ไม่พบผลการค้นหา
World Economic Forum เปิดฉากแล้ว ผู้นำทุกภาคส่วนกว่า 3,000 คนเข้าร่วมการประชุม ขณะที่สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจโลกยังเป็นประเด็นสำคัญที่น่าติดตาม และในปีนี้เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการประชุมได้อีกด้วย

การประชุม World Economic Forum หรือ WEF ครั้งที่ 48 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 - 26 มการาคม 2561 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการวันนี้ (23 มกราคม) โดยในปีนี้มีผู้นำประเทศจากทั่วโลก ภาครัฐบาล องค์กรเอกชนระหว่างประเทศ ผู้นำภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ศิลปินและสื่อมวลชน เข้าร่วมกว่า 3,000 คน

การประชุมครั้งนี้ถูกกำหนดภายใต้หัวข้อ "ร่วมกันสร้างอนาคตภายใต้โลกที่แตกร้าว" โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น เรื่องความมั่นคง สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจโลก ซึ่งนอกจากความร่วมมือระหว่างประเทศแล้ว การประชุมนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะประสานรอยร้าวระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นการเปลี่ยนแปลงจากโลกาภิวัตน์ ไปจนถึงการกระจายตัวอย่างรวดเร็วของสังคมออนไลน์ รวมไปถึงการเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่4 ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือระหว่างความสัมพันธ์ทางธุรกิจและสังคมเสียหายมากขึ้นในช่วงที่่ผ่านมา

ศาสตรจารย์เคลาส์ ชวาบ ผู้ก่อตั้งและประธานการประชุม World Economic Forum กล่าวว่า "โลกของเราแตกแยกกันจากการแข่งขันระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้นและการแบ่งแยกภายในสังคม ความท้าทายที่โลกของเราเผชิญอยู่ ทำให้การทำงานร่วมกันและการทำงานแบบบูรณาการมีความจำเป็นมากขึ้น การประชุมประจำปีของเราจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะเอาชนะข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยการแชร์ผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคส่วนต่างๆ ภายใต้การทบทวนสัญญาประชาคมที่จะต้องเติบโตอย่างยั่งยืน"


000_W768C.jpg

5 สิ่งที่ต้องจับตาในการประชุม World Economic Forum

นิตยสารไทม์ได้วิเคราะห์ว่าการประชุม WEF ครั้งที่48 นี้ มี 5 สิ่งที่น่าติดตามด้วยกัน คือ

1.ท่าทีของผู้นำจากตะวันตกที่น่าจับตามอง

อังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ยังคงถูกจับตาในฐานะผู้ปกป้องโลกเสรีตะวันตก โดยเฉพาะเมื่อเธอดำเนินนโยบายเปิดรับผู้อพยพ ซึ่งกระทบต่อคะแนนความนิยมของเธอในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เนื่องจากแมร์เคลได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นครั้งที่4 เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการได้

ขณะที่เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เสนอตัวเองเป็นผู้นำทางเลือก แม้ว่าฝรั่งเศสจะต้องการความช่วยเหลือจากเยอรมนีในการทำความเข้าใจถึงแผนปฏิรูปยุโรปของฝรั่งเศส แต่การที่เขาปะทะกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อคัดค้านที่สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงระหว่างประเทศด้านการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อน ทำให้มาครงได้คะแนนนิยมจากคนในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน ประชาชนชาวฝรั่งเศสสนใจในเรื่องปากท้องและความมั่นคงของคนในประเทศมากเป็นอันดับหนึ่ง และถ้าความตั้งใจในการปฏิรูปเศรษฐกิจของมาครงไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ชาวฝรั่งเศสคาดหวังไว้ อาจทำให้ชาวฝรั่งเศสหันหลังให้กับนโยบายของมาครงได้


000_XK6NX.jpg

(นายกรัฐมนตรี นายนเรนทรา โมดิ กล่าวเปิดการประชุม World Economic Forum)

2. ก้าวต่อไปของอินเดีย

บทบาทของอินเดียในฐานะที่เป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก นำโดย นายนเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรี จะสามารถก่อให้เกิดการถ่วงดุลและคานอำนาจกับจีนได้มากน้อยแค่ไหน ที่ผ่านมาอินเดียได้ประกาศว่า จะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอันดับที่2 ของโลกภายในปี 2050 แม้ว่าปัจจุบันอินเดียจะปฏิเสธการเข้าร่วมโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางกับจีน แต่กลับไปจับมือจัดตั้งความมั่นคงอินโด-แปซิฟิก โดยมีพันธมิตรที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เพื่อมาคานการขยายอำนาจของจีนในภูมิภาคเอเชีย

