ไม่พบผลการค้นหา
อังคณา นีละไพจิตร วางดอกไม้ไว้อาลัย 'ทนายสมชาย' ชี้ 14 ปี ไร้ความยุติธรรม ขณะที่ HRW เรียกร้องรัฐบาลไทยกำจัดวัฒนธรรมปล่อยคนผิดลอยนวล เร่งผลักดัน กม.ป้องกันการอุ้มหาย

สุณัย ผาสุข นักวิจัยขององค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' (HRW) ออกแถลงการณ์ วันนี้ (12 มี.ค.2561) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว หลังจากกฎหมายดังกล่าวถูกเตะถ่วงล่าช้า ทำให้นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและทนายความ ไม่สามารถผลักดันความคืบหน้าในคดีที่มีผู้ถูกบังคับสูญหายทั่วประเทศได้ รวมทั้งหมด 82 คดี

แถลงการณ์ของสุณัยกล่าวถึงกรณีสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ซึ่งหายตัวไปตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.2547 และครบรอบ 14 ปีในวันนี้ โดยเขาระบุว่า แม้จะมีหลักฐานบ่งชี้ว่าทนายสมชายถูกตำรวจ 5 นายบังคับสูญหาย แต่ศาลกลับดำเนินคดีและพิพากษาความผิดนายตำรวจที่เกี่ยวข้องในข้อหา 'ร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ' และ 'ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพโดยใช้กำลังประทุษร้าย' เท่านั้น เนื่องจากการบังคับสูญหายยังไม่มีบทลงโทษตามกฎหมายอาญา

ส่วนตำรวจทั้ง 5 นายที่ตกเป็นจำเลย 1-5 ในคดีบังคับสูญหายทนายสมชาย ได้แก่ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก ซึ่งขณะนี้หายสาบสูญไป, พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์, จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง, ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น 'นภันต์วุฒิ' และดำรงตำแหน่ง พ.ต.อ. โดยศาลชั้นต้นตัดสินจำคุุก พ.ต.ต.เงิน ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ 3 ปี และได้มีการยื่นอุทธรณ์และฎีกาในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกามีคำตัดสินยกฟ้องตำรวจทั้ง 5 นายเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2558 โดยให้เหตุผลว่า พฤติการณ์แห่งคดียังไม่ชัดเจนว่านายสมชายถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ หรือจนกระทั่งเสียชีวิต ดังนั้น 'อังคณา นีละไพจิตร' ผู้เป็นภรรยา รวมถึงบุตรของนายสมชาย จึงไม่ใช่ผู้ที่จะเข้าขอเป็นโจทก์ร่วมได้ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจยื่นฎีกา


ทนายสมชาย

ขณะที่อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัดกิจกรรมวางดอกไม้ไว้อาลัยผู้เป็นสามีในวันนี้ พร้อมเผยแพร่แแถลงการณ์ ''14 ปีไร้ซึ่งความยุติธรรม' ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า หลังศาลฎีกายกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวสมชาย เธอตั้งใจจะเลิกทวงถามการดำเนินการติดตามหาตัวทนายสมชายจากรัฐ แต่ในฐานะพลเมืองที่ถูกละเมิดสิทธิ จะยังคงเฝ้ามองการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของรัฐในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่สมชายและครอบครัวต่อไป

อังคณาระบุด้วยว่า เมื่อปีที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีหนังสือถึงครอบครัวนีละไพจิตร เพื่อแจ้งงดการสอบสวนคดีสมชาย หลังจากที่ดีเอสไอรับคดีการฆาตกรรมสมชายเป็นคดีพิเศษ และใช้เวลาสืบสวนสอบสวนยาวนานถึง 12 ปี โดยหนังสือของกรมสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งครอบครัวให้ทราบด้วยข้อความเพียงสั้นๆ เพียงว่า “การสอบสวนคดีสมชายได้เสร็จสิ้นแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นควรงดการสอบสวนเนื่องจากไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด” ซึ่งอังคณาย้ำว่า "พูดง่ายๆ คือ เมื่อหาคนผิดไม่ได้ก็จบๆ ไป"


อังคณา

แถลงการณ์ของอังคณา ระบุว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษไม่เคยมีความเต็มใจในการคลี่คลายคดีสมชาย ซึ่งมีผู้ต้องสงสัยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยอ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของอดีตผู้อำนวยการดีเอสไอเมื่อปี 2556 ซึ่งกล่าวว่า แฟ้มเอกสารคดีสมชายหายไป แต่ต่อมาอีกไม่ถึงสัปดาห์ ดีเอสไอออกมาให้ข่าวอีกครั้งว่าแฟ้มคดีสมชายไม่ได้หายไปไหน ซึ่งการไม่ให้ความสำคัญว่าคนคนหนึ่งถูกอุ้มฆ่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเรื่องร้ายแรงที่รัฐต้องรีบเร่งดำเนินการ ทำให้ดีเอสไองดการสอบสวนคดีสมชาย โดยไม่ใส่ใจความรู้สึกของครอบครัวและสังคม

อังคณาย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการคลี่คลายคดีอาชญากรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ คือ รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญ และต้องมีเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่มั่นคงในการที่จะไม่ปกป้องผู้กระทำผิด และหลังจากที่เฝ้าติดตามคดีของสามีมาโดยตลอด ทำให้ได้เรียนรู้ว่า "ไม่ว่ารัฐบาลพลเรือน หรือรัฐบาลทหาร รัฐบาลคนดี หรือคนไม่ดี การอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายจากอาชญากรรมโดยรัฐไม่เคยเกิดขึ้นจริง และการงดเว้นโทษกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป" การเยียวยาด้วยตัวเงินที่รัฐให้แก่ครอบครัวสมชาย จึงเป็นแค่การสงเคราะห์ มากกว่าการสำนึกผิดในสิ่งที่รัฐได้กระทำไป


อังคณา

อังคณาระบุว่า สิ่งที่เหยื่อและครอบครัวต้องการคือความรับผิดชอบจากรัฐ ซึ่งหมายถึงการเปิดเผยความจริงถึงที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย การนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย และการฟื้นฟูเยียวยาครอบครัว พร้อมย้ำว่าการให้เงินชดใช้ความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ได้หมายความว่ารัฐและหน่วยงานความมั่นคงจะหลุดพ้นจากหน้าที่ที่ต้องนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และการให้ค่าชดเชยด้วยเงินจำนวนมากก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าการละเมิดเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

"อาชญากรรมที่เกิดจากรัฐ รัฐต้องร่วมรับทุกข์กับเหยื่อ ไม่ใช่ปล่อยให้เหยื่อเผชิญความยากลำบากแต่เพียงลำพัง รัฐต้องไม่มืดบอดในการรับรู้ความทุกข์ยากของประชาชน"

นอกจากนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง รวมถึง HRW ได้ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินยกฟ้องของศาลฎีกา ขณะที่อังคณาเคยรณรงค์ในเว็บไซต์ change.org เพื่อให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนให้ไทยผ่านร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย ตลอดจนเรียกร้องให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งประชาชาติ (UNHRC) กดดันรัฐบาลไทยให้เห็นชอบ และบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายโดยเร็ว เพื่อให้มีกรอบกฎหมายในการดำเนินคดีและเอาผิดทางอาญาแก่ผู้กระทำความผิดในกรณีดังกล่าว และไม่ปล่อยให้มีการลอยนวลพ้นผิด


SomchaiWreath.jpg

ทั้งนี้ ไทยมีพันธกิจผูกพันที่จะต้องบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายให้สอดคล้องกับที่รัฐบาลไทยเคยลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ซึ่งกำหนดให้การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย (อุ้มหาย) เป็นความผิดทางอาญาอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติตีกลับร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายเมื่อเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว ทำให้ UNHRC แถลงการณ์ท้วงติง แต่นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ระบุว่า ต้องนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกลับไปพิจารณาและรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก่อน ได้แก่ มหาดไทย ตำรวจ ฝ่ายความมั่นคง ทหาร และอัยการ 

จนกระทั่งวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า ทางกระทรวงได้นำ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมาปรับปรุงตามข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ และหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิด จนได้ข้อสรุปเรียบร้อยเมื่อวันที่ 13 ก.พ. และในขณะนี้กระทรวงยุติธรรมอยู่ระหว่างการดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.ปีนี้ หลังจากนั้นจึงจะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการพิจารณากฎหมายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม: