ไม่พบผลการค้นหา
ย่านพระโขนงแหล่งชุมชนชาวเมียนมาขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ เป็นแหล่งรวมสินค้าอุปโภบริโภคของชาวเมียนมาให้แวะเวียนเข้ามาจับจ่ายใช้สอยรวมไปถึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของคนเมียนมาที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ

ตลอดถนนสุขุมวิทใจกลางกรุงเทพฯ เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติทั้งชาวตะวันตก ชาวญี่ปุ่น ชาวตะวันออกกลางรวมถึงชาติอื่นๆ อีกมากมายที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ทำให้ถนนเส้นนี้มีร้านอาหารและร้านขายสินค้าของชาติต่างๆ อย่างหลากหลาย

จากปากซอยสุขุมวิท 71 เข้าไปประมาณ 100เมตร ในซอยสุขอุทิศที่เป็นที่ตั้งของโรงหนังพระโขนงราม่าเก่า เมื่อเราเดินเข้ามาจะเจอย่านชุมชนของคนเมียน มาและชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในตลาดพระโขนง

ปัจจุบันตลาดแห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งที่พักอาศัยและแหล่งจับจ่ายซื้อสินค้าของคนเมียนมาใจกลางกรุงเทพฯ ภายในตลาดแห่งนี้เราจะเจอป้ายขายสินค้าที่เป็นภาษาพม่า รวมไปถึงร้านขายอาหารพม่า ร้านขายของชำที่นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคมาจากเมียนมาและร้านขายเสื้อผ้าชุดประจำชาติเมียนมาอยู่หลายร้าน



4.jpg

ร้านขายของชำที่นำเข้าสินค้าจากเมียนมาทุกประเภทและเป็นร้านที่ใหญ่ที่สุดในตลาดพระโขนง

ผู้ค้าชาวไทยที่อาศัยอยู่ในตลาดแห่งนี้ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าววอยซ์ ออลไลน์ว่า ในตลาดแห่งนี้มีทั้งคนไทย ชาวเมียนมา และคนไทยที่อยู่ตามชายแดนติดเขตประเทศเมียนมาเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในช่วงแรกชาวเมียนมาที่เข้าจะมาเป็นลูกจ้างในร้านขายของของคนไทยในตลาดพนะโขนง ต่อมาเนื่องจากเศรษฐกิจไม่ค่อยสู้ดี คนไทยที่เป็นเจ้าของแผงในตลาดก็ปิดกิจการและปล่อยแผงขายสินค้าให้แก่คนเมียนมาเช่าขาย

ทุกวันนี้กิจการร้านค้าภายในตลาดแห่งนี้มีคนเมียนมาเป็นเจ้าของกิจการและดูแลร้านค้าต่างๆ ภายในตลาดพระโขนงแทบทั้งสิ้น

คนงานชาวเมียนมาในร้านขายข้าวราดแกงร้านหนึ่งในตลาดพระโขนงกล่าวว่า ตนเองมาจาก จ.พะอัง ประเทศเมียนมา ข้ามมาทางด่านเมียวดี จ.แม่ฮ่องสอน แล้วเข้ามาเป็นอยู่ในกรุงเทพกว่า10ปีแล้ว ปัจจุบันทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารแถวๆ นี้



1.jpg

ร้านขายเสื้อผ้าชุดประจำชาติเมียนมาในตลาดพระโขนง

ขณะที่คุณสุริยะใส ประดาน เจ้าของกิจการร้านขายชุดประจำชาติพม่าบอกว่า เดิมตนเองอยู่อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และได้ย้ายครอบครัวมาเปิดร้านขายเสื้อผ้าในตลาดพระโขนงแห่งนี้มานานกว่า 2 ปีแล้ว สาเหตุที่เลือกมาเปิดร้านที่นี้ คือ ทราบว่าที่ตลาดแห่งนี้เป็นชุมชนชาวพม่าใจกลางกรุงเทพ และยังไม่มีร้านที่ขายชุดประจำชาติ จึงนำเสื้อผ้าชุดประจำชาติเมียนมาเข้ามาขายโดยรับมาจากเชียงใหม่บ้าง ตามชายแดนไทยพม่าบ้าง

ในช่วงแรกที่มาเปิดนั้นก็ขายดี มีคนเมียนมาในตลาดเข้ามาซื้อเยอะโดยเฉพาะในช่วงเทศกาล แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไม่ค่อยสู้ดีนัก ชาวเมียนมาหลายคนที่อาศัยอยู่ในตลาดแห่งนี้ก็ไม่ค่อยได้แวะเวียนมาซื้อเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ยังมีคนไทยหรือคนเมียนมาจากที่อื่นเข้ามาแวะเวียนซื้อบ้าง



3.jpg

โต๊ะขายหมากพลู ของขบเคี้ยวที่เป็นที่นิยมของชาวเมียนมาหลายคน

นอกจากร้านขายอาหาร ร้านขายของชำ หรือร้านเสื้อผ้าแล้ว ยังมีร้านขายของกินเล่นที่เป็นขนมพม่า หรือร้านขายหมากพลูที่ชาวเมียนมานิยมรับประทานตั้งอยู่หลายร้านในตลาด ร้านเหล่านี้จะมีชาวเมียนมาเป็นผู้ขายและดูแลร้าน



2.jpg

พี่โม เจ้าของแผงลอยขนมพม่าในตลาดพระโขนงที่มีทั้งกล้วยทอด น้ำเต้าทอด ขนมแป้งทอดลักษณะคล้ายโดนัทของพม่า

พี่โม ชาวจ.พะอัง วัย 45 ปี ที่ขายขนมพม่าอยู่ในตลาดกล่าวกับผู้สื่อข่าววอยซ์ ออลไลน์ว่า ตนเองได้อาศัยอยู่ในตลาดแห่งนี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว เมื่อก่อนทำงานเป็นแม่บ้านได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท ตอนนี้ก็ขยับขยายมาเปิดร้านขายขนมพม่าในตลาดนี้ได้ประมาณ 1 ปี ลูกค้าก็มีทั้งคนไทยในตลาด คนเมียน มามาซื้อเป็นประจำ แต่คิดว่าปีหน้าก็จะกลับบ้านแล้ว เพราะจะพาลูกกลับไปเข้าโรงเรียนที่ประเทศเมียนมา

ในวันที่ทีมข่าววอยซ์ ออนไลน์ลงพื้นที่นั้น โมบอกว่า ค่อนข้างเงียบเหงา เพราะว่าเมื่อวานตำรวจได้ลงตรวจตลาดพระโขนง และได้ยึดสินค้าที่นำเข้ามาผิดกฎหมายไป ทำให้เจ้าของร้านชำหลายร้านไม่กล้าเข้ามาเปิดร้านในวันนี้

10 กว่าปีที่ผ่านมาย่านตลาดพระโขนงได้กลายเป็นแหล่งชุมชนของชาวต่างชาติหลายเชื้อชาติ ทั้งเนปาล เมียนมาไทใหญ่ กะเหรี่ยง ที่เข้ามาอยู่อาศัย มาค้าขาย มาทำงานรับจ้างในตลาดพระโขนง และด้วยสัดส่วนของประกรชาวเมียนมาที่มากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ จึงทำให้ชุมชนแห่งนี้กลายเป็น "ลิตเติ้ลเมียนมา"อีกที่หนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ

พวงพรรณ ภู่ขำ
25Article
0Video
0Blog