ทั้งนี้ นายโมดิจะได้รับเกียรติให้เป็นองค์ปาฐกถาในการเปิดการประชุมครั้งนี้ด้วย

3. ท่าทีของทรัมป์ในการประชุม

ท่าทีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ภายใต้แนวนโยบาย อเมริกาต้องมาก่อน (America First) เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนแสดงความกังวลและจับตามอง หลังจากที่ สตีฟ แบนนอน ที่ปรึกษาของทรัมป์ได้ลาออกไป แบนนอนเป็นที่ปรึกษาไม่กี่คนของทรัมป์ที่ให้ความสนใจกับเศรษฐกิจแบบประชานิยมและมีส่วนช่วยทรัมป์ในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจหลายอย่างที่ในช่วงผ่านมา และมีการคาดเดากันว่าทรัมป์จะใช้เวทีการประชุมที่ดาวอสในการผลักดันนโยบายของตนเองมากขึ้น ซึ่งจะขัดกับหลักการของที่ประชุม WEF อย่างมาก ทั้งนี้ ทรัมป์จะเป็นองค์ปาฐกถาในการปิดการประชุมในครั้งนี้ด้วย 

'ทรัมป์'อาละวาดห้างดัง หลังเลิกขายเสื้อผ้าลูกสาว

4. เรื่องความไม่เท่าเทียมทางสังคม

ความไม่เท่าเทียมยังคงเป็นประเด็นที่น่าจับตามองอีกประเด็นในที่ประชุม ปัจจุุบัน ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนห่างกันมากขึ้นทุกวัน และในรายงานของ WEF ระบุว่า ในโลกนี้มีคนรวยเพียงร้อยละ 8 ของประชากรโลกทั้งหมดเท่านั้น และยังถือครองความมั่งคั่งมากกว่าคนจนอีกเกือบ 4,000 ล้านคน 

ขณะที่รายงานของอ๊อกซ์เฟมที่ออกมาก่อนหน้าที่ระบุว่า ร้อยละ 82 ของเงินที่งอกเงยขึ้นมาในปี 2017 เป็นของคนรวยที่สุดเพียงร้อยละ 1 ของโลก ขณะที่คนจนร้อยละ 50 ท้ายสุด หรือประมาณ 3,700 ล้านคนที่จนที่สุดในโลก กลับไม่ร่ำรวยขึ้นเลย

อ็อกซ์แฟมเตือนว่า การที่เห็นเศรษฐีร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจกำลังไปได้ดี แต่เป็นอาการที่แสดงให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจกำลังล้มเหลว ที่คนทอผ้า ประกอบโทรศัพท์ หรือปลูกผักให้เรากินถูกเอารัดเอาเปรียบเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้กับบริษัทใหญ่และมหาเศรษฐี นอกจากนี้ คนชั้นนำของโลกทั้งด้านการเมืองและธุรกิจที่จะไปประชุมที่ดาวอส ควรหยุดพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำแล้วหันมาทำอะไรที่เป็นรูปธรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจได้แล้ว

5. การเมืองและการเกี่ยวพันกับสิ่งต่างๆ

ไทม์วิเคราะห์ว่า สถานการณ์การเมืองโลกยังคงเป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะในระยะยาว เทคโนโลยีที่เคยเข้ามาเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนสังคม จะนำไปสู่ความแตกแยกทางการเมือง จนอาจนำไปสู่การแบ่งขั้วทางสังคมและการเมืองที่รุนแรงขึ้น ขณะที่การสร้างงานมีความไม่แน่นอนมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน โลกหันมาสนใจผู้ที่พ่ายแพ้ในสงครามเศรษฐกิจและทุนนิยมมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาในเชิงบวกที่มากกว่าในอดีต

GDP ขึ้น มีแต่เจ้าสัวรวย คนจนก็จนต่อไป

ความกังวลของบรรดาผู้บริหารระดับสูงจากทั่วโลก

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจทั่วโลก โดยเฉพาะผู้นำองค์กรต่างๆ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของโลกที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในระยะยาว โดยบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจอย่าง Price Waterhouse Coopers (PwC) ได้ทำการสำรวจความเห็นของผู้บริหารองค์กรระดับสูง 1,293 คนใน 85 ประเทศทั่วโลก พบว่าร้อยละ 57 ต่างคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2018 จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้บริหารระดับสูงในสหรัฐฯ กว่าร้อยละ 59 แสดงความมั่นใจกับสภาวะเศรษฐกิจ และร้อยละ 52 คาดหวังว่าการขยายตัวจะส่งผลดีต่อการเติบโตของบริษัทของพวกเขาในปีนี้

บ๊อบ มอริตซ์ ประธานบริษัท PwC กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า "เมื่อตลาดหุ้นเติบโตอย่างรวดเร็ว และจีดีพีแต่ละประเทศใหญ่ๆ ต่างขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ผู้บริหารองค์กรส่วนมากต่างมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของโลกในปีนี้มากขึ้น"

ขณะเดียวกันผู้บริหารระดับสูงอย่างน้อยร้อยละ 40 มีความกังวลกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของภูมิรัฐศาสตร์การเมืองโลก การคุกคามและการโจมตีในโลกออนไลน์ รวมถึงการก่อการร้าย สร้างความกังวลให้กับพวกเขาอย่างมาก ขณะที่อีกร้อยละ 31 มีความกังวลในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังจากปีที่ผ่านมาทั่วโลกมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นมาก 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานเรื่องดัชนีความเสี่ยงโลกที่จัดทำโดย World Economic Forum ยังชี้ให้เห็นถึงความกังวลเกี่ยวกับสงคราม หลังจากที่ทรัมป์ประกาศว