ไม่พบผลการค้นหา
'ประเทศกูมี' เพลงแร็ปที่บอกเล่าบรรยากาศการเมืองที่น่าอึดอัดของประเทศไทยออกมาอย่างแสบสัน ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในโลกโซเชียลในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทีมงาน Voice Online ได้พูดคุยกับศิลปินที่ร่วมในโปรเจกต์ Rap Against Dictatorship ซึ่งบอกว่า พวกเขาไม่ได้แค่แร็ประบายอารมณ์ แต่เพื่อปกป้องพื้นที่ในการแสดงออกของทุกคน

ช่วงหลังมานี�� กระแสเพลงแร็ปเริ่มกลับมาอยู่ในเมนสตรีมอีกครั้ง โดยเฉพาะช่วงหลังรายการแข่งขันร้องเพลงแร็ปได้รับความนิยม เพลงแร็ปที่มักจะนำความอัดอั้นมาร้อยเรียงเป็นถ้อยคำ ระบายออกมาให้ลงจังหวะ จึงเข้ามา 'ถูกจังหวะ' กับช่วงที่คนไทยกำลังรู้สึกอึดอัดกับบรรยากาศสังคมการเมือง ที่กดให้หลายคนรู้สึกไม่สบายใจหรือแม้กระทั่งหวาดกลัวที่จะพูดออกมา

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา เหล่าแร็ปเปอร์ในโปรเจ็กต์ Rap Against Dictatorship (แปลว่า แร็ปต้านเผด็จการ) ได้เปิดตัวเพลง 'ประเทศกูมี' ออกมาอย่างเป็นทางการ เพลงนี้บอกเล่าถึง "ประเทศที่บอกเสรีแต่ดันไม่มีสิทธิ์เลือก" เสียงของประชาชนไม่สำคัญเท่าผู้มีตำแหน่งและอำนาจเงินตรา เนื้อหาของเพลงที่เหมือนพูดแทนใจใครหลายคนออกมาได้อย่างแสบสัน คมคาย และแตะไปถึงปัญหาในระดับโครงสร้าง ทำให้มีคนพูดถึงและแชร์เพลงนี้ต่อจนยอดวิวในยูทูบขึ้นหลักแสนในเวลาเพียงไม่กี่วัน ซึ่งถึงว่าสูงมากทีเดียวสำหรับเพลงแร็ปของศิลปินที่ไม่ได้มีค่ายเพลงหนุนหลัง

ความแรงของเพลงนี้ยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น หลัง Rap Against Dictatorship (RAD) ปล่อยมิวสิกวิดีโอของเพลงนี้ออกมาเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็ยิ่งทำให้คนหันมาสนใจมากขึ้น เพราะ RAD เลือกที่จะร้องแร็ปกันโดยมีฉากหลังเป็นภาพจำลองเหตุการณ์คนฟาดเก้าอี้ศพที่ถูกแขวนคอ และมีผู้คนมุงดูพร้อมรอยยิ้ม อ้างอิงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นหน้าประวัติศาสตร์การเมืองที่ดำมืดที่สุดของประเทศไทย

เมื่อเห็นเอ็มวีเพลงนี้แล้ว ทีมงาน Voice Online คาดว่าหลายคนคงอยากจะฟังแนวคิดของศิลปินที่อยู่เบื้องหลัง (และเบื้องหน้า) ของเพลงนี้ ซึ่ง Liberate P, Jacoboi และ ET แร็ปเปอร์ส่วนหนึ่งที่ร่วมแร็ปในเพลง 'ประเทศกูมี' ตอบตกลงมานั่งพูดคุยกันแบบยาวๆ กับทีมงาน ช่วงค่ำวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ถึงที่มาที่ไปของโปรเจ็กต์ Rap Against Dictatorship และมุมมองในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองไทยของแร็ปเปอร์ในปัจจุบัน

Voice Online: อยากให้อธิบายนิดหนึ่งถึงที่มาที่ไปว่ารวมตัวกันอย่างไรถึงได้เป็น Rap Against Dictatorship

Liberate P: ก็คือว่าผมทำเพลงเกี่ยวกับการเมืองอยู่แล้ว แล้วทีนี้ก็มีเพลงหนึ่งที่ดองไว้ ก็คือชื่อเพลง 'ประเทศกูมี' นี่แหละครับ ผมมองเห็นว่าเพลงนี้มันสามารถสื่อสารกับคนเมืองได้ สื่อสารกับคนชั้นกลางได้ว่าประเทศกูมีอะไร โดยที่เราไม่ได้สื่อสารไปในเชิงโจมตีน่ะครับ แต่เราสื่อสารไปในรูปแบบของการอยากให้เขามาร่วมกับเราพูดว่าประเทศเรามีอะไรมากกว่า

ทีนี้ก็เลยเกิดเป็นไอเดียที่ผมรู้สึกว่าผมทำคนเดียวไม่ไหว ผมก็เลยชวนเพื่อน พี่ มาทำ และเราก็เริ่มตั้งชื่อว่า Rap Against Dictatorship

Jacoboi: หลักก็คือการต่อต้านเผด็จการ ความหมายตรงตัวและสะท้อนออกมาในเนื้อเพลง มันก็จะค่อนข้างฟรีอย่างที่ ET บอก ว่าในเนื้อ 10 คนก็ไม่ได้พูดไปในทิศทางเดียวกันเป๊ะๆ มันแค่มีแกนที่คุมอยู่ก็คือมันต่อต้านเผด็จการ และมันพูดถึงว่าประเทศกูมีอะไรในสายตาของแต่ละคน มันก็มีความกระจัดกระจายอยู่ประมาณหนึ่ง ซึ่งมันก็คือเสน่ห์ของเพลงแร็ป

Liberate P: ความจริงคือเราตั้งใจรวบรวมคนที่มีความคิดไม่เหมือนกันเข้ามาอยู่ในเพลงนี้แหละ เพราะทุกคนที่มีความคิดไม่เหมือนกันมีจุดร่วมบางอย่างอยู่เกี่ยวกับเรื่องเผด็จการ

ET: คือมันจะไม่ใช่รูปแบบของวง ผมขอเรียกสั้นๆ ว่าไม่ใช่รูปแบบวง RAD แต่มันเป็นโปรเจ็กต์ เป็นเหมือนฮับที่เราอยากให้คนที่อยากพูดเรื่องการเมืองมาร่วมกันโดยที่ใครอยากพูดก็อาจจะมาเสนอเราภายหลังก็ได้ว่ามีโปรเจ็กต์เพลงการเมืองที่อยากให้เราช่วยในภายหลังก็ได้

Jacoboi: ในผลงานต่อๆ ไปก็อาจจะมีศิลปินอื่นๆ หมุนเวียนมา ไม่ใช่ในรูปแบบที่ว่ามี 10 คนแล้วก็เป็นแบบนี้ทุกเพลง แล้วที่เมื่อกี้ถามว่าทำไมมันเกิดเป็น Rap Against Dictatorship ก็คือว่าเมื่อเริ่มจากไอเดียที่ ET บอกแล้วก็ไม่อยากให้เป็นแบบเพลงหนึ่งแล้วก็หายไป ก็เลยทำโปรเจ็กต์นี้ขึ้นมาเพื่อให้สามารถอยู่ต่อไปได้

Voice Online: ที่อธิบายไว้ในเฟซบุ๊กเพจ ก็มีการกล่าวถึง RAD ว่าในทางหนึ่งก็มาจากคำว่า radical ด้วย แล้วมองว่าผลงานที่ทำออกมาจะสุดโต่งแบบที่คนอื่นเขาฟังแล้วจะรู้สึกว่า “เกินไปหรือเปล่า”

Jacoboi: แล้วฟังแล้วรู้สึกว่าเกินไปไหมอะครับ

ET: ส่วนตัวนะ ผมว่าเราไม่ได้สุดโต่งขนาดนั้น (เพื่อนๆ ประสานเสียงว่า ใช่ๆๆ)

Jacoboi: ผมว่าคำว่า Radical ที่เราเอามาใช้มันสะท้อนความคิด สะท้อนตัวตนเรามากกว่า แต่เวลาที่เราจะต้องพูดกับคนอื่น สื่อสารกับคนที่ไม่ใช่แค่พวกกันเอง มันก็ต้องมีวิธีสื่อสารที่ทำให้เขาเข้าใจเราได้

อย่างหนึ่งที่เราตั้งเป้าเอาไว้ในการทำเพลง 'ประเทศกูมี' เราไม่ได้ต้องการเป็นศัตรูกับประชาชนด้วยกันเอง เพราะประเด็นของเราคืออำนาจรัฐเป็นหลัก

ET: ขนาดว่าเราไม่ได้ Radical ขนาดนั้นยังมีคนถามไถ่เรามาเลยว่า “โอเคไหม” “ปลอดภัยไหม” อะไรแบบนี้ คือมันตลกตรงที่ว่าเราไม่ได้สุดโต่งขนาดนั้น

Liberate P: คนกลัวเกินเหตุ

Jacoboi: มันอยู่ในกรอบกฎหมาย 100 เปอร์เซ็นต์เลยอ่ะ ผมมั่นใจมากว่าเพลงนี้ไม่มีอะไรเกินไปกว่ากฎหมายเลย คนแม่งยังเป็นห่วงอ่ะ มันแปลว่าคุณอยู่ในประเทศที่ mindset ของคนมันถูกทำให้เกิดอะไรบางอย่าง แบบนี้มันไม่ปกติแล้ว

Voice Online: คุณมองว่าตัวคุณไม่ได้สุดโต่งเลยสำหรับเพลงนี้ แต่สำหรับผู้มีอำนาจรัฐ ถ้าได้ฟังเพลงนี้ คุณว่าเพลงนี้สุดโต่งเกินไปสำหรับพวกเขาไหม

Jacoboi: ไม่รู้ครับ ช่างเขา

Liberate P: ผมว่าไม่นะ ผมว่าใครเขาก็ด่ากันนะ

Jacoboi: คือเนื้อหาเรามีแร็ปเปอร์ 10 คนต่างคนต่างเขียนเนื้อหาของตัวเอง แต่เราเอาเนื้อหาแต่ละคนมาจับแยกแล้วกระจายๆ ไป แล้วเราไปเสิร์ชในอินเทอร์เน็ต ผมว่าแม่งมีทุกประเด็นที่คนอื่นๆ พูดกันไปหมดอยู่แล้ว แค่ไอ้แร็ปเปอร์ 10 คนนี้มันเอามากรองเป็นเพลงเท่านั้นเอง แต่ถามว่าเราพูดอะไรใหม่ไหมในเพลงนี้ ก็ไม่มีอะไรใหม่เลยนะ ทุกประเด็นแม่งเป็นสิ่งที่คนพูดกันเต็มโลกอินเทอร์เน็ตไปหมด โลกจริงๆ ด้วยซ้ำ

Liberate P: ถ้าจะห่วงก็อาจจะเป็นว่า เฮ้ย วัยรุ่นมันเอาด้วยเว้ย

ET: อะ ใช่ๆ อันนี้มีความเป็นไปได้

Liberate P: เพราะว่าวันนี้ปล่อยมาวันแรก คอมเมนต์ก็เอาเรื่องนะ คึกคักใช้ได้

Jacoboi: เป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของเรานะว่าเราอยากให้คนที่...จะบอกว่าคนรุ่นใหม่ก็ไม่เชิง แต่คือคนที่ยังมีกำลังวังชาอยู่ในตอนนี้ คนรุ่นที่ทำงานหรือยังเป็นวัยรุ่นอยู่ หันมาสนใจเรื่องพวกนี้ ซึ่งเรารู้สึกว่าการใช้ดนตรีสื่อสารมันเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายและเร็ว เพราะเพลงแร็ปมันเป็นเพลงที่ฟังง่าย ใครก็ฟังได้ ไม่มีใครในโลกนี้แร็ปไม่ได้ แร็ปดีไม่ดีไม่รู้อะ อีกเรื่องหนึ่งละ แร็ปเก่งไม่เก่งไม่รู้แต่ว่าทุกคนในโลกนี้แร็ปได้ ฉะนั้น ทุกคนฟังได้ และสามารถเอาไปทำตามได้

RAD-Rap Against Dictatorship-Liberate P-Jacoboi-ET.JPG

Voice Online: ก่อนหน้านี้เคยบอกว่าเขียนเพลงแร็ปขึ้นมาไม่ได้ต้องการให้มีคนฟังเยอะ แต่ครั้งนี้มีเป้าหมายว่าอยากจะสื่อสารกับคนชั้นกลาง อยากจะสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ทำไมถึงเปลี่ยนไป

Liberate P: เมื่อก่อนผมแค่อยากพูด คือตอนนั้นมันเกิดจากที่ว่าเราเริ่มมีคนติดตามเพิ่มมากขึ้น เราก็เลยรู้สึกว่าอยากพูดการเมืองในมุมของเราบ้าง ทีนี้ผมก็แค่แต่งออกมาแล้วพูดในมุมมองที่ผมรู้สึกว่าเพลงแบบนี้ยังไม่มีในแวดวง คือส่วนใหญ่เขาก็จะพูดในเรื่องคอร์รัปชั่น ด่าพระ ด่าตำรวจ อะไรแบบนี้ใช่ไหมครับ ผมก็เลยอยากพูดถึงเรื่องสิทธิอะไรบ้าง แต่ตอนนั้นมันแค่อยากพูด จนช่วงหลังเกิดจากการตามการเมืองด้วย เกิดจากการตามนักวิชาการบางกลุ่มที่เขาเสนอมาว่าแนวทางหรือวิธีการที่เราจะแก้ไขได้ เราอาจจะต้องดึงกลุ่มที่เรากำลังผลักไสเขาออกไป ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับเรามากขึ้น มันเลยเกิดไอเดียนี้ขึ้นมาว่าเราควรเลิก...ไม่เชิงว่าเลิกด่า แต่ควรทำความเข้าใจเขามากกว่า เพราะบางทีสิ่งพูดมันจริงนะ มันจริงจนเรามองข้ามไป

Jacoboi: คือถ้าเราดู MV มันจะจบลงด้วยคำว่า All People United ก็คือ ในความป็นจริงแล้ว ในโลกประชาธิปไตย คนจะสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวจริงๆ เป็นไปไม่ได้ เพราะทุกคนมีความคิดที่แตกต่างหลากหลาย แต่ประเด็นของเราคือว่า เราเก็บพื้นที่เอาไว้ตีกันเองแต่ว่าเรารวมกันในทางที่ไม่ให้อำนาจอย่างอื่นเข้ามาแทรกในอำนาจประชาชน คือประชาชนรวมตัวกันในแง่นี้ แต่ว่าในความแตกต่างหลากหลายก็ยังเข้ามาตีกันอยู่ในการรวมเป็นหนึ่งเดียวนี้ได้ แต่ว่าไม่ใช่ให้อำนาจรัฐที่เป็นอำนาจรัฐแบบเผด็จการเข้ามาครอบงำ

ที่เราใช้เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นแบกกราวด์ ผมว่ามันสะท้อนภาพชัดที่สุดแล้วที่องค์กรของรัฐเข้ามาสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนและเกิดการแบ่งฝ่ายที่หนักมาก หนักกว่าตอนนี้เยอะ ผมคิดว่าตอนนี้ถ้าเราปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันก็อาจจะเกิดแบบนั้นขึ้นก็ได้ เราก็เลยเลือกจุดที่ extreme ที่สุดขึ้นมา ภาพจะได้ชัดว่ามันคือจุดที่คนถูกรัฐทำให้แตกแยกกัน แล้วพอคนฟาดกันเองระดับนั้น รัฐก็เข้ามาฉวยโอกาส ซึ่งตอนนั้นก็เป็นเผด็จการฝ่ายขวาแบบคลาสสิกเต็มตัวแบบที่ผมว่าน่าจะขวาที่สุดเท่าที่บ้านเราเคยมี

Voice Online: ในเนื้อเพลงจะมีพูดถึง "ประเทศที่มีศิลปินวางท่าเป็นขบถ" ช่วยอธิบายตรงนี้นิดหนึ่ง

Jacoboi: ผมว่าเราทุกคน...เราก็ใกล้ชิดกับคนที่ทำงานศิลปะอะไรพวกนี้ ซึ่งเราก็จะเห็นว่าเขาจะมีมาดที่แบบเป็นขบถอ่ะ เป็นความที่แบบ “กูแตกต่างจากคนอื่น กูไม่เหมือนใคร กูไม่เชื่องอ่ะ ไม่เชื่อฟังอ่ะ” แต่ว่าเราก็จะเห็นว่าคนพวกนี้เวลาที่จะต้องเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐ เขาเชื่อฟังมาก เชื่องมาก

แล้วเขาไม่ได้เชื่องด้วยความกลัว มันคือเชื่องด้วย mindset ของเขา ผมไม่ได้บอกว่าทุกคนเป็นแบบนั้นนะ คนที่ไม่ได้เป็นแบบนั้นก็มี แต่ผมเห็นคนอย่างนี้ ที่อยู่ในหมวดหมู่ศิลปิน ศิลปินในที่นี้ไม่ว่าจะเป็นนักร้องนักดนตรี หรือว่าคนที่ทำงานศิลปะในแขนงอื่นๆ แล้วผมก็รู้สึกว่าอยากเล่าเรื่องนี้ออกมา เพราะผมว่ามันไม่มีใครพูดประเด็นนี้ออกมาตรงๆ ซะที แต่เราน่ะ เหมือนกับเราก็อยู่ในแวดวง ก็นั่งดูมันอยู่ แล้วเราก็อยากพูดถึง

Liberate P: อยากเล่าหรือว่าอยากแซะฮะ

Jacoboi: มันก็เหมือนกันแหละ

แร็ป.jpg

Voice Online: วงร็อกหรือวงพังก์ที่ทำงานในเชิงการเมือง ถือเป็นศิลปินที่วางท่าเป็นขบถด้วยไหม

Jacoboi: ผมว่าต้องดูที่เนื้อหานะ บอกก่อนว่าผมก็ไม่ใช่คนที่สามารถฟังเพลงได้ทั้งหมดทุกเพลง ไม่ต้องทั้งโลกก็ได้ แค่ในประเทศนี้ก็ไม่แล้ว เพราะฉะนั้นผมก็จะตอบตรงๆ ไม่ได้ คือว่าถ้าเราจะพูดอย่างนั้นได้มันก็ต้องดึงออกมาเป็นชิ้นๆ งานกันไปน่ะฮะ ถึงจะพูดได้

Voice Online: รู้สึกยังไงกับกระแสที่ออกมาในช่วงนี้ ที่ศิลปินสายต่างๆ ออกมาพูดกัน เช่น พวกกราฟฟิตี้ก็พูดในวิธีของเขา

ET: ความจริง ผมรู้สึกว่า ช่วงนี้ กระแสมันไม่ใช่แค่เรา ทุกคนโดนกดมาทั้งหมดใน 4 ปีนี้ แล้วมันก็เผยความแย่ออกมาเรื่อยๆ ไม่ว่าใครที่จะคิดยังไงมาก่อนหน้านี้ เขารู้สึกอึดอัด ไม่ยอม

Jacoboi: จริงๆ จังหวะในการปล่อยงานออกมาของ RAD มันเป็นจังหวะที่บังเอิญนะ มันไม่ได้วางไว้เลยว่าจะมาปล่อยตอนนี้ คือเราก็ทำมาเรื่อย ที่จริงทำมาประมาณครึ่งปี รากเลือดมากกว่าจะเสร็จออกมาได้ แต่ว่ามันเป็นจังหวะที่เหมือนกับว่า...รัฐบาลตอนนี้เขาสะสมความรู้สึกไม่ดีกับคนจำนวนมาก แม้แต่คนที่เคยสนับสนุนเขาเอาไว้เยอะพอดี มันก็เลยเหมือนกับว่า มันเข้ามาเสิร์ฟในเวลาที่พอดี

Liberate P: เหมือนเรา ‘พูดแทน’ แต่ไม่ใช่ 'ผู้แทน' นะ

Jacoboi: คนที่เขาทำงานศิลปะแขนงอื่นๆ ก็กำลังพยายามแสดงออกเหมือนกัน เพราะว่ามันก็คือ ด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่พูดไป

Voice Online: วัฒนธรรมแร็ป โดยปกติประเทศอื่นๆ จะพูดถึงเรื่องสังคมการเมืองอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา แต่ที่ผ่านมา แร็ปของไทยจะเป็นแนวปาร์ตี้ หรือแวดวงแร็ปใต้ดินอาจจะพูดถึงเรื่องนี้มาก่อนแล้ว แต่ในเมนสตรีมแทบจะไม่เห็นเลย ในฐานะที่เป็นแร็ปเปอร์ คนที่ทำงานในวงการแร็ป มองว่าเหตุผลที่แร็ปไทยไม่ได้พูดถึงสังคมการเมืองเท่าไหร่เลยช่วงที่ผ่านมา เป็นเพราะอะไร

Jacoboi: ผมว่ามันเป็นเพราะ...มันพูดได้ 2 ข้อเนอะ อันที่หนึ่ง เพราะว่าเขาเป็นคนไทย ซึ่งผมไม่ได้หมายความว่าคนไทยไม่ดีนะ แต่ว่าโดยนิสัยแล้วคนไทยเป็นคนชอบสนุก มีความสุข แล้วเราก็ทำเพลงสนุกมีความสุข มันก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ว่ากัน

Liberate P: แต่ผมว่างี้นะ จริงๆ แล้วเพลงแร็ปมันเริ่มจากปาร์ตี้มาก่อน มันเริ่มจากเพลงเต้นรำน่ะ แต่มันมีช่วงยุค 90 ที่เป็นแบบแก๊งสเตอร์แร็ปหน่อย ที่เขาจะเริ่มพูดถึงความขบถ ความ...fuck police มันเริ่มจะมีตอนนั้น แล้วพอหลังจากช่วงยุคนั้นมา พอฮิปฮอปมันเริ่มบูมเป็นกระแสขึ้นมา ผมว่าไทยเพิ่งได้จากตรงนั้นมามากกว่า คือมันได้จากตอนที่มันป๊อปแล้วน่ะครับ มันก็เลยได้รับอะไรที่เป็นแบบ...ความปาร์ตี้เฮฮามากกว่า

ET: เหมือนกับว่าการเกิดขึ้นของเพลงฮิปฮอปในไทยมันผิดไปจาก culture

Jacoboi: อีกอย่างหนึ่งคือถ้าพูดถึงงานเมนสตรีม คือเขาทำมาเพื่อเป็นสินค้า ขายให้กับคนเป็นจำนวนมาก มันก็ต้องทำออกมาในรูปแบบนั้นอยู่แล้ว ซึ่งอันนั้นเราก็ไม่ว่ากัน แต่ถามว่า ตลอดมา ทั้งอันเดอร์กราวด์และเมนสตรีมนะ มีเพลงที่เกี่ยวกับแนวสังคมการเมืองหรือเปล่า มีปนอยู่ไหม มันก็มีอยู่เรื่อยๆ นะ แต่ไม่เยอะ แต่ก็มีอยู่เรื่อยๆ

Liberate P: ผมมองว่าตอนนี้มันเป็นกระแส คือแร็ปมันเป็นกระแสในบ้านเราสูง คนก็เลยมาจับจ้องกันมากกว่า

ET: แต่ว่าจะว่าไป ผมมีประเด็นย่อยๆ อันหนึ่ง ก็คือผมรู้สึกว่าตัวแนวเพลงในปัจจุบันนี้มันเกิดสิ่งที่เรียกว่า mumble rap มันทำให้เพลงที่จะร้องออกไป มันก็สื่อสารออกไปยากด้วย เพราะว่าตัวเพลงสไตล์นี้มันถูกดีไซน์ออกมาเพื่อให้มีเนื้อร้องน้อย บรรยากาศเน้นเอ็นเตอร์เทน มันก็ยิ่งทำให้เกิดการพูดตรงนี้น้อยลง

Jacoboi: เพราะว่ามันเป็นสไตล์ที่ทำให้เราพูดหรือเล่าเรื่องได้ไม่มาก

ET: ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดนะ เพราะทุกเพลงมันก็มีฟังก์ชันของมัน เราก็แค่อยากเปิดอีกแบบหนึ่งให้เห็นว่ามันมีแบบนี้ด้วยนะ

Liberate P: การที่เราทำเพลงแบบนี้ออกมา มันไม่ใช่ว่าเราจะไปชี้หน้า บอกว่าคนทำเพลงครื้นเครงผิด อะไรอย่างนี้ แค่เราจะบอกว่ามันก็มีอย่างนี้เหมือนกัน มันมีทางเลือก คือมันเหมือนเพลงทางเลือกหนึ่งมากกว่าที่จะบอกว่ามันเป็นแค่ความบันเทิงอย่างเดียว

Jacoboi: มันเป็นเพลงแบบที่เราก็อยากฟังน่ะ พอมันไม่มีคนทำ เออ...กูก็เลยทำเอง อะไรประมาณนั้น

ET: ซึ่งถ้ามีคนอยากทำเราก็สนับสนุนนะ เราจะยินดีมากเลยที่มีคนตื่นตัวอยากจะทำ

Jacoboi: ถ้าสมมติว่าผมเกิด...พรุ่งนี้ถูกหวย 30 ล้านขึ้นมา ผมก็ยินดีจะ funding ให้กับคนที่ทำงานพวกนี้ แต่ตอนนี้ไม่มีนะครับ

Liberate P: นี่จะผันตัวเป็นนายทุนแล้วเหรอครับ

Jacoboi: ถ้ามีผมแจกฟรีเลยครับ

6 ตุลา

(กราฟฟิตี้ 'เก้าอี้ฟาด' ที่ท่าพระจันทร์ หนึ่งในศิลปะข้างถนนที่สะท้อนภาพการเมืองไทย)

Voice Online: อยากถามถึงเรื่องทุนว่า คราวนี้ดูมีโปรดักชั่นจริงจังมากกว่าที่ผ่านมา หาทุนมาจากไหน-ยังไง

Jacoboi: ถ้าพูดถึงทุนในความหมายที่เป็นตัวเงินเลย ว่ามีเงินมา แล้วก็เอาไปจ่ายได้เนี่ย คำตอบคือไม่มีครับ แต่ว่าโปรดักชั่นทั้งหมด ถามว่าถ้าคิดเป็นตัวเงินมันสูงไหม ก็เยอะอยู่นะ แต่ว่ามันเกิดจากการที่เรามีอาสาสมัคร ใช้คำว่าอาสาสมัครก็ได้นะ แต่พูดให้ตรงกว่านั้นคือเราไป 'ขอแรง' เขามา ขอแรงเขาว่าเรามีคอนเน็กชั่น เรารู้จักคนที่เขาทำงานทางด้านนี้ๆ เข้ามาช่วยเหลือกันได้ แล้วก็ประกอบร่างกันขึ้นมา จนมันเสร็จ ออกมาเป็นตัวนี้ มันถึงได้นาน ทำอยู่ครึ่งปี เพลงเดียว ไม่งั้นมันก็คงเสร็จภายในสองเดือนแล้วครับถ้ามันมี funding จริงๆ

Liberate P: อันนี้ผมอยากบอกเลยว่า ถ้าคิดว่าพวกเรามีทุนน่ะนะ มันจะไม่นานขนาดนี้ คือจริงๆ โปรเจกต์นี้มันเริ่มเป็นเกือบเกินครึ่งปีอีกเนอะ

Jacoboi: เกินๆ ตั้งแต่เริ่มทำเดโมจนถึงเสร็จ ปล่อยมิวสิกวิดีโอก็คือครึ่งปี แต่ที่รวมคุยงานก่อนหน้านั้นอีกก็เกิน

Liberate P: อันนี้ไม่ได้นับจากเพลงที่ผมเคยปล่อยเมื่อสองปีที่แล้วนะ อันนี้คือว่าเริ่ม ตอนเริ่มใหม่เลยนี่ ใช้เวลาเกินครึ่งปี 6 เดือนขึ้นไป

ET: ซึ่งจริงๆ มันดีมากเลยนะ ขอบคุณมากจริงๆ คือมันกลายเป็นว่าเราหาเพื่อนมาช่วยได้ง่ายนะ ด้วยความที่ว่าไอเดียการเมืองมันค่อนข้างชัดขึ้นด้วยช่วงนี้ พอเราขอความช่วยเหลือจากหลายๆ คน...

Liberate P: เขาก็โอเค

ET: แล้วมันก็ง่ายจนเราตกใจว่า โอ้...คนนี้เขาอาจจะเคยคิดต่างจากเรา เขายังช่วยเราเลย

Liberate P: อย่างที่บอกไปข้างต้นนะครับว่า เราไม่ได้ทำออกมาเพื่อเราจะเฮโลกันแค่ฝ่ายเดียวกัน

Jacoboi: คือแบบทำเพลงออกมาแล้วคนความคิดตรงกันฟังแล้วมีความสุขกันเอง...

Liberate P: แบบนั้นมันไม่ใช่เลย

Jacoboi: เราอยากพูดกับทุกคน

Liberate P: พอเรารวมกลุ่มขึ้นมาเป็น RAD ได้ เราก็เริ่มยิงหาศิลปินที่เราจะชวนเข้ามาเป็นเกสต์แล้วว่า เราจะชวนใครบ้าง ซึ่งสิบคนนี้เราไม่จำกัดเรื่องไอเดียทางการเมืองเลยครับ ใครจะแบบไหน เราโอเคหมด

Jacoboi: ผมคิดว่าไอ้การบอกว่าเป็น Rap Against Dictatorship พอเอา Against Dictatorship (ต้านเผด็จการ) ตั้ง อันนี้ตัดแร็ปเปอร์ 10 คนที่อยู่ในเพลงออกไปเลยนะฮะ เอา Against Dictatorship ตั้ง แล้วพูดด้วยคอนเซ็ปต์ว่า 'ประเทศกูมี..' อะไรบ้าง ผมคิดว่าไม่ว่าคุณจะใส่เสื้อสีไหน คุณพูดได้ในมุมมองของคุณได้หมดเลย แล้วผมว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่ทุกคนจะได้แสดงทัศนคติของตัวเองออกมาแลกเปลี่ยนกัน

ET: มันเลยทำให้เขาอยากเข้ามาจอยกับเรา โดยที่ไม่ต้องไปใช้ค่าใช้จ่ายอะไร ประมาณนี้น่ะครับ

Jacoboi: มันง่ายมากเลย คุณก็แค่เปิด backing track แล้วคุณก็ร้องออกมาเลย มันไม่มีอะไร

Liberate P: พวกเรื่องทุนเรื่องอะไรมันก็เลยยังไม่เป็นแบบเรื่องซีเรียสขนาดที่ต้องหาเงินมา

Jacoboi: ถ้าคุณดูแล้วอยากให้เรามีทุนทำอะไรต่อ สามารถฟันดิ้งเราได้นะครับ ง่ายๆ ครับ เริ่มจากเวลาดูยูทูบ เจอโฆษณาแล้วอย่าเพิ่งกดข้ามนะครับ

Liberate P: อันนี้พูดจริงๆ มันจะได้เงินบวกนะครับ อย่ากดข้ามเป็นอันขาดเลย

Jacoboi: ดาวน์โหลดสตรีมมิ่งก็ได้นะครับ จะโหลดเถื่อนก็ไม่ว่าครับ แต่ว่าถ้าโหลดของจริงได้ก็ดี

Liberate P: เจอหน้าเลี้ยงข้าวได้ครับ

ET: ขนาดนั้นเลยนะ

Voice Online: กรณีที่มีคนพูดหรือเชื่อว่า “ศิลปะหรือดนตรีไม่ควรจะรับใช้การเมือง” ซึ่งก็มีคนที่คิดอย่างนี้จริงๆ หรือสมมติมีคนมองว่าช่วงนี้มีกระแสแบบนี้แล้ว ‘โหน’ เรื่องแบบนี้ เพื่อให้ได้เป็นที่รู้จัก จะอธิบายอย่างไร

Jacoboi: เริ่มจากเรื่องรับใช้การเมืองก่อนนะฮะ ศิลปะ...

ET: มันรับใช้อยู่แล้ว

Jacoboi: ศิลปะ โดยตัวของมันเอง ตั้งแต่มันถูกสร้างขึ้นมาในโลก ไม่รู้กี่พันปี มันมีการเมืองในตัวมันเองอยู่ เป็นการเมืองมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว แม้แต่ในวงการศิลปะเอง การแย่งชิงนิยามต่างๆ ของศิลปะ อันนี้ไม่ต้องพูดถึงการเมืองระดับรัฐเลยนะ แค่ในวงการศิลปะเองที่อธิบายว่าศิลปะแนวนี้แขนงนี้มันต้องเป็นแบบไหนอะไรยังไง นี่มันก็การเมือง แล้วมันก็เป็นการเมืองมาโดยตลอด

ET: ผมว่าแม้แต่วัฒนธรรมมันก็อยู่กับการเมือง วัฒนธรรมกับการเมืองตอนนี้มันก็ผสมกันไปแล้ว

Jacoboi: พูดถึงงานของ RAD ก็ได้ มันแค่พูดการเมืองในเรื่องระดับรัฐแค่นั้นเอง แต่ว่าไม่ได้พูดการเมืองในเชิงอื่น แต่คุณบอกว่าคุณไม่ได้พูดเรื่องการเมืองระดับรัฐ คุณก็พูดการเมืองในแบบอื่น ซึ่งมันก็เป็นเรื่องของอำนาจทั้งนั้นน่ะ

Liberate P: ผมว่าคนที่คิดอย่างนี้ พยายามจะแยกคำว่า การเมือง ออกจาก สังคม น่ะ การเมืองในความหมายเขาคือคนใส่สูทผูกไทนั่งอยู่ในสภา นั่นน่ะคือ การเมือง

ET: แต่จริงๆ น่ะ ไอเดียของโปรเจ็กต์นี้คือเราหลีกเลี่ยงการ naming คน เพราะรู้ว่ามันไม่ได้เป็นผลดี อย่างด่า ‘สลิ่ม’ ด่า ‘เสื้อแดง’ อะไรอย่างนี้ เราหลีกเลี่ยง

Jacoboi: มันเป็นสิ่งที่เราคุยกันตั้งแต่แรก แต่มันก็อาจจะไม่สามารถทำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าถึงที่สุดแล้วเราก็ต้องทำเพลงแนวนี้ โดยเฉพาะแนวสังคมการเมืองมันก็ต้อง based on สถานการณ์การเมืองประมาณหนึ่ง แต่ว่าโดยความตั้งใจเราอยากให้มันขึ้นอยู่กับหลักการ (ideology based) มากกว่าขึ้นอยู่กับประเด็น (issue based) คือให้ตัวอุดมการณ์ ตัวความคิด เป็นตัวหลักในการเล่าเรื่อง เพราะว่าโอเค เวลาเราพูดเรื่องความคิดเปล่าๆ มันทำแล้วมันยากไง เพราะฉะนั้นมันก็ไม่แปลกที่จะต้องเอาเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นจริงเข้ามาเสริมตรงนี้ เพื่อจะมาเล่าเรื่องให้ชัด ให้ภาพมันชัดขึ้น

RAD-Rap Against Dictatorship-MV.JPG

Voice Online: ก่อนหน้านี้พูดเรื่องการอยากสื่อสารกับคนชั้นกลาง อีกทางหนึ่งก็บอกว่าเมนสตรีมเขาก็จะไม่ฟังอะไรแบบนี้ แล้วเราจะหาคนชั้นกลางที่ไม่เมนสตรีมได้ยังไง คนฟังของคุณคือใคร

Liberate P: เราไม่ได้บอกว่าชนชั้นกลางไม่ได้ฟังอะไรพวกนี้นะฮะ ผมว่าแค่มันยังไม่มีอะไรแบบนี้ไปเสิร์ฟให้เขามากกว่า แล้วถึงมันมี มันมีแบบที่ไม่ได้แตะต้องไปถึงโครงสร้างน่ะฮะ มันเป็นแค่แบบเปลือกของเรื่องราวที่พูดไปเท่าไหร่มันก็ได้แค่ความสะใจ แต่อันนี้เราพยายามที่จะทำให้คนที่ฟังเขาฉุกคิดได้ว่ามันเป็นรูปแบบโครงสร้างอะเนอะ มันไม่ใช่ว่าถ้าคนนี้ทำผิด แล้วคนนี้ออก ทุกอย่างมันเคลียร์อย่างนั้นน่ะ แต่มันมีผลไปถึงทุกอย่างว่าทำไมคนนี้มันถึงทำผิดได้ อะไรอย่างนี้ฮะ เพราะอะไร ทำไมเขาถึงมีนาฬืกายืมเพื่อนได้

Jacoboi: ถ้าพูดถึงตัวเมนสตรีมอย่างที่เมื่อกี้พูดไปว่า งานเมนสตรีมมันออกมาสนุกสนาน เพราะมันขายง่าย ใช่ แต่ไม่ได้แปลว่า ไอ้สินค้าแบบอื่นที่ไม่ได้เป็นแบบนั้นจะขายไม่ได้ มันอาจจะขายยากกว่า แต่ว่า ผมคิดว่า มันก็เคยมีสินค้าที่ก่อนหน้านี้ไม่มีคนซื้อ แล้วทุกวันนี้คนก็ใช้กันเต็มบ้านเต็มเมืองเป็นเรื่องปกติ แล้วก็อันนี้พูดแบบอหังการ์เลยนะว่าที่เราทำอย่างงี้ ถ้าเห็นว่าโปรดักชั่นมันได้ มันก็ได้เท่าที่เห็น ก็ถือว่าดีที่สุดเท่าที่เราสามารถทำได้ ความตั้งใจของ RAD เราไม่ได้ต้องการเป็นใต้ดินนะ เราต้องการเป็นเมนสตรีม เพราะเราต้องการพูดกับคนทั่วไป พูดกับคนทุกคน

Liberate P: ให้มากที่สุด

ET: ในความเป็นจริง เพื่อนๆ ที่เราชวนมาทำ เขาเป็นคนเมนสตรีมนะครับ เขาก็ทำเพลงปาร์ตี้นั่นแหละ แต่ว่ามันอาจจะไม่มีพื้นที่ให้เขา

Jacoboi: อย่างแร็ปเปอร์บางคนที่อยู่ในมิวสิกวิดีโอ ผมจะไม่เอ่ยชื่อนะ ผมจะเอ่ยชื่อเฉพาะคนที่มานั่งอยู่ที่นี่ก็แล้วกัน เพลงที่เขาเคยออกมาก่อนหน้านี้ทุกเพลงเป็นเพลงน่ารักๆ ทั้งนั้นเลย เพลงนี้เป็นเพลงแรกเลยที่จับมันมาร้องโหด แล้วมันก็ทำได้ดี

Liberate P: หรือบางคนก็อาจจะร้องโหดอยู่แล้ว แต่ไม่เคยแตะเรื่องการเมือง เราก็ชวนเขามาทำอะไรอย่างงี้ กลายเป็นว่า บางคนไม่เคยทำเพลงการเมือง แล้วแนวความคิดทางการเมืองต่างจากเราด้วยนะ แต่พอเราอธิบายว่าเรากำลังทำอะไรให้เขาฟัง กลายเป็นว่าเขาสามารถวิพากษ์ตรงนี้ได้ จนมันออกมาเป็นเนื้อหาที่เรายังตกใจว่า เห้ย เขาแต่งได้ขนาดนี้ ในขณะที่ความคิดเขาเคยคนละขั้วกับเราไปเลย

Voice Online: คิดว่าทำไมศิลปินถึงไม่ค่อยสื่อสารเนื้อเพลงที่เป็นเชิงวิพากษ์เรื่องทางการเมือง

Jacoboi: ผมว่าไม่ใช่เพราะศิลปิน ผมว่าคนไทยไม่ค่อยมีความคิดเชิงวิพากษ์อยู่แล้ว เราอยู่ในสังคมที่ไม่ได้ถูกสอนให้วิพากษ์ แต่มันก็มีคนจำนวนหนึ่งที่คิดเชิงวิพากษ์ ซึ่งผมว่าพวกนี้มันก็เหมือน...อย่างที่ผมพูดว่า เราตั้งใจอยากให้ RAD เป็นเมนสตรีม ของพวกนี้มันก็เหมือนเชื้อโรค คุณต้องพยายามแพร่มันออกไปก่อน แต่มันจะไปฝังตัว ไปติดอยู่กับใครบ้างเราไม่รู้ แต่ว่าถ้าโดยพื้นฐาน เราก็ต้องยอมรับว่า บ้านเราไม่ได้เป็นประเทศที่ผู้คนส่วนใหญ่มีความคิดเชิงวิพากษ์ มันก็เป็นสิ่งที่ต้องสร้าง ถ้าคุณอยากจะให้มันเป็น

ET: ผมรู้สึกอยากจะเสริมว่า ประเด็นเรื่องว่ากลัวไหม ผมว่ากลัวว่ะ ผมว่าศิลปินกลัวไหม ความจริงคือมันกลัว เพราะมันน่ากลัวจริงๆ

Liberate P: เพราะมันถูกโฆษณาชวนเชื่อมาด้วยว่า ห้ามพูด ผมว่าหลักๆ มันมี 2 เรื่อง มันมีความห้ามพูด กับความน่าเบื่อ คือเซ็ง เรื่องการเมืองเป็นเรื่องน่าเบื่อ เซ็ง

Jacoboi: การเมืองถูกทำให้ ไม่รู้นะ ผมเป็นเด็กยุค 90 ไม่ใช่วัยรุ่นยุค 90 นะ เป็นเด็กยุค 90 แล้วผมโตมากับการดูวิดีโอตลก คุณจะเห็นว่า ในมุกตลกของตลกคาเฟ่ที่เขาเล่น แค่คุณเอ่ยชื่อนักการเมือง เขาก็จะพูดถึงคุกกันแล้ว ทั้งที่มันไม่มีทางติดคุกในการเอ่ยชื่อนักการเมือง แต่นั่นมันคือวัฒนธรรมที่คนเขารู้สึกแบบนั้นไง ถึงเล่นมุกแบบนั้นออกมาได้ คนดูแล้วแม่งขำ

ET: มันเหมือนโดนกดมาโดยกมลสันดานแต่แรกว่ามันต้องเป็นแบบนี้

Jacoboi: ว่าพวกนักการเมือง เขาเรียกว่าเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้มีอำนาจ แล้วเราก็เป็นผู้น้อยที่ต้อยต่ำไป

Liberate P: ทีนี้พอใครพูดการเมืองหรืออะไรที่เป็นแบบผิวมาก มันก็มีความขบถ เหมือนท่อนที่ Jacoboi บอกว่า “ศิลปินวางท่าเป็นขบถ” อันเนี้ยคือความหมายนี้ คือพยายามจะพูด พยายามจะบอกว่าตัวเองขบถ แต่จริงๆ แล้วตัวเองเชื่องไปเลย

Voice Online: สุดท้าย อยากฝากอะไรถึงคนดูบ้าง หรือจะขายของก็ได้

Liberate P: ผมขอฝากถึงคนดูก่อนแล้วกัน คือที่เราทำมาทั้งหมดเนี่ย เราไม่ได้ทำแค่สะใจ เราไม่ได้ต้องการด่ารัฐด้วยความโมโหหรือโกรธอย่างเดียว โอเค โกรธแน่นอน มันมีความอัดอั้นแน่นอน แต่สิ่งที่เราอยากสื่อสารกับพวกคุณมากที่สุด มันคือ เราอยากให้พวกคุณตื่นตัว อย่างน้อยๆ ข่าวการเมือง คุณลองตามสักนิดนึง เริ่มตามว่ามันเกิดปัญหาอะไรขึ้นในประเทศเราจริงๆ ปัญหามันเกิดจากอะไรจริงๆ ลองวิเคราะห์

แล้วถ้าสมมติว่า ใครตามแล้วรู้สึกชอบ อยากลงลึกไปอีก คุณก็สามารถลงลึกไปได้ ซึ่งผมอยากให้เกิดอะไรแบบนี้ขึ้นมา คือทางเราก็อยากให้คนเข้ามาสนใจการเมืองมากขึ้น อยากให้รู้สึกว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว มันเป็นเรื่องที่ แค่บ่นว่านักเรียนโดนไถหัว ผมว่าอันนี้ก็เป็นการเมืองแล้ว

Jacoboi: การเมืองมันเป็นเรื่องการจัดการความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างคนกลุ่มต่างๆ

Liberate P: จริงๆ ผมอยากเรียกว่าสังคมการเมืองมากกว่า ผมว่าสองคำนี้มันเป็นคำเดียวกัน มันสัมพันธ์กัน มันเป็นสังคมการเมืองที่ไม่ว่าคุณจะเดินไปตลาด คุณซื้อของข้างทาง มันก็คือการเมืองแล้ว เมืองที่มันมีแผงเร่ขายตามฟุตบาท ทุกอย่างมันเป็นหมด

Jacoboi: นอกเหนือจากที่เราจะสื่อสารกับคุณแล้ว เราอยากให้คนฟังสื่อสารกับเราเหมือนกัน ตอนนี้ เรามีโปรเจ็กต์อยู่ว่าอยากจะทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้คนฟังสามารถสื่อสารกลับมาหาเราได้ ไม่ใช่แค่ว่าสื่อสารกลับมาหาเรา เพราะแปลว่าคุยแค่กับเรา แต่ให้คุณสื่อสารในแบบของคุณไปสู่คนอื่นด้วย ก็เดี๋ยวจะมีกิจกรรมให้คนเข้ามามีส่วนตร่วม แต่ตอนนี้ผมขอยังไม่เปิด

ET: แล้วก็อยากฝากเพิ่มอย่างหนึ่งว่า ตอนนี้มันมีพื้นที่ทางการเมืองที่เราทำเพลงแร็ปเกี่ยวกับการเมืองมาได้แล้ว ก็อยากให้ทุกคนที่มีอะไรในใจอยากจะพูด ช่วยกันพูดมันออกมา เพราะเรามีกันกลุ่มเล็กๆ เอง ถ้าเทียบกับสัดส่วนศิลปินฮิปฮอปแล้ว มันไม่ได้เยอะมากขนาดนั้น ถ้าเราเห็นมันเป็นปัญหาจริงๆ ก็ช่วยกันขึ้นมาทำ จริงๆ มันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น มันน่ากลัวเพราะว่าเรามีจำนวนน้อย

Liberate P: ใช่ ผมว่าคนที่พูดการเมืองมันไม่ได้ต้องพูดขาดกับใครคนใดคนหนึ่ง เช่น ผมมักจะได้ยินว่า ถ้าเพลงการเมืองต้องคนนี้เลย ผมว่ามันไม่ใช่แบบนั้น มันจะใครพูดก็ได้ แต่ปัญหาสำคัญก็คือว่า คุณต้องพูดในแง่ที่มันสามารถจับไปที่โครงสร้างมันให้ได้

Jacoboi: เวลาที่เราสนใจเรื่องสังคมการเมือง สิ่งหนึ่งที่เราเสนอผ่านศิลปะแล้วมันก็คือศิลปะชนิดหนึ่ง มันก็คือสื่อสาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการแสดงออก ดังนั้น คนที่ทำงานในเชิงศิลปวัฒนธรรม ถ้าคุณไม่สนใจในประเด็นเหล่านี้ คุณไม่มีทางรู้หรอกว่าสิ่งที่คุณรู้สึกว่าพูดได้อย่างปลอดภัยในวันนี้ ในอนาคตแม่งอาจเป็นสิ่งที่ห้ามพูดก็ได้ ถ้าคุณไม่รักษาเสรีภาพในการแสดงออกไว้ คุณอาจจะถูกอุดปากในเรื่องอะไรก็ไม่รู้ เมื่อไหร่ก็ได้ ผมว่าเรื่องนี้เป็นข้อตกลงร่วมกันที่ศิลปินทุกแขนงต้องร่วมกันได้

Liberate P: มันคล้ายกับช่วงปี 2516 ที่ความคิดมันเสรีกว่า ในขณะที่พอหลังจาก 2516 มาเรื่อยๆ มันก็เริ่มแคบลงๆ จนกลายเป็น ใครพูดก็มีมุก “กินอะไรไหมครับ”

ET: “เดี๋ยวไปซื้อโอเลี้ยงไปฝาก” มันก็ต้องช่วยกันรักษาขอบเขตของเรา

Liberate P: คือบางคนคิดว่า ก็กูไม่ได้สนใจประเด็นเรื่องสังคมการเมือง กูก็ทำงานในประเด็นที่กูสนใจ ไม่ผิดนะครับ แต่คุณต้องเข้าใจนะว่า ถ้าคุณไม่รักษา ไม่สนประเด็นนี้เลย สักวันมันจะเข้ามาเล่นคุณเองก็ได้ ไอ้ประเด็นที่คุณคิดว่า กูสนใจแล้วมันไม่มีอำนาจเข้ามายุ่งเกี่ยว ถ้าอำนาจมันเข้ามายุ่งเกี่ยวเมื่อไหร่ คุณก็จะฉิบหายเมื่อนั้น

ET: จะขายของอะไรไหม?

Jacoboi: ก็ยูทูบนะครับ เข้าไปดูกันได้ ถ้ามีโฆษณาก็ทนดูกันนิดนึง อย่าเพิ่งกดข้าม สามารถโหลดเพลงได้ที่ iTunes, Apple Store, Joox Music, Spotify คือฟังได้หมดทุกที่ ถ้าอยากให้คนเห็น อยากให้เราได้รับการพูดถึง ได้ยินมากขึ้นก็ แนะนำว่า iTunes ก็มีประโยชน์ เพราะมันมีชาร์ต

Liberate P: โหลดให้ขึ้นที่หนึ่งหน่อยครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: