ไม่พบผลการค้นหา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แนะอุตสาหกรรมอาหาร 4 ขั้นตอนปรับตัวรับมาตรการห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต

กรดไขมันทรานส์ ถือเป็นวัตถุดิบที่จำเป็นต่อภาคธุรกิจ เนื่องจากช่วยยืดอายุ ลดการเหม็นหืน และต้นทุนต่ำ

อย่างไรก็ตาม จากราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 ประจำปี 2561 ระบุว่า ไขมันทรานส์เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงเกิดเป็นมาตรการห้ามผลิต ห้ามนำเข้า และห้ามจำหน่ายภายใน 180 วัน

กรณีดังกล่าว ดร. วิไลลักษณ์ ชัยสิทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีของลิปิด (Lipid Chemistry) กล่าวว่า

กรดไขมันทรานส์เป็นน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils; PHOs) ถ้าบริโภคในปริมาณสูงจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease) ซึ่งในอดีตอุตสาหกรรมน้ำมันพืชนิยมใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนมายืดอายุการเก็บรักษาจากการเหม็นหืน และดัดแปรสมบัติทางเคมีกายภาพ เช่น การเปลี่ยนน้ำมันพืชให้เป็นเนยขาว หรือมาการีน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนก็มีข้อเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขต้องออกมาปกป้องสุขภาพของประชาชน โดยกำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบเป็นอาหารที่ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า หรือจำหน่าย ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารจำเป็นต้องปรับตัวเป็นการเร่งด่วน

ขณะที่ รศ.ดร.จิรดา สิงขรรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีอุตสาหกรรมการแยกและสกัดสาร จึงเสนอคำแนะนำ 4  ขั้นตอน เพื่อลดต้นทุนในการกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารคือ

1. เลือกใช้น้ำมันที่สกัดจากปาล์ม หรือมะพร้าว ผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศทดแทน เนื่องจากน้ำมันปาล์ม และมะพร้าว ต่างมีคุณสมบัติในการยืดอายุผลิตภัณฑ์อาหารที่คล้ายคลึงกับไขมันทรานส์ คือ ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน และมีต้นทุนต่ำ

2. ผสมน้ำมันเมล็ดปาล์มกับน้ำมันอื่นๆ เพื่อปรับลักษณะให้ใกล้เคียงกับไขมันทรานส์ คือ จุดหลอมเหลวสูง เสถียรต่อการเกิดออกซิเดชั่นได้สูง อ่อนตัวได้เร็ว สัดส่วนไขมันที่เป็นของแข็ง และการทำสมบัติต่อการอบขนมที่ดี  

3. เปลี่ยนแปลงผ่านเทคนิคทางเคมี ได้แก่ เปลี่ยนตัวเร่งปฎิกิริยา หรือปฎิกรณ์การผลิตไขมันทรานส์ไม่ให้เกิดไขมันทรานส์ขึ้นได้เลยในกระบวนการผลิต หรือผสมอัตราส่วนที่เหมาะสมของไขมันแข็งกับน้ำมัน เพื่อทำการแลกเปลี่ยนเอสเตอร์ระหว่างกรดไขมันบนโครงสร้างของไขมันผสม และการเติมสารสร้างความเป็นเจลให้กับน้ำมัน

4. การปรับเปลี่ยนพันธุกรรม สำหรับน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนที่ภาคการผลิตบางส่วนยังคงมีอยู่ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นได้ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ น้ำมันที่เติมไฮโดรเจนบางส่วน และไม่พบไขมันทรานส์จะสามารถนำไปผ่านกระบวนการอินเตอร์เอสเตอริฟิเคชันกับน้ำมันผสม และอีกกรณีที่พบเป็นไขมันทรานส์ สามารถนำไปผ่านกระบวนการอื่นๆ เช่น สเปอนนิฟิเคชัน หรือการทำสบู่ เข้าสู่อุตสาหกรรมอื่น เป็นต้น โดยกรณีที่จำเป็นต้องกำจัดวัตถุดิบที่มีผ่านกระบวนการดังกล่าว ควรบำบัดเช่นเดียวกับน้ำมันใช้แล้ว เพื่อเป็นการลดต้นทุนในภาคการผลิต  


ภาพประกอบ_การดูฉลากโภชนาการ.jpg

นอกจากนัั้น ดร. วิไลลักษณ์ยังแนะนำให้หมั่นสังเกตฉลากโภชนาการที่ระบุว่า ไขมันทรานส์เป็นศูนย์ ทุกครั้งก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์

"ผู้บริโภคต้องหมั่นสังเกตฉลากโภชนาการ และส่วนประกอบ เพราะถึงแม้ว่าฉลากจะมีข้อความระบุว่า ไขมันทรานส์ 0 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ก็อาจจะมีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนที่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบอยู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ ถึงแม้ว่าจะเป็นการผิดกฎหมายบ้านเราที่จะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศ  180 วันก็ตาม"

ทั้งนี้ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาดังกล่าว ถือเป็นการปฏิรูปวงการอุตสาหกรรมอาหารให้ตื่นตัว และกระตุ้นเตือนให้ตระหนักถึงสุขภาพของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ซึ่งต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน อย่างอเมริกามีประกาศการห้ามโดยมีผลตั้งแต่ 18 มิ.ย. 2561 โดยไม่ยอมให้เกิดการผลิต แต่ยอมให้อาหารที่ผลิตออกมาก่อนหน้าจำหน่ายได้ถึง 1 ม.ค. 2563 

ดร. วิไลลักษณ์ เสริมอีกว่า ถ้าผู้บริโภคจำได้เมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา บนฉลากขวดน้ำมันพืชส่วนใหญ่ในบ้านเรา เช่น น้ำมันถั่วเหลืองก็จะมีข้อความว่า ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน แต่ปัจจุบัน ไม่พบข้อความดังกล่าวบนฉลากแล้ว เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำมันพืชได้ใช้เทคโนโลยีอื่นในการยืดอายุการเก็บรักษา

จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา พบว่า การบริโภคไขมันทรานส์ในปริมาณสูงมีผลให้ระดับโคเลสเตอรอลตัวที่ไม่ดีในเลือด (LDL Cholesterol) เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น จึงเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของประชากรโลก จนองค์การอนามัยโลก เข้ามามีส่วนช่วยรณรงค์ในการลดการใช้ PHOs