ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนาการศึกษาสะท้อนความเห็นว่าด้วยตำราเรียนไทย การปลูกสร้างทัศนคติ ผ่านชุดความเชื่อผู้มีอำนาจ

กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท จัดเสวนาการศึกษา "อำนาจลี้ลับ ในตำราเรียน" มีผู้ร่วมเสวนา ประกอบไปด้วย ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายโตมร ศุขปรีชา นักเขียน, นายธรณ์เทพ มณีเจริญ นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดยนางสาวธัญชนก คชพัชรินทร์ เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท 

นายโตมร กล่าวว่าเราต้องยอมรับว่าในสมัยก่อนครูมีอิทธิพลในการยอมรับและสร้างทัศนคติให้กับเด็ก ยกตัวอย่างเช่น ในตำราเรียนได้สร้างทัศนคติต่อคณะราษฎร ในเหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 ที่ถูกทำให้มองเป็นผู้ร้าย ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ



_MG_7642.JPG

(โตมร ศุขปรีชา นักเขียน)


"เรื่องอำนาจระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่มันคือการต่อสู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด พอเราโตขึ้นมาเราจะพบว่าโลกมันแตกต่างจากการสร้างทัศนคติจากพ่อแม่หรือครู ทำให้เราเริ่มตั้งคำถามและต่อต้าน ซึ่งจะเห็นว่าในการศึกษา มันจะกลายเป็นพื้นที่ต่อสู้อยู่ตลอดเวลา" โตมร กล่าว

ส่วนในโลกปัจจุบันต้องตั้งคำถามว่าครูในปัจจุบันยังอยากเป็นต้นแบบหรือแนวคิดที่ว่าเป็นบุคคลตัวอย่างกับเด็กหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันโรงเรียนไม่สามารถอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองความรู้ได้แล้ว เพราะทุกคนสามารถตั้งคำถามจากการเข้าถึงชุดข้อมูล ที่ต่างการถูกสร้างทัศนคติตั้งแต่เข้าสู่ระบบการศึกษา


"ในหนังสือตำราเรียน ก็คือการสร้างทัศนคติเอาไว้รับใช้ลัทธิชาตินิยมแบบหนึ่ง" โตมร กล่าว


ด้านนายธรณ์เทพ ให้ความเห็นถึงการสร้างวัฒนธรรมอำนาจนิยมในการศึกษาไทย ว่า ลักษณะสำคัญของวัฒนธรรมอำนาจนิยม คือการรวมศูนย์อำนาจ และปิดช่องการแก้ไขปัญหา ทำให้ยอมจำนนจากความเกรงกลัวต่อผู้มีอำนาจ และปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก และความเท่าเทียมตามระบอบของประชาธิปไตย 



_MG_7618.JPG

(ธรณ์เทพ มณีเจริญ นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)


สิ่งที่ผู้ถืออำนาจในห้องเรียนกลัว คือ การถูกตั้งคำถามท้าทาย อย่างไรก็ดี ในยุคนี้จะเห็นว่าเด็กตั้งคำถามต่อการใช้อำนาจมากขึ้น จนนำไปสู่การปะทะของชุดอำนาจความคิดเก่าและชุดความคิดใหม่ 

สำหรับการใช้อำนาจในตำราเรียนนั้น นายธรณ์เทพ เห็นว่าเป็นการหล่อหลอมอำนาจที่ทรงพลัง ที่ทำให้เชื่อฟังอำนาจโดยไม่รู้ตัว จึงเป็นอำนาจที่ผู้ปกครองชอบใช้มากที่สุด ทางออกของปัญหานี้คือการเปิดให้เด็กเข้าไปมีส่วนร่วมต่อการศึกษา ในส่วนของหลักสูตรตามที่สนใจ 

พร้อมกันนี้ นายธรณ์เทพ ได้ยกตัวอย่าง หนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ วิชาประวัติศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมปีที่ 3 เรื่องพัฒนาการเมืองไทยยุครัตนโกสินทร์ มีทั้งหมด 26 หน้า แต่มีการกล่าวถึงคณะราษฏรเพียง 2 หน้า

ส่วนเนื้อหาที่กล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ ที่ประชาชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย มีเพียง 1 หน้าเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาไทยไม่ได้ส่งเสริมประชาธิปไตยเลย

ดังนั้น เราควรออกมารวมกลุ่มกันแสดงพลัง เพื่อส่งเสียงเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ให้เกิดการกระจายอำนาจในระบบการศึกษา ไม่ใช่การผูกขาดอำนาจจากส่วนกลาง


"การกำหนดการศึกษาของผู้มีอำนาจ คือการปลูกฝังให้ประชาชนรู้สึกสิ้นหวัง เพื่อทำให้เรารู้สึกไม่มีอำนาจ นั่นคือความสำเร็จที่พวกเขาต้องการ เพราะหากประชาชนหมดหวังคือสิ่งที่อันตรายที่สุดของประชาธิปไตย" ธรณ์เทพ กล่าว




_MG_7631.JPG

(ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)


ขณะที่ผศ.อรรถพล เห็นว่าตอนนี้ในห้องเรียนมีความหลากหลายมาก เพราะครูบางส่วนอาจจะถูกปลูกฝังในความรู้ชุดเก่า บางส่วนก็มีชุดความเชื่อของอำนาจการศึกษาในสมัยใหม่

เพราะฉะนั้น อำนาจการศึกษาขึ้นอยู่กับครูแต่ละคน ว่าจะมีความเชื่อในการศึกษาแบบไหน ต้องการจะจัดการรูปแบบการสอนอย่างไร สำหรับตำราเรียนในการศึกษาไทย ต้องดูว่าใครเป็นผู้มอบอำนาจให้นักวิชาการเหล่านั้นออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหลายโรงเรียนบางส่วนเลือกทำแบบเรียนเอง แต่บางโรงเรียนก็เชื่อมโยงกับสำนักพิมพ์บางแห่ง หรือเรียกอีกอย่างว่า อำนาจทุน จึงถือว่าเป็นเรื่องซับซ้อนมาก ดังนั้น ใครมีสิทธิ์ในการกุมอำนาจในการศึกษา ยิ่งตลอดสิบปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยง่อนแง่น มักจะมีหลักสูตรแปลกๆ เข้ามา อีกทั้งมีการแทรกแซงปรับเปลี่ยนหลักสูตร


"วิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียน จะแตกต่างจากวิชาประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย เพราะมีเป้าหมายในการติดตั้งค่านิยมความคิดต่างกัน" ผศ.อรรถพล กล่าว


ขณะเดียวกัน จะเห็นว่าพ่อแม่และเด็กไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วม ในการออกแบบหลักสูตรเลย ซึ่งหลายประเทศเขาไม่ทำกัน ในโลกยุคใหม่มันไม่สามารถปิดข้อมูลได้แล้ว เพราะเราสามารถเข้าถึงความรู้ได้หลายแหล่ง ครูต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ ไม่ใช่การปฏิบัติตามรัฐเท่านั้น