“พอออกมาสู่สังคมปกติแล้ว ก็ยังไม่ได้เอาเพลงไปทำหรือไปร้องสู่สาธารณะให้คนฟัง เลยจะเอาช่วงนี้แหละ ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เอาเพลงผมที่ได้เขียนได้แต่งข้างในสู่สาธารณะ สู่สายหูสายตาประชาชน” แบงค์ - ปฏิภาณ ลือชา หมอลำเจ้าของฉายา “บักหนวดเงินล้าน” กล่าวระหว่างซ้อมเพลงกับวงดนตรี
ไม่กี่ชั่วโมงให้หลัง สิ่งที่เขาทุ่มเทฝึกซ้อมมาเพื่อ ‘Fairly Tell Founding and the หมอลำ ม่วนคัก คอนเสิร์ต’ ที่ตั้งใจระดมทุนไปพัฒนาศักยภาพอดีตผู้ต้องขัง ได้ถูกยกเลิก โดยผู้จัด Fairly Tell ชี้แจงทางเฟซบุ๊กว่า ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกดดันไม่ให้จัดงาน แม้ว่าจะย้ายสถานที่จัดงานถึงสองครั้งแล้วก็ตาม
มันสร้างความงงว่า มันน่ากลัวขนาดนั้นเลยเหรอ กลัวหมอลำ กลัวทำไม
โดยหมอลำหนุ่มได้ให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ทีวีก่อนวันงานว่า หลังจากคืนสู่อิสรภาพในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว วงการหมอลำได้เปลี่ยนไปไม่น้อย จนทำให้เขาต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
“ปีนึงที่ออกมาก็เปลี่ยนไปเยอะ ปัญหาด้านเศรษฐกิจด้วย หมอลำก็งานน้อยนะครับ งานใหญ่ๆ งานวัดจ้างไป 3-5 หมื่น เดี๋ยวนี้แค่ 5-6 พันก็ไป รำแบบเล็กน้อย 2-3 พันก็ไป ก็พออยู่ได้ เดือนนึงมีสัก 10 งานก็พอเลี้ยงตัวเองได้ จ่ายค่าห้องได้” แบงค์กล่าว
พร้อมยอมรับว่าการเคยถูกจองจำเป็นอุปสรรคไม่น้อยในการหาเลี้ยงชีพ แม้ว่าเขาจะพยายามปรับตัวเข้ากับสังคมเพียงไรก็ตาม
“ปรับตัวอยู่แล้ว ออกมาปั๊บก็ปรับตัวปั๊บ แต่ว่าสังคมเรานี่มันไม่ได้ปรับตัวที่จะต้อนรับเราไง หรือที่จะให้คุณค่าของเราเหมือนก่อนที่เราจะเข้าไป นี่ผมออกมาครบ 1 ปีเต็ม ๆ ก็มีความยากลำบากอยู่ คือว่าเราไปทำงานไม่ได้ ทำงานที่เป็นหลักแหล่งไม่ได้ เราจะไปดาวน์รถหรือทำอะไรที่เป็นสถาบันการเงินก็ไม่ได้ แม้แต่จะไปสอบใบขับขี่นี่ยังยากเลยนะครับ ก็ได้หมอลำที่เลี้ยงปากเลี้ยงคอตัวเองมาถึงทุกวันนี้”
หมอลำยังเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจแบงค์ในช่วงเวลาที่มืดหม่นที่สุดในชีวิต
“เราถูกทำลายความเป็นเราโดยการที่เราถูกนำพาไปให้ติดคุก แล้วการติดคุกมันทำลายเราจนเราเองคิดว่า เราจะออกไปก็อยู่ไม่ได้อีกแล้ว มันทำลายความคิด ความรู้สึกเรา จนบางอย่างเราก็ตายด้านไป” แบงค์กล่าว “แต่ว่าดนตรีหมอร้องหมอลำได้กล่อมเกลาเรา อยู่ข้างในนี่มันทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองยังมีศักยภาพอยู่ ยังคิดได้ ยังทำอะไรได้อยู่ มากกว่าที่จะคิดว่าตัวเองไปไม่ได้อีกแล้ว อย่างน้อยผมก็คิดได้ เขียนได้ เขียนกลอนลำได้ มันเหนือทุกอย่างเลย มันเหนือยิ่งกว่ากำแพงคุก แม้แต่ผมออกมาแล้วมันก็เหนือกว่าทุกอย่างเลย เหนือกว่าคำครหาของสังคม คือมันเป็นตัวเรา มันเป็นชีวิตเราไปแล้ว”
ปัจจุบัน แบงค์เดินสายแสดงหมอลำในแถบอีสาน โดยเฉพาะขอนแก่น กาฬสินธุ์ เลย และร้อยเอ็ด เขาเล่าว่าหลงใหลในมนต์เพลงอีสานมาตั้งแต่เด็ก จึงเลือกเรียนโปงลางสมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษา และตัดสินใจเรียนต่อเอกหมอลำ ในคณะศิลปกรรมศาสตร์ แม้ว่าชีวิตการเรียนจะขาดหายไปกว่า 2 ปีระหว่างต้องขัง แต่แบงค์ตั้งใจว่าจะรับปริญญาตรีใบนี้ให้สำเร็จภายในปี 2561
“การได้เป็นศิลปิน ได้ทำงานศิลปะ เป็นเป้าหมายอันสูงสุด ทุกวันนี้ก็ถือว่าบรรลุแล้ว แฮปปี้ มีความสุขดี” แบงค์กล่าวพร้อมยิ้มกว้าง
แบงค์ มีชื่อจริงว่าปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ในปี 2556 เขาร่วมแสดงละครเวทีเรื่องแรกที่ส่งผลให้เขาตกเป็นนักโทษทางการเมือง ร่วมกับ กอฟ - ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ที่ร่วมแสดงและเขียนบท การแสดงนั้นมีชื่อว่า ‘เจ้าสาวหมาป่า’
หลังได้รับอิสรภาพ กอฟตัดสินใจก่อตั้งกลุ่ม Fairly Tell ขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคมปีที่แล้ว เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาอดีตนักโทษทางด้านจิตใจผ่านศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นโยคะ หรือการใช้กระบวนการละครขจัดความคิดเชิงลบ รวมถึงการรับบริจากร่วมทำลิปสติกให้ผู้ต้องขังหญิงกับเพจ SisWalk SisTalk ที่ทำให้สังคมถกเถียงถึงสิทธิของผู้ต้องขังสตรี นอกจากนั้น ยังสะท้อนเรื่องราวหลังกรงขังหญิงในไทยให้องค์กรนานาชาติได้รับรู้ ผ่านรายงานของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และ CEWARW
“มี 2 ส่วนที่เราดูแลคือ อดีตนักโทษหญิงที่โดนคดีอื่น ๆ ที่ trauma ไม่มั่นใจตัวเอง ไม่รู้จะออกมาทำอะไร และเพื่อน ๆ นักโทษการเมือง ทำไปคู่กัน จริงๆ ไม่อยากแยก 2 กลุ่มออกจากกันเพราะอยู่ในคุกแล้วคนรวมกันหมดเลย” กอฟกล่าว
ภรณ์ทิพย์ มั่นคง (กอฟ) ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Fairly Tell
“เป็นเรื่องที่เราอยากทำเพราะสุดท้ายแล้วรัฐไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้เยียวยาอะไร ไม่ว่าจะเป็นนักโทษการเมืองหรือนักโทษทั่วไป คือมันมีข้อกังขาอยู่ว่าคุกหรือเรือนจำมันฟอกคนให้กลายเป็นคนดีได้จริงหรือเปล่า มันไม่เคยมีใครมาบอกว่าคนกี่เปอร์เซ็นต์เข้าไปกระทำผิดซ้ำ เพราะว่าเขาไม่ได้โอกาสจากข้างนอก เขาไม่ได้รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับข้างนอก เพราะฉะนั้นมันก็เป็นการดูแลเรื่องจิตใจก่อน และ Support เรื่องอาชีพ คนออกจากคุกมาเนี่ย เรื่องการสมัครงานก็ยากแล้ว เรื่องที่สอง ทุนก็ไม่มี ถ้าเป็นคนที่บ้านไม่มีตังค์ เขาก็ไม่มีทุนทำอะไร”
กอฟและทีมงานจึงพยายามระดมทุนด้วยการนำเสื้อผ้ามือสองและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มาแบ่งปันกันให้คนในกลุ่มขาย แต่เธอก็ยอมรับว่าขณะนี้ระบบจัดการยังไม่เสถียรเท่าไร เนื่องจากว่าทีมงานล้วนมีภารกิจประจำต้องรับผิดชอบ
“Fairly Tell ไม่ใช่ องค์กร NGO ที่ขอทุนแล้วก็ได้งบมาทำโครงการแล้วทุกคนมีเงินเดือน ก็พยุงกันแบบที่แต่ละคนไหว บางทีเราก็ถูกปฏิเสธ เยอะ” กอฟกล่าว “พอเราถูกปฏิเสธก็เหมือนเป็นการย้ำว่า ไม่ได้มีใครสนใจเรื่องนักโทษจริง ๆ หรอก ไม่ได้มีใครสนใจชีวิตพวกเขาหลังจากออกจากคุกจริง ๆ หรอก มันก็จะเป็นการย้ำ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ ว่าคนพวกนี้ไม่ได้มีค่าอะไรหรอก เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ซ้ำแผลตัวเอง พยายามไม่ขอ เพราะเวลาถูกปฎิเสธอีก มันก็จะมาทำร้ายเราเรื่อย ๆ คือก็ต้องเยียวยาตัวเองเหมือนกัน”
กอฟและทีมงานจึงเลือกจัดงานครบรอบ 1 ปีของกลุ่ม Fairly Tell ด้วยการแสดงหมอลำจาก ‘บักหนวดเงินล้าน’ เพื่อถ่ายทอดบทเพลงที่แต่ขึ้นหลังกำแพง
“เชื่อว่าดนตรีหมอลำมีความเป็นขบถในตัวเองอยู่ และเป็นดนตรีของคนชั้นล่างที่ถูกจำกัดโดยกลุ่มคนที่เป็นฝ่ายปกครองหรืออะไรก็แล้วแต่ เราก็อยากที่จะเล่า” กอฟกล่าว “ที่สำคัญคือตอนที่อยู่ในเรือนจำ แบงค์เขียนกลอนลำเยอะมาก ถ้ามันไม่ได้ปล่อย มันไม่ได้ สิ่งที่เขากลั่นออกมาในตอนนั้นมันควรที่จะได้แสดงออก ควรนำเสนอ”
อยู่ข้างในนี่มันทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองยังมีศักยภาพอยู่ ยังคิดได้ ยังทำอะไรได้อยู่ มากกว่าที่จะคิดว่าตัวเองไปไม่ได้อีกแล้ว อย่างน้อยผมก็คิดได้ เขียนได้ เขียนกลอนลำได้ มันเหนือทุกอย่างเลย มันเหนือยิ่งกว่ากำแพงคุก แม้แต่ผมออกมาแล้วมันก็เหนือกว่าทุกอย่างเลย เหนือกว่าคำครหาของสังคม คือมันเป็นตัวเรา มันเป็นชีวิตเราไปแล้ว
กอฟเล่าว่า เดิมบัตรคอนเสิร์ตนี้ขายได้น้อยมาก แต่หลังจากประสบปัญหาด้านสถานที่จัดงานในครั้งแรก บัตรจำนวน 120 ที่ได้ถูกจำหน่ายจนหมด ซึ่งถือเป็นการแสดงพลังเพื่อปกป้องผู้ที่พยายามลุกขึ้นยืนด้วยตัวเองในสังคม
“มันสร้างความงงว่า มันน่ากลัวขนาดนั้นเลยเหรอ กลัวหมอลำ กลัวทำไม พอเปลี่ยนสถานที่จัดงานก็มีฝ่ายข่าวมาพูดว่าพวกนี้รับเงินนักการเมือง พวกนี้ออกมาเคลื่อนไหว คือ (ยกมือไหว้) พี่คะ ช่วยไปดู statement หนูก่อนจะพูดอะไรได้ไหมคะ เพราะว่าเอาเข้าจริงเราก็ถูกปฏิเสธจากคนฝั่งการเมืองเหมือนกัน ไม่มีใครอยากมายุ่งกับพวกเราหรอก” กอฟกล่าว
“เราก็แค่อยู่แบบนี้แหละ ไม่เป็นไร ก็ค่อย ๆ แก้ปัญหากันไป ทำได้เท่าที่ทำ รับผิดชอบกับคนดู รับผิดชอบกับคนที่รอ กับคนที่ซื้อบัตร รับผิดชอบให้ได้มากที่สุด แล้วถ้าทำเต็มที่แล้วไม่ไหว ค่อยว่ากัน เราก็พยายามแก้ปัญหาตลอด”
แม้จะไม่ได้เปิดคอนเสิร์ตต่อหน้าสาธารณชน แต่ในยุคที่การสื่อสารไร้พรมแดน หมอลำแบงค์และวงดนตรี พร้อมแขกรับเชิญ ก็ได้สร้างความสนุกสนานให้กับผู้ชมได้ตามที่ตั้งใจผ่านทางโซเชียลมีเดีย