เว็บไซต์ CJR รายงานว่า ศูนย์วิจัยทาวเซนเตอร์ (Tow Center) เปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจเกี่ยวกับสถานการณ์ความนิยมของการถ่ายทอดสดทาง เฟซบุ๊ก หรือ เฟซบุ๊กไลฟ์ ว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2017 (พ.ศ. 2560) นั้น จำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กไลฟ์ที่เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจมีจำนวนลดลงอย่างมาก โดยส่วนใหญ่ลดลงมากกว่าครึ่ง
ขณะที่ มีผู้ผลิตเนื้อหาออนไลน์บางรายแทบจะยุติการทำเนื้อหาป้อนให้กับเฟซบุ๊กไลฟ์ไปเลย หลังจากสัญญาการจ่ายเงินจ้างทำคอนเทนท์ถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กไลฟ์นั้นหมดลง
จากการรวบรวมผลสำรวจของทางศูนย์วิจัยทาวเซน เตอร์ ชี้ว่าผู้ผลิตเนื้อหาให้เฟซบุ๊ก ไลฟ์ส่วนใหญ่เป็นคนดังในวงการสื่อที่เป็นที่สนใจของคนวงกว้าง รวมถึงสำนักข่าวชื่อดังระดับโลก ทั้งสิ้น 17 บริษัท อาทิ BuzzFeed, The New York Times, CNN, HuffPost, และ Vox Media เป็นต้น
โดยสื่อรายใหญ่เหล่านี้ได้รับเงินอุดหนุนจากทางเฟซบุ๊ก เพื่อผลิตเนื้อหาหรือรายงานข่าวทางเฟซบุ๊กไลฟ์เป็นเวลา 1 ปี (มี.ค. 2559-มี.ค. 2560) ซึ่งทางสำนักข่าว The Wall Street Journal ประเมินว่าเม็ดเงินที่ใช้จ้างผลิตคอนเทนท์เหล่านี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 - 3.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 38 - 97 ล้านบาท โ��ยตัวเลขนี้เป็นค่าจ้างต่อ 1 คน หรือ 1 สำนักข่าวเท่านั้น
เนื่องจากเมื่อ 2 ปีก่อน เฟซบุ๊กมุ่งมั่นอย่างมากที่จะทำให้เฟซบุ๊กไลฟ์ประสบความสำเร็จ พร้อมกับตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญ วิศวกรคอมพิวเตอร์ และนักพัฒนาโปรดักส์ขึ้นมาอย่างจริงจังเพื่อผลักดันให้เฟซบุ๊กไลฟ์ประสบความสำเร็จสูงสุด และให้ความสำคัญของการเข้าถึงเนื้อหาที่เป็นเฟซบุ๊กไลฟ์ก่อนการเข้าถึงเนื้อหาที่เป็นวิดีโอธรรมดา รวมถึงบทความที่เป็นตัวหนังสือ จนทำให้มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กไลฟ์ทั่วโลก
โดยเฉพาะผู้ใช้งานในประเทศไทย ซึ่งพบว่า มีคนไทยนิยมถ่ายทอดสดเรื่องราวส่วนตัวในแต่ละวันของตนเองผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์สูงมากติดอันดับต้นๆ ของโลก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศ
อย่างไรก็ตามเว็บไซต์ Digiday รายงานว่า เมื่อเวลาผ่านไปได้เพียง 1 ปี จำนวนการใช้งานเฟซบุ๊กไลฟ์ทั่วโลกเริ่มลดลงอย่างชัดเจนเกิน 50% เช่น ผู้ผลิตคอนเทนท์เกี่ยวกับอาหารอย่าง Tastemade ที่มีผู้ติดตามบนเฟซบุ๊กเกือบ 29 ล้านคน ผลิตเนื้อหาทางเฟซบุ๊กไลฟ์เฉลี่ยเดือนละ 69 ครั้ง (ช่วง มี.ค. 2559-มี.ค. 2560) พบว่า ได้ลดการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์เหลือเพียง 4 ครั้งต่อเดือนทันที เมื่อสัญญาการจ้างหมดลง หรือมีอัตราการลดลงถึง 94%
ขณะ ที่ The New York Times เคยโพสต์วิดีโอบนเฟซบุ๊กไลฟ์เฉลี่ย 135 วิดีโอต่อเดือนในช่วง 1 ปีเดียวกัน ขณะนี้ ก็ลดลงเหลือเพียง 63 วิดีโอเท่านั้น
ผู้บริหารของสำนักข่าว CNN ชี้ว่าเป็นเรื่องที่ยากมากที่ทีมงานจะวางแผนงานในการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ต่อไป เพราะประเด็นของรายได้และเม็ดเงินที่มากับการไลฟ์สดคือสิ่งที่ไม่แน่นอน และคาดการณ์ได้ยากกว่าการถ่ายทำวิดีโอคุณภาพในรูปแบบปกติ ที่สามารถนำไปเสนอลูกค้าและวางแผนการทำกำไรได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ มากกว่า