ไม่พบผลการค้นหา
'มัลลิกา' แนะ 'พิธา' ถอดเรื่อง ม.112 ออก เชื่อได้เสียงโหวตหนุนนายกฯ ง่ายขึ้น

วันที่ 21 พ.ค. มัลลิกา บุญมีตระะกูล มหาสุข อดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า กรณีการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลและการหาเสียงจากว่าที่ ส.ส.และ ส.ว. ให้ลงมติเลือก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ดูจะไม่ราบรื่นหาก พิธาและพรรคก้าวไกล ไม่ถอดนโยบายเรื่องการปฏิรูปสถาบันโดยผ่านการแก้ไขและยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นการรักษาความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยการคุ้มครององค์พระประมุขของประเทศออกไป เพราะจากการที่สอบถาม ส.ว.บางคนทราบว่าเงื่อนไขสำคัญคือติดขัดเรื่องนี้เป็นสาระสำคัญ หาก พิธาและคณะปลดล็อกเรื่องนี้ออกไป ก็เชื่อว่า ส.ว.จะโหวตให้แล้วไปเดินหน้าเป็นนายกรัฐมนตรี จัดบุคคลเป็นคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารประเทศได้

มัลลิกา กล่าวอีกว่า ในฐานะที่ตนเป็นอดีต ส.ส. ทราบว่า พิธาและคณะจะไปผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในสภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่ได้เสนอค้างไว้ในสมัยที่แล้ว ซึ่งไม่สามารถบรรจุเป็นวาระได้ เพราะ ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เห็นว่ายังมีข้อโต้แย้งว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจทานเอกสารร่างกฏหมายโดยละเอียด จะเห็นชัดว่าการแก้ไขของพรรคก้าวไกลที่เสนอร่างฯไว้นั้น เป็นการยกเลิกการคุ้มครองสถาบันหลักของชาติ โดยจะไม่มีมาตรา 112 ที่ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการฯมีโทษจำคุก 3-15 ปี และเขาจะเปลี่ยนเป็นมาตรา 135/5 หมิ่นพระมหากษัตริย์ มีโทษเพียงจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 300,000 บาท และมาตรา 135/6 หมิ่นพระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 200,000 บาท และในมาตรา 135/7 สามารถอ้างได้ คือ ถ้าวิจารณ์โดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะจะไม่มีความผิด

มัลลิกา กล่าวว่า นอกจากนี้ มาตรา 135/8 ระบุว่าถ้าทำผิดหรือได้ดูหมิ่นไปแล้วแต่พิสูจน์ได้ว่าข้อมูลนั้นเป็นความจริงหรืออ้างได้ว่าเป็นความจริง และไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ก็ไม่ต้องรับโทษ รวมถึงมาตรา 135/9 เป็นความผิดอันยอมความได้ คือ นำกฎหมายพิทักษ์องค์ประมุขออกจากหมวดความมั่นคงออกจากอาญาแผ่นดิน และผู้เสียหายให้ถือว่าสำนักพระราชวังเป็นผู้เสียหาย ก็ให้ร้องทุกข์และเป็นคู่ความ แต่ในมาตรานี้ห้ามมีพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย (ห้ามลงชื่อ) ในฐานะคู่ความ คือ ตัดสิทธิไม่ให้ในหลวง พระราชินีซึ่ง คือ ผู้เสียหายที่แท้จริงสู้คดี และมาตรา 198 ผู้ใดหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการตัดสิน คดีหรือการขัดขวางการพิจารณาคดีของศาลให้มีโทษปรับ 20,000-140,000 บาท

“ร่างฉบับแก้ไขของพวกเขา คือ การให้พระมหากษัตริย์มีสถานะทางกฎหมายเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ดูหมิ่นไปแล้ว ไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ไม่เป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการ และไม่เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ขณะที่รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับกำหนดไว้ชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ แล้วถ้าละเมิดได้เช่นนี้ จะแปลว่าอะไร” มัลลิกา กล่าว.