จากกรณีที่ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรการจัดเก็บภาษีนำเข้าข้าวสาลี 27 % จากต่างประเทศตามหลักการขององค์การการค้าโลกหรือดับเบิลยูทีโอ ผ่านไป 5 ปี รวมยุครัฐบาล คสช. ด้วย ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีนำเข้าเกือบ 20,000 ล้านบาท ผ่านมติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2561 นั้น
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ประเด็นที่กล่าวว่ากระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์เพิกเฉยต่อการจัดเก็บภาษีนำเข้าพืชเศรษฐกิจจากต่างประเทศ เข้าข่ายเอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ กรมศุลกากร ขอชี้แจงในส่วนของกระทรวงการคลัง ว่าการผูกพันอัตราอากรขาเข้าภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นการผูกพันอัตราเพดานที่ประเทศสมาชิก WTO จัดเก็บระหว่างกัน ซึ่งประเทศสมาชิก WTO สามารถกำหนดอัตราอากรที่เหมาะสมตามนโยบายของแต่ละประเทศได้ แต่อัตราอากรที่จัดเก็บจากสินค้าที่นำเข้าจากประเทศสมาชิก WTO จะต้องไม่เกินอัตราที่ผูกพันดังกล่าว
ดังนั้น ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังจึงได้ปฏิรูปโครงสร้างภาษีศุลกากรมาเป็นลำดับ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากรได้ยึดหลักการของการไต่มูลค่าเพิ่ม (Value Added Escalation) ของสินค้ามาเป็นเกณฑ์ ดังนี้
(1) วัตถุดิบ สินค้าทุน ให้ลดอัตราอากรลงเหลือร้อยละ 0
(2) สินค้ากึ่งสำเร็จรูป ให้ลดอัตราอากรลงเหลือร้อยละ 5 (ยกเว้นสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตสินค้าของอื่น ให้ลดอัตราอากรลงเหลือร้อยละ 3)
(3) สินค้าสำเร็จรูป ให้ลดอัตราอากรลงเหลือร้อยละ 10 (ยกเว้นสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตของสินค้าอื่น ให้ลดอัตราอากรลงเหลือร้อยละ 7)
อีกทั้ง อัตราอากรขาเข้าข้าวสาลีได้มีการปรับลดจากกิโลกรัมละ 0.10 บาท เป็นยกเว้นอากร ตั้งแต่ปี 2550 ตามโครงสร้างภาษีศุลกากรดังกล่าวข้างต้น เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ไม่มีการผลิตในประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในประเทศที่ใช้สินค้าดังกล่าวเป็นวัตถุดิบให้สามารถแข่งขันได้
ส่วนประเด็นที่กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่สามารถตอบข้อสงสัยต่อกรณีมีบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่นำเข้าข้าวบาร์เลย์ 120,000 ตัน ซึ่งแสดงกับศุลกากรว่าเป็นอาหาร แต่แท้จริงแล้วเป็นวัตถุดิบทดแทนข้าวสาลีเพื่อทำอาหารสัตว์ใช่หรือไม่
กรมศุลกากร ชี้แจงว่า ข้าวบาร์เลย์ จัดเข้าประเภทพิกัด 4 หลัก 10.03 อัตราอากร 2.75 บาท/ กก. แบ่ง เป็นประเภทย่อยได้ดังนี้ พิกัด 1003.10.00 ใช้สำหรับการเพาะปลูก พิกัด 1003.90.00 อื่นๆ ส่วนถ้าเป็นเกรดสำหรับมนุษย์บริโภค จะมีกฎหมายอื่นควบคุม เช่น มีหนังสือรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.
หรือหากเป็นเกรดสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ มีกฎหมายอื่นควบคุม เช่น หนังสือรับรองจากกรมปศุสัตว์กรมศุลกากรจะตรวจปล่อยตามที่ผู้นำเข้ามีหนังสือรับรองจากหน่วยงานที่กำกับดูแลมาแสดง หลังจากนำเข้ามาภายในประเทศแล้ว หากมีกฎหมายอื่นที่ต้องปฏิบัติหน่วยงานตามกฎหมายนั้น ๆ ต้องเป็นผู้ควบคุม กำกับดูแลต่อไป
ข่าวเกี่ยวข้อง :