ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกกรมศุลากรเปิดเผยในปี 2561 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค. พบว่า มีการนำเข้าเศษอิเล็กทรอนิกส์ปริมาณจำนวน 52,221.46 ตัน ส่วนขยะพลาสติก 212,051.72 ตัน คุมเข้มตรวจสอบตู้สินค้าทุกตู้ หากพบกระทำความผิดจะผลักดันสินค้าเศษอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ออกไปและให้ผู้นำเข้ารับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวถึงสถานการณ์และมาตรการการนำเข้า ส่งออก เศษอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกว่า จากข้อมูลสถิติตามใบขนที่มีการขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าสถิติการนำเข้าเศษพลาสติก พิกัด 3915 ในปี 2560 มีปริมาณการนำเข้า จำนวน 145,764.98 ตัน และในปี 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนพฤษภาคม พบว่า มีปริมาณการนำเข้า จำนวน 212,051.72 ตัน ในส่วนของสถิติการนำเข้าเศษอิเล็กทรอนิกส์ พิกัด 84 และ 85 พบว่า ในปี 2560 มีปริมาณการนำเข้า จำนวน 64,436.71 ตัน และในปี 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนพฤษภาคม พบว่า มีปริมาณการนำเข้า จำนวน 52,221.46 ตัน

ทั้งนี้จากสถิติการนำเข้าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 -2560 พบว่าเริ่มมีการนำเข้าของเสียอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้อนุสัญญาบาเซลเพิ่มปริมาณมากขึ้น อันเป็นผลสืบเนื่องจากในปี พ.ศ. 2560 ประเทศจีนประกาศห้ามนำเข้าขยะซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2561 โดยมีสัดส่วนการนำเข้าและมีการจับกุมการกระทำความผิดปริมาณมากที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง (สทบ.) สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ (สทก.) สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ (สกท.) และสำนักงานตรวจสินค้าลาดกระบัง (สสล.) ตามลำดับ ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกรรม ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม 

ด้านนายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง ในฐานะรองโฆษกกรมศุลกากร กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง และกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดยนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร และนายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมคณะได้ประชุมหารือการทำงานร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการนำเข้า-ส่งออก เศษอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 

  • จัดทำฐานข้อมูลร่วมกันระหว่างกรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรม (Big Data)เพื่อทำการแลกเปลี่ยนข้อมูล และนำมาวิเคราะห์บริหารความเสี่ยง (Risk Management)
  • กรมศุลกากรจะนำระบบควบคุมทางศุลกากร โดยใช้ระบบเอกซ์เรย์ เข้ามาตรวจสอบตู้สินค้าทุกตู้ ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะทำงานร่วมกันโดยจะทำการเปิดตรวจตู้สินค้าดังกล่าว ซึ่งหากท่าเรือหรือที่มีการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าเศษอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก  ในปริมาณมาก กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำ ณ ท่าหรือที่ดังกล่าว (Contact Person/Contact Point) อาทิ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง  สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง เป็นต้น 
  • เมื่อพบการกระทำความผิดจะทำการผลักดันสินค้าเศษอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกออกไป และให้ผู้นำเข้ารับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด
  • ทำการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)สำหรับบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตในการนำเข้า เมื่อผ่านพิธีการศุลกากรตรวจปล่อยของออกจากอารักขาของศุลกากรแล้ว กรมศุลกากรจะทำการแจ้งไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ไปทำการตรวจสอบ ณ โรงงานต่อไป
  • ตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในประเด็นข้อกฎหมาย เพื่อกำหนดมาตรการอุดช่องโหว่ ในการนำเข้า นำส่ง นำผ่านไปยังปลายทาง และกำหนดมาตรการเพิ่มโทษในกรณีที่มีการกระทำความผิด
  • กรณีบริษัททำกระทำความผิด ทางกรมศุลกากรจะส่งข้อมูลให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อยกเลิกใบอนุญาตต่อไป


ขยะอิเล็กทรอนิกส์

กรมควบคุมโรคลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เตรียมตรวจสารโลหะหนักในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมนายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น และนายแพทย์ประวิตร ศรีบุญรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ศึกษาการดำเนินงานแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กรณีขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในพื้นที่ ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่มีการประกอบอาชีพคัดแยกขยะและซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมู่บ้าน โดยทำเป็นอาชีพเสริมจากการทำนา มาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปีแล้ว และเนื่องจากขยะนี้มีสารอันตรายและโลหะหนักหลายชนิด อาทิ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม รวมทั้งโลหะมีค่าและแร่ธาตุที่หายากหลายชนิด จึงต้องจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองสุขภาพประชาชนในพื้นที่ รวมถึงเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายในดินและแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ เป็นตัวอย่างการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภออย่างแบบรูปธรรม โดยมีนายอำเภอ และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้นำในการช่วยแก้ไขปัญหาทั้งด้านคน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต โดยที่นี่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพราะทำอาชีพนี้เกือบหมดทุกครัวเรือน และให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนและร่วมวางแผนเชิงระบบ เพื่อจัดการด้านเฝ้าระวัง ป้องกัน ดูแลรักษา โดยในระยะยาวภาครัฐจะร่วมวางแผนกับภาคประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาโดยใช้ พ.ร.บ.โรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม สนับสนุนต่อไป

จากข้อมูลล่าสุดในปี 2559 ของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ในการคัดกรองสุขภาพผู้ประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่ ต.โคกสะอาด จำนวน 194 ราย พบว่า มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเนื่องจากการยกของหนัก มากที่สุด ร้อยละ 71.1 รองลงมาคือมีอาการผื่นคันผิวหนัง/คัดจมูกเนื่องจากสัมผัสฝุ่น ร้อยละ 47.9 มีการบาดเจ็บเล็กน้อยเนื่องจากอุบัติเหตุจากการถอดแยกชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 38.7 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการเก็บตัวอย่างปัสสาวะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะบ้านที่มีการคัดแยกชิ้นส่วนจอทีวี คอมพิวเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์มาเป็นเวลานาน จำนวน 173 ราย เพื่อตรวจหาสารแคดเมี่ยมในร่างกาย พบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติทุกราย ส่วนการดำเนินงานในปี 2560 ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับเครือข่ายกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกันผลิตหน่วยการเรียนรู้เรื่องการป้องกันโรคและภัยสุขภาพจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปทดลองใช้สำหรับสอนนักเรียนในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวทั้ง 8 แห่ง และในปี 2561 นี้ จะได้มีการดำเนินการเฝ้าระวังสารโลหะหนักในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้

ด้านนายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้มีการสนับสนุนให้มีการคัดแยกขยะที่ต้นทางตามโครงการจังหวัดสะอาด ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวม 4,469 แห่ง โดยมีหมู่บ้าน/ชุมชนต้นแบบการจัดการขยะ 159 แห่ง และเริ่มให้มีจุดรวบรวมขยะอันตรายหมู่บ้านละ 1 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จังหวัดกาฬสินธุ์มีการจัดการปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่แบบครบวงจรและบูรณาการทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนผ่านกลไกของคณะกรรมการสาธารณสุขระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีศูนย์วิชาการระดับเขต เครือข่ายคณาจารย์จากภาคสถาบันการศึกษาต่างๆ ร่วมเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ โดยกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา 7 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

1) พัฒนาระบบการดูแลเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน 

2) พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากปัญหามลพิษขยะอิเล็กทรอนิกส์

3) สร้างความรู้ ทักษะที่ถูกต้องนำสู่การเกิดจิตสำนึกและวินัยของประชาชนและผู้ประกอบการในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ 

4) พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมและรูปแบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ 

5) สร้างความเข้มแข็งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และมาตรการทางกฎหมาย 

6) สร้างกลไกการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน

7) ส่งเสริมอาชีพเสริมและอาชีพทางเลือกที่มั่นคงทั้งผู้ประกอบการและประชาชน

ยุทธศาสตร์ทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี สิ่งแวดล้อมในชุมชนปลอดภัยและเป็นศูนย์เรียนรู้ในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศต่อไปในอนาคต