห์นี้ เผยมีผู้ผ่านเกณฑ์ได้เงิน 5,000 แล้วแน่ๆ ประมาณ 2 ล้านคน เงินงวดแรกเข้า 8-10 เม.ย.นี้ ส่วนล็อต 2 เริ่มโอนสัปดาห์หน้า

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า การตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวผลกระทบโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท ผ่านเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com  ล่าสุดระบบวันนี้ (8 เม.ย.2563) มีผู้ที่ผ่านเกณฑ์แล้วประมาณ 2 ล้านคน  จากทั้งหมด 24.8 ล้านคน

เงินงวดแรกเริ่มทำการโอนภายในวันที่ 8-10 เม.ย. แบ่งเป็นวันที่ 8 เม.ย. จำนวน 251,821 คน วันที่ 9 เม.ย. 641,703 คน และวันที่ 10 เม.ย. จำนวน 503,098 คน รวม 1,396,622 คน ส่วนที่เหลือจะทยอยโอนเงินในสัปดาห์หน้า

มาตรการเยียวยา - ศูนย์ COVID (8.04.20) V2_Page_6.jpg

สำหรับขั้นตอนการคัดกรองจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม (เขียว-เทา-แดง) โดยกลุ่มสีเขียว คือผู้ผ่านเกณฑ์ 100 เปอร์เซ็นต์ มีบางส่วนที่ลงทะเบียนพบว่าชื่อไม่ตรงกับบัญชีธนาคาร ประมาณ 2 แสนคน จะเปิดโอกาสให้เข้าไปแก้ไขข้อมูล

ส่วนกลุ่มสีเทาระบบจะส่ง SMS ให้ผู้ลงทะเบียนที่มีคุณสมบัติไม่ชัดเจนส่งข้อมูลและกรอกแบบสอบถาม และเตรียมลงพื้นที่สำรวจโดยตรง และกลุ่มสีแดง คือผู้ไม่ผ่านเกณฑ์ตามที่กระทรวงกำหนด จะทยอยแจ้งผลผ่านทาง SMS ในวันที่ 11-12 เม.ย. 2563 โดยยืนยันว่าจะสามารถจัดกลุ่มของผู้ลงทะเบียนทั้งหมดแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้

“ยังเชื่อมั่นระบบ AI เพราะฐานข้อมูลที่ลงทะเบียนกว่า 24 ล้านคน คนไม่สามารถทำได้ ดังนั้นก็ต้องเชื่อว่าระบบ AI สามารถคัดกรองกลุ่มคนที่จะเข้าข่ายได้รับเงิน 5,000 บาท” นายลวรณ กล่าว

นายลวรณ ระบุว่า กลุ่มที่ไม่ได้รับเงินแน่ๆ คือ ผู้ที่มีอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ไม่ได้ประกอบอาชีพ เช่น เป็นแม่บ้าน ข้าราชการบำนาญ อยู่ในระบบประกันสังคม นักเรียนนักศึกษา ขายของออนไลน์ แรงงานก่อสร้าง และเกษตรกร ส่วนกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่นอกเหนือกลุ่ม 8 ล้านคน หากประกอบอีพอิสระ เช่น ค้าขาย หรือขับรถแท็กซี่ ยังอยู่ในเกณฑ์ได้รับเยียวยา 5,000 บาท แม้ปัจจุบันจะได้เบี้ยผู้สูงอายุอยู่แล้วก็ตาม

มาตรการเยียวยา - ศูนย์ COVID (8.04.20) V2_Page_4.jpg

ส่วนกรณีที่จะขยายเวลาแจก 5,000 บาทให้ครอบคลุม 6 เดือนหรือไม่นั้น ยืนยันว่า ขณะนี้เงินมีเพียงพอที่จะใช้สนับสนุนมาตรการฯ แต่กระทรวงจะมีการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณามาตรการในขั้นตอนต่อไป ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

คลัง แถลง
  • ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐการคลัง (สศค.)

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงกรณีการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ 6 แสนล้านบาทเป็นเงินที่จะใช้ในการดูแลและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ซึ่งจะเหลือประมาณ 4 แสนล้านบาท หากหักวงเงินเยียวยา 5,000 บาทออกไป รัฐบาลมีแผนการใช้จ่ายอย่างไร นายลวรณ ระบุว่า สามารถนำไปใช้ได้ในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการดูแลและเยียวยาผลกระทบโควิด-19  โดยให้แต่ละกระทรวงไปกำหนดรายละเอียดโครงการและนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานพิจารณาก่อนที่จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ สามารถทำคู่ขนานก่อนที่จะออก พ.ร.ก.กู้เงิน ได้