ไม่พบผลการค้นหา
ภายในปี 2020 หุ่นยนต์จะสามารถเข้ามาทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 80 ในญี่ปุ่น หลังจากรัฐบาลพยายามผลักดันการใช้หุ่นยนต์เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในการรับมือสังคมสูงวัย

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสังคมสูงวัยสมบูรณ์ และเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในด้านการดูแลผู้สูงวัยมากที่สุดในโลก รัฐบาลประเมินว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ภายในปี 2025 ประเทศจะขาดแคลนตำแหน่งผู้ดูแลคนสูงวัยถึง 370,000 คน เป็นเหตุให้รัฐบาลพยายามผลักดันให้มีการใช้หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ โดยตั้งเป้าว่าจะให้ผู้สูงวัยกว่าร้อยละ 80 ของประเทศ มีหุ่นยนต์ช่วยดูแล โดยเฉพาะผู้ที่อยู่บ้านตัวเอง ไม่ใช่สถานดูแลผู้สูงวัย

แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ และมีการใช้งานหุ่นยนต์อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมหนัก ไปจนถึงการใช้หุ่นยนต์เป็นบาริสตาในคาเฟ่ แต่สำหรับกิจการด้านการสาธารณสุข โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงวัย สังคมอนุรักษ์นิยมของญี่ปุ่นต่อต้านการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เนื่องจากมีทัศนคติว่าการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงวัย เป็นสิ่งที่ต้องการทักษะและความละเอียดอ่อนของมนุษย์ ไม่สามารถแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ได้ ทำให้ในปัจจุบัน มีสถานดูแลผู้สูงวัยเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นที่ได้ใช้บริการหุ่นยกของ ซึ่งสามารถอุ้มผู้ป่วยจากเตียงไปยังรถเข็น หรือพาผู้สูงวัยไปยังห้องน้ำได้อย่างสะดวกและปลอดภัยกว่าคน 

000_Hkg122414.jpg

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อดูแลผู้สูงวัยไม่ได้หยุดอยู่ที่หุ่นยกของเท่านั้น แต่สถาบันวิจัยหุ่นยนต์แห่งชาติของญี่ปุ่นยังต้องการพัฒนาหุ่นยนต์ที่รับรู้ได้ว่าเมื่อไหร่ที่ผู้สูงวัยต้องการเข้าห้องน้ำ และปัจจุบันก็เริ่มมีการทดสอบใช้หุ่นยนต์ที่จะช่วยพาผู้สูงวัยเดินตามท้องถนนได้ โดยมีตัวเซ็นเซอร์ช่วยเบรกเมื่อเดินลงเนิน และช่วยผ่อนแรงเมื่อเดินขึ้นเนิน คล้ายกับวีลแชร์หรือจักรยานไฟฟ้า แต่มีระบบอัตโนมัติที่ทรงประสิทธิภาพกว่า 

การส่งเสริมหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงวัย ไม่เพียงเป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานเท่านั้น แต่ยังจะทำให้ต้นทุนการดูแลผู้สูงวัยถูกลงในระยะยาว แม้ขณะนี้ราคาหุ่นยนต์จะยังแพงมาก แต่ก็คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพกว่าคน เมื่อเทียบกับอายุการใช้งานที่ยาวนาน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายงานที่หุ่นยนต์สามารถทำได้เที่ยงตรงและมีประสิทธิภาพกว่าคน ซึ่งจะทำให้ผู้สูงวัยพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย