ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงานฯ ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องผ่านสื่อโซเชียลเป็นครั้งที่ 2 ให้ไทยปล่อยตัว 15 แกนนำและแนวร่วมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งทันที พร้อมย้ำให้ไทยเคารพกติกาสากลด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

บัญชีทวิตเตอร์ @OHCHRAsia ซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชีย หรือ UNOHCHR เผยแพร่ข้อความเรียกร้องให้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปล่อยตัวนักกิจกรรม 'กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง' ที่ถูกจับกุมเมื่อวันอังคารที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ในข้อหา ละเมิดคำสั่ง คสช. 3/2558 ที่ห้ามการชุมนุมมากกว่า 5 คน

ข้อความในทวิตเตอร์ระบุว่าเจ้าหน้าที่ของ OHCHR ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสงบ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนักกิจกรรมทั้งหมด ในฐานะที่ไทยเป็นรัฐภาคีของกติกาสากล ว่าด้วยสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์ที่ OHCHR เรียกร้องต่อรัฐบาล คสช. เพราะเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ได้มีการเผยแพร่ถ้อยแถลงผ่านทางเฟซบุ๊กเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งมาแล้วครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับ 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' หรือ HRW องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ (23 พ.ค.) เรียกร้องให้รัฐบาล คสช. ปล่อยตัวแกนนำและแนวร่วมของ 'กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง' อย่างไม่มีเงื่อนไข

โดย 'แบรด อดัมส์' ผู้อำนวยการ HRW ประจำภูมิภาคเอเชีย ระบุว่า การจับกุมและดำเนินคดีประชาชนที่เรียกร้องการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารไทยไม่ได้มีความตั้งใจจริงจังที่จะยุติบทบาทในการใช้อำนาจกดขี่และปกครองประชาชน สวนทางกับคำมั่นสัญญาว่าจะปรองดองสมานฉันท์

วันเดียวกัน นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐคลี่คลายปัญหาการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ อย่างละมุนละม่อม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามชุมนุมทางการเมืองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส. 

“สำหรับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ออกมาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 อันเป็นเวลาหลังการรัฐประหารไม่นาน โดยห้ามมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษทางอาญา (จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) บัดนี้การรัฐประหารได้ล่วงเลยมา 4 ปี และสถานการณ์บ้านเมืองได้พัฒนาไปสู่โหมดการเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว จึงควรที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้ผ่อนปรนให้มีการการชุมนุมทางการเมืองได้ในระยะยาว ก็ควรแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องการห้ามชุมนุมทางการเมือง” นายวัสกล่าวในที่สุด

แถลงการณ์ กสม.-คนอยากเลือกตั้ง-พ.ร.บ.การชุมนุม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: