24 เม.ย. 2567 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญสมัยที่สอง (ครั้งที่ 4) ประจำปี 2567 เพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่องกำหนดลักษณะของอาคารและพื้นที่ว่างนอกอาคารเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือ ร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียว ที่เสนอโดย พุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา พรรคก้าวไกล ในวาระที่ 2-3 หลังผ่านขั้นตอนคณะกรรมการวิสามัญ
ผลการลงมติปรากฏว่าที่ประชุมฯ มีมติไม่เห็นชอบให้ประกาศเป็นข้อบัญญัติ ร่างดังกล่าวจึงตกไป ด้วยคะแนนเห็นชอบ 12 เสียง ไม่เห็นชอบ 22 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง โดยฝ่ายที่ไม่เห็นชอบอ้างว่าสภา กทม. ไม่มีอำนาจ ทั้งที่ไม่เป็นความจริง เนื่องจาก กทม. มีอำนาจในการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวเพื่อกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 10(1) ประกอบมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียว คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสหประชาชาติ โดยกำหนดให้ผู้ที่จะสร้าง ซ่อมแซม หรือต่อเติมอาคารใหม่ จะต้องมีพื้นที่สีเขียวคิดเป็น 50% ของพื้นที่ว่างนอกอาคารตามที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนดให้พื้นที่บ้านอยู่อาศัย 100 ตารางเมตร ต้องมีพื้นที่ว่าง 30 ตารางเมตร ส่วนตึกแถว สำนักงาน และทาวน์เฮ้าส์ กำหนดให้ 10% ของพื้นที่ต้องเป็นพื้นที่ว่าง
เช่น หากข้อบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้ บ้านอยู่อาศัย 100 ตารางเมตร มีพื้นที่ว่าง 30 ตารางเมตร จะมีพื้นที่สีเขียว 15 ตารางเมตรนอกอาคาร ส่วนตึกแถว สำนักงาน และทาวน์เฮ้าส์ 100 ตารางเมตร จะมีพื้นที่ว่าง 10 ตารางเมตร ต้องมีพื้นที่สีเขียว 5 ตารางเมตรนอกอาคาร เป็นต้น
พุทธิพัชร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ กล่าวว่า ขอขอบคุณกรรมการและอนุกรรมการจากทุกพรรคที่มาร่วมกันพิจารณาแก้ไขร่างข้อบัญญัตินี้ในชั้นคณะกรรมวิสามัญฯ ร่างข้อบัญญัตินี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทั้งการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดฝุ่น PM2.5 จะทำให้คน กทม. มีอากาศดีขึ้น แต่ไม่ทราบเหตุผลทำไมวันนี้ร่างจึงไม่ผ่าน ทั้งที่มีความยินดีที่จะแก้ไขตามข้อเสนอ ขอให้ประชาชนจดจำการลงมติครั้งนี้ ก่อนหน้านี้ร่างข้อบัญญัติรถเมล์อนาคตก็ถูกล้มไป วันนี้ร่างพื้นที่สีเขียวก็ถูกล้มอีก