นางสาวมลฤดี โพธิ์อินท์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ได้มาตรฐานที่มีงานวิจัยสำรวจชี้ชัดว่ากว่า 90 เปอร์เซ็น เป็นตู้เถื่อนที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ ผ่านมา 2 ปีแล้วหน่วยงานต่างๆที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ยังไม่แก้ไขปัญหา จากการศึกษาวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2558
โดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ผ่านการสุ่มสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทำในพื้นที่ กทม. 18 เขต รวม 855 ตู้ พบว่า 1. มีการขออนุญาตการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1,117 ราย ไม่มีใบอนุญาตฯ ร้อยละ 91.76 2. สถานที่ตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่เหมาะสม คือ อยู่ใกล้บริเวณที่มีฝุ่นมาก ร้อยละ 76.3 เช่น ริมถนน ริมทางเท้า อยู่ใกล้แหล่งระบายน้ำเสีย/น้ำขัง ร้อยละ 28.3 อยู่ใกล้ที่ทิ้งขยะทำให้มีแมลงสาบ หนู แมลงวัน
อย่างไรก็ตาม ผ่านมาแล้ว 2 ปี ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาแต่อย่างไร จนมาปี 2560 เครือข่ายฯ ได้ทำการสำรวจตู้นำดื่มหยอดเหรียญซ้ำ โดยดำเนินการในกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต พบว่าปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังคงไม่ได้รับการแก้ไข เพราะยังคงมีตู้น้ำดื่มที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ กว่าร้อยละ 90 เครือข่ายจึงติดต่อและส่งข้อมูล รวมถึงข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบอีกครั้งแต่ไม่ได้ความร่วมมือ จึงตัดสินใจทำหนังสือขอเข้าพบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 30 เมษายน 2561 เพื่อเรียกร้องให้ กทม. เห็นความสำคัญของความปลอดภัยของผู้ใช้บริการตู้น้ำดิ่มหยอดเหรียญ และรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในวงกว้า
สำหรับข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร คอบช. และ มพบ.มีดังนี้
1.) ต้องสั่งการให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต บังคับใช้ทางกฎหมายให้ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เพราะเป็นการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
2.) สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ต้องติดตามและตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ติดตั้งแล้วในเขตกรุงเทพมหานครว่าได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการหรือไม่ ถ้าตรวจพบว่าตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนั้นยังไม่ได้รับใบอนุญาตฯ ให้เรียกมาดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อสืบหาเจ้าของตู้ได้ หรือไม่มีผู้ใดแสดงความเป็นเจ้าของให้ดำเนินการรื้อถอนตู้ดังกล่าวทันที
3.) สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ต้องทำสติกเกอร์วันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรอง และวันเดือนปีที่ตรวจคุณภาพน้ำ และให้ผู้ประกอบกิจการลงบันทึกทุกครั้งที่หน้าตู้ ให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจน
4.) ขอให้สนับสนุนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและเฝ้าระวังตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