ไม่พบผลการค้นหา
เชื่อว่าหลายๆ คนที่ตามข่าวเรือนำเที่ยวฟีนิกซ์ล่มที่ จ.ภูเก็ต จนทำให้นักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิต 47 คน ซึ่งปรากฏข้อมูลจากภายหลังว่า เรือลำนี้อาจเป็นใช้คนไทยที่เป็น “นอมินี” ถือหุ้นแทนคนจีน เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” และมีการออกเรือโดยไม่สนคำเตือนเรื่องสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา

อาจเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า แล้วทำไมทางการไทยจึงต้องนำเงินซึ่งมาจากภาษีของคนไทยไปจ่ายเงินเยียวยาให้กับคนเหล่านั้นถึง 64 ล้านบาทด้วย?

ก็เรือของคนจีน – ออกเรือไม่สนคำเตือนกรมอุตุฯ - พอเกิดพายุทำให้นักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิต ทำไมไม่ไปจ่ายเงินเยียวยากันเอง  

ขนาด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยังบอกเลยว่า “เขาทำของเขาเอง”

แต่จากเหตุที่เกิดขึ้นอยากให้แยกเป็น 3 ประเด็น 1.นอมินี 2.คำเตือนจากกรมอุตุฯ และ 3.เงินเยียวยา

หนึ่ง เรื่องนอมินี ขณะนี้ตำรวจไทยนำโดย พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กำลังเดินหน้าจัดการอย่างเข้มข้น มีการตรวจยึดทรัพย์สินของบริษัทเจ้าของเรือฟีนิกซ์ รวมไปถึงเรือเซเรนาต้าที่ล่มในช่วงเวลาเดียวกัน (เพียงแต่โชคดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิต) นอกจากนี้ กำลังจะขยายผลไปยังเรือนำเที่ยวอื่นๆ ใน จ.ภูเก็ต อีกนับสิบบริษัทที่อาจเข้าข่ายเป็นนอมินีของคนจีนเช่นเดียวกัน

สิ่งที่ต้องแยกจากกันให้ขาด คือต่อให้เจ้าของเรือเป็นนอมินีจีนจริง แต่นักท่องเที่ยวที่เผชิญเหตุเรือล่มก็มีสถานะเป็น “ผู้ประสบภัย” ไม่ต่างกับกับน้องๆ ทีมหมูป่าอะคาเดมี ที่ไปติดอยู่ในถ้ำนั่นแหล่ะ

เมื่อเขามาเที่ยวเมืองไทย ไม่ว่าจะมาโดยทัวร์ศูนย์เหรียญหรือไม่ ทางการไทยในฐานะ “เจ้าบ้าน” จึงมีหน้าที่ต้องคุ้มครองดูแลความปลอดภัย และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น จึงต้องช่วยเหลือเยียวยา นี่เป็นหลักสากลที่อารยะประเทศทำกันอยู่ และเชื่อว่าทุกๆ คนคงรู้กันดีอยู่แล้ว

สอง เรื่องคำเตือนจากกรมอุตุฯ แม้เราอาจเคยได้ยินคำเตือนทำนองว่า “ฝนตกหนัก คลื่นสูง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง” อยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่ยังเด็ก แต่เชื่อหรือไม่ ข้อความนี้มีผลเป็นแค่การแจ้งเตือน ไม่ใช่การสั่ง ไม่มีสภาพบังคับใดๆ ทางกฎหมาย?

กระทั่งตัว พล.ร.อ.นริศ ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ ก็ยังยอมรับว่าตามกฎหมาย “เราไม่สามารถห้ามเรือลำใดไม่ให้ออกจากฝั่งได้” !

ปัจจุบัน หน่วยงานที่มีแจ้งเตือนเมื่อมีความเสี่ยงจะเกิดภัยพิบัติก็คือ “ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ” ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย มีลักษณะการทำงานค่อนข้าง “รูทีน” และมีอำนาจจำกัด คือทำได้เพียงประสานขอความร่วมมือเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันภัยพิบัติเชิงรุกได้

นี่เป็นอีกโจทย์สำคัญที่ภาครัฐต้องหยิบไปคิดว่าจะปรับปรุงการทำงานอย่างไร เพราะเหตุเรือล่มเกิดขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปี แม้จำนวนผู้เสียชีวิตอาจไม่มากมายเท่ากับครั้งนี้

สาม เรื่องการจ่ายเงินเยียวยา เงินเยียวยาที่นักท่องเที่ยวจีนผู้เสียหายจากเหตุการณ์นี้ได้รับ ไม่ว่าจะบาดเจ็บหรือถึงขั้นเสียชีวิต จะมาจาก “กองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ” ซึ่งเพิ่งก่อตั้งมาช่วงปลายปี 2558 ด้วยทุนประเดิม 200 ล้านบาท หลังเหตุการณ์วางระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ กทม. ที่ครั้งนั้นก็มีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตจำนวนมากเช่นกัน

กองทุนนี้จะจ่ายเงินช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกๆ ชาติ ไม่ใช่เฉพาะคนจีน ถ้าเกิดอุบัติเหตุที่สร้างความเสียหายหรือสูญเสียต่อตัวนักท่องเที่ยวคนนั้นๆ ที่ไม่ได้มาจากความประมาท ตั้งใจ หรือการทำผิดกฎหมาย

สำหรับเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยา ไม่ได้มีแค่กรณีเสียชีวิตที่จะได้ 1,000,000 บาท/คน หรือบาดเจ็บต้องรักษาพยาบาล จ่ายตามจริงไม่เกิน 500,000 บาท/คน แต่ยังรวมถึงกรณีต้องเยียวยาจิตใจ เพราะถูกข่มขืน มีเหตุจลาจล ภัยธรรมชาติ ฯลฯ 20,000 บาท/คน ออกนอกประเทศไม่ได้เพราะเหตุสุดวิสัย 2,000 บาท/คน/วัน แต่ไม่เกิน 20,000 บาท/คน และถูกขโมยของ เหมาจ่าย 6,000 บาท

หากพูดง่ายๆ ก็คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทย แทบไม่ต้องทำประกันใดๆ ไว้ล่วงหน้า เพราะรัฐบาลไทยมาเป็นนายประกันให้อยู่แล้ว

เหตุที่ต้องอุ้มนักท่องเที่ยวต่างชาติกันขนาดนี้ ก็อย่างที่หลายคนรู้กันคือ “การท่องเที่ยว” ถือเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยในปี 2560 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 35 ล้านคน มีตัวเลขรวมกันสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 67% ของงบประมาณทั้งปีของรัฐบาลไทย

แต่สถานะของกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวฯ ในปัจจุบัน ตัวเลขทางบัญชีค่อนข้างง่อนแง่น วีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ยังเคยออกมาแย้มว่าจะหารือกับสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ให้เก็บค่าธรรมเนียมการเข้าเมืองเพิ่มเพื่อนำมาใช้เป็นค่าประกันการเดินทาง โดยจะกำหนดให้ชาวต่างชาติทุกคนที่มาเที่ยวเมืองไทย “ต้องมีประกัน”

สำหรับผู้เสียชีวิตจากเหตุเรือล่มล่าสุด จะได้รับจากกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวฯ 1,000,000 บาท/คน (ไม่รวมถึงเงินจากบริษัทประกันที่เจ้าของเรือทำไว้อีก 1,100,000 บาท/คน)

เป็นหลักฐานที่เอาไว้ยืนยันกับชาวต่างชาติว่า หากมาเที่ยวเมืองไทย รัฐบาลจะพยายามดูแลให้อย่างดีที่สุด

แม้หลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวในช่วงหลัง ทั้งฆาตกรรมเกาะเต่า วางระเบิดพระพรหม ไปจนถึงเรือล่มภูเก็ต อาจทำให้ภาพลักษณ์ของไทยถูกมองว่าเป็น “สถานที่อันตราย” ในสายตาของคนบางกลุ่มไปแล้วก็ตาม

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog