ไม่พบผลการค้นหา
ถ้าจะวัดกันด้วยข้อมูล นิด้าโพลเพิ่งทำการสำรวจประชาชน พบว่า 79.8% อยากจะเลือกตั้งแล้ว แม้กว่าครึ่งจะยังไม่ค่อยเชื่อมั่นนักว่าจะได้หย่อนบัตรในคูหาภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็ตาม

ปรากฎการณ์ 'ปิยบุตร-ธนาธร' ทำให้คนไทยหันกลับมาสนใจและพูดคุยกันเรื่องการเมือง พรรคการเมือง และการเลือกตั้งกันอีกครั้ง

ไม่ว่าจะชอบหรือชัง สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ปรากฎการณ์ดังกล่าวได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคมขึ้นมาจริงๆ

จนไม่เพียงแฮชแท็ก #ช่วยธนาธรตั้งชื่อพรรค จะขึ้นอันดับหนึ่ง ยังทำให้คนที่เคยเบื่อหน่ายหรือปฏิเสธการเมือง ต้องกลับมาค้นประวัติของ '1 อาจารย์ 1 นักธุรกิจหนุ่ม' กันจ้าละหวั่น

บ้างอาจค้นด้วยความอยากรู้อยากเห็น เขาเป็นใคร มาจากไหน เหตุใดจึงถูกมองว่าจะช่วยปลุก 'ความหวัง' ของผู้คนกลับมา แต่บ้างก็ค้นด้วยเจตนาหาข้อมูลซึ่งอาจเป็นจุดอ่อนมาดิสเครดิต ด้วยใครก็ตามที่คิดจะลงเล่นการเมือง ย่อมถือเป็นคนไม่ดีไปเสียทั้งหมด ยิ่งคนที่มีช่องทางในการโยงเข้าหาขั้วอำนาจเก่า ก่อนที่รัฐบาลทหารจะเข้ามาด้วยแล้ว

แต่แม้ความรู้สึกของคนบางกลุ่มจะกลับมาคึกคักซู่ซ่า ทว่าการจะแจ้งเกิดของพรรคใหม่ ไม่ว่า 'พรรคนิวบลัด' หรือกว่า 50 พรรคที่ยื่นจดทะเบียนต่อ กกต. ไปแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยกติกาการเมืองที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็น 'กำแพง' ดีๆ นี่เอง

ทั้งการกำหนดให้มีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว หรือการจะนำคะแนนมาคิดคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ จะต้องส่ง ส.ส.เขตลงในพื้นที่ต่างๆ ให้มากที่สุด (ไม่ได้บังคับว่าต้องส่งทุกเขต แต่ยิ่งส่งมากยิ่งดี) โดยมีการคำนวณกันว่า ต้องได้คะแนนอย่างน้อย 70,000 เสียง ถึงจะได้ ส.ส. สัก 1 คน

หรือการกำหนดรายละเอียดในการจัดตั้งพรรคอย่างยิบย่อย เช่น ตอนจดทะเบียนต้องมีสมาชิกพรรค 500 คน มีทุนประเดิม 1 ล้านบาท ซึ่งมีเพดานว่าสมาชิกหนึ่งคนบริจาคได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท, ภายใน 1 ปี จะต้องมีสมาชิกเพิ่มเป็น 5,000 คน มีสาขาพรรคใน 4 ภาค โดยแต่ละสาขาจะต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 500 คน (และอย่างน้อย 100 คน ในจังหวัดที่จะส่งผู้สมัคร ส.ส.เขต ที่คะแนนจะถูกนำไปคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกที), ภายใน 4 ปี จะต้องมีสมาชิกเพิ่มเป็น 10,000 คน ฯลฯ

สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการ กกต. ถึงกับเขียนอธิบาย 'คณิตศาสตร์การเมือง' อันซับซ้อนนี้เป็นตอนๆ ไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุเงื่อนไขในทางสมมติไว้มากมาย เช่น ต้องมีสมาชิกพรรค 7,700 คนทั่วประเทศ หรือต้องใช้เงินอย่างน้อย 40-50 ล้านบาท ซึ่งก็ยังไม่รับประกันว่าจะได้ ส.ส.สักคนหรือไม่

ความซับซ้อนและยุ่งยากของกติกาเหล่านี้ ทำให้กระทั่งกลุ่มคนที่มีประสบการณ์การเมืองสูง เช่น กปปส. สมมุติว่าจะตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาจริงๆ ก็ยังถูกมองว่า น่าจะได้ ส.ส.เต็มที่ ไม่เกิน 10 คน หรือเป็น 'พรรคต่ำสิบ' เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญของบทความนี้ ไม่ได้อยู่ที่ว่าจะมีคนชอบและโหวตให้กับพรรคปิยบุตร-ธนาธร มากพอที่จะได้ ส.ส.สักคนหรือไม่?

สิ่งที่ผู้เขียนสนใจก็คือ ภายใต้ปรากฎการณ์ดังกล่าว ที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยหันกลับมาสนใจการเมือง ยังมีคนบางกลุ่มที่พร้อมจะบอกว่า “เลือกตั้งไปก็เท่านั้น มีแต่คนหน้าเดิมๆ” “ตัวเลือกใหม่ก็แค่นอมินีของตัวเลือกเก่า” “ยังไม่ลืมความวุ่นวายในอดีตอีกหรือ” ฯลฯ หรือเหตุผลต่างๆ นานา เพื่อนำไปสู่บทสรุปเดียว คือ ..ยังไม่อยากเลือกตั้งเลย ..ยังไม่พร้อมจะเลือกตั้ง ..เลื่อนเลือกตั้งไปก่อนจะได้ไหม

นิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงชื่อดัง ที่พูดคุยกับตัวเองบนเฟซบุ๊ก ผ่านตัวละครพ่อทิดเอิบ-แม่ประไพ เป็นภาพสะท้อนชัดเจนที่สุดของกลุ่มคนที่ไม่อยากจะเลือกตั้ง

ว่าแต่ 'คนไม่อยากเลือกตั้ง' ถือเป็นคนส่วนมากหรือคนส่วนน้อยของสังคมไทย กันแน่?

1. ผู้เขียนเชื่อว่า โดยสามัญสำนึกของคนกลุ่มนี้ก็รู้ดีว่าตัวเองไม่ใช่คนส่วนใหญ่ เพราะถ้ามั่นใจว่าเป็นคนส่วนใหญ่จริง ต่อให้เลือกตั้งไปก็สามารถรวมตัวกันไม่เลือกพรรคที่ถูกมองว่ามีพฤติกรรมแย่ๆ ได้ หรือเลือกพรรคที่ประกาศตัวว่าสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกฯ ต่อ ยิ่งกติกาปัจจุบันสร้างความได้เปรียบให้ พล.อ.ประยุทธ์มหาศาล ด้วยการให้ ส.ว. 250 คน ที่เจ้าตัวตั้งมากับมือ มาร่วมเลือกนายกฯ กับ ส.ส. ได้

ได้เป็นนายกฯ ที่ผ่านการเลือกตั้งแล้ว ข้อครหาเดียวที่มีอยู่ก็จะได้หมดไป ต่างชาติจะได้หันกลับมาคบค้าเช่นกัน ไม่ดีตรงไหน?

2. ถ้าจะวัดกันด้วยข้อมูล นิด้าโพลเพิ่งทำการสำรวจประชาชนพบว่า 79.8% อยากจะเลือกตั้งแล้ว แม้กว่าครึ่งจะยังไม่ค่อยเชื่อมั่นนักว่าจะได้หย่อนบัตรในคูหาภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็ตาม

แต่หากจะแย้งว่า กลุ่มตัวอย่างของนิด้าโพลก็มีแค่ 1,250 คน ถ้าเช่นนั้นก็โพลหนึ่งที่ใช้กลุ่มตัวอย่างมากกว่า ถึง 1.08 ล้านคน โดยผู้ตั้งคำถามมีชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ และให้คนส่งคำตอบผ่านศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเราอาจเรียกว่า ‘ประยุทธ์โพล’ ได้ ผลออกมา 75.2% เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะทำให้ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล หรืออนุมานได้ว่า เชื่อว่าเลือกตั้งแล้วจะได้รัฐบาลที่ดี!

(คำตอบที่ออกมา ถือว่าหักหน้าผู้ถามพอสมควร ทั้งที่ตั้งคำถาม 4 ข้อในเชิงชี้นำให้กล่าวโทษนักการเมืองและการเลือกตั้ง ทีมงานจึงต้องแอบใส่หมายเหตุว่า ‘ภายใต้เงื่อนไขให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ ทั้งๆ ที่เงื่อนไขนี้ไม่มีอยู่ในการถาม-ตอบ)

ด้วยเหตุผลเพียง 2 ข้อข้างต้น ทำให้เชื่อได้ว่า คนไม่อยากเลือกตั้ง ไม่น่าจะใช่คนส่วนใหญ่ แต่คนกลุ่มนี้กลับเป็นผู้ที่มีเสียงดังในสังคม เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือกระทั่งมีอำนาจในการกำหนดว่าจะให้มีเลือกตั้งเมื่อใด

ดังนั้น ต่อให้ สนช.เพิ่งมีมติเห็นชอบกฎหมายลูก 2 ฉบับที่เหลือ คือ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.ได้มาซึ่ง ส.ว. ไป แต่หลายฝ่ายก็ยังไม่วางใจว่า ต้นปี 2562 จะมีเลือกตั้งได้จริง

เพราะผู้กำหนดว่าจะเลือกตั้งเมื่อใด ภายใต้กติกาอะไร และท้ายสุดคือใครคือผู้ชนะ ยังไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ 

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog