ไม่พบผลการค้นหา
บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลระดับโลก ระบุ นายจ้างต้องปรับรูปแบบสวัสดิการให้หลากหลาย เพื่อจูงใจและรักษาพนักงานฝีมือดี ขณะที่อัตราเงินเดือนในประเทศไทย ปี 2561 คาดจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ที่ร้อยละ 5.5

บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล โบรกเกอร์ และโซลูชั่นส์ชั้นนำระดับโลก เผยผลสำรวจการวางแผนจัดสรรงบประมาณเงินเดือนในเอเชียแปซิฟิก ปี 2560 - ไตรมาส 3  

คาดว่า อัตราเงินเดือนในไทยจะปรับขึ้น ร้อยละ 5.5 ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2560 ซึ่งที่อยู่ร้อยละ 5.2 จากปัจจัยเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างช้าๆ และหากเทียบตลาดสำคัญอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การปรับเงินเดือนของไทยอยู่ในระดับกลาง ขณะที่อินเดีย ศรีลังกา และอินโดนีเซีย ปรับเพิ่มมากที่สุด และญี่ปุ่น ปรับเพิ่มเงินเดือนน้อยที่สุด

ส่วนการปรับเงินเดือนสำหรับอุตสาหกรรมในไทย ช่วงปี 2559-2561 มีแนวโน้มใกล้เคียงกัน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง ขึ้นเงินเดือนต่ำสุด ที่ร้อยละ 4 ในปี 2560 และคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5 ในปี 2561 ถือว่าต่ำที่สุดจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ส่วนกลุ่มประกันชีวิตปีนี้ (60) อยู่ที่ร้อยละ 5.9 เป็นอัตราการขึ้นเงินเดือนมากที่สุดจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรม แต่ลดลงจากปีก่อน (59) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.0 และปีหน้า (61) คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.5 เป็นอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

โบนัสแต่ละกลุ่มในอุตสาหกรรมไทยขณะที่โบนัส ปี 2560 กลุ่มบริหารสินทรัพย์ จ่ายโบนัสสูงสุดเฉลี่ย 5.5 เดือน กลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มประกันภัย จ่ายต่ำสุด เฉลี่ย 1.8 เดือน ส่วนอัตราค่าจ้างผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เริ่มต้น 15,00 บาท ปริญญาโท เริ่มที่ 20,500 บาท วิชาชีพที่มีอัตราค่าจ้างสูงแม้เพิ่งจบการศึกษา ได้แก่ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ กฎหมาย ทรัพยากรบุคคล การเงินและบัญชี 

นางสาวพิชญ์พจี สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิสลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย กล่าวว่า นายจ้างต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะของพนักงานในองค์กรให้ดี โดยค่าตอบแทนแบบตัวเงินเป็นองค์ประกอบหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญ คือ เรื่องสวัสดิการที่หลากหลาย การพัฒนาบุคคลากร และ Work Life Balance ที่จะช่วยจูงใจและรักษาพนักงานที่มีฝีมือไว้ได้ 

ผลสำรวจ วิสลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน พบว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า รูปแบบสวัสดิการจะเปลี่ยนไปเพื่อให้ตรงตามความต้องการที่แตกต่างกันของพนักงานแต่ละกลุ่ม เช่น แผนสวัสดิการเพื่อครอบครัว ดูแลบุตรหรือ Childcare สวัสดิการซื้อ-ขายวันลาหยุด สวัสดิการเพื่อสภาวะทางการเงิน และสวัสดิการเพื่อสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ซึ่งจะเป็นจุดแข็งสำคัญช่วยเพิ่มความสามารถการแข่งขันในตลาด

สำหรับแนวโน้มในอนาคต ระยะสั้น มองว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ น่าจะขยายตัวดี มีผลต่อการจ้างงานและผลประกอบการ ส่วนระยะยาว เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะมีบทบาทมากขึ้น สถานะการจ้างงานจะเปลี่ยนไป เป็นลักษณะพาร์ทไทม์ ฟรีแลนซ์ หรือพาร์ทเนอร์ชิป มากขึ้นร้อยละ 20-30 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเงินและธนาคาร (Banking and Financial Service)  


รายงานโดย : ณรัชพร ไกรมงคล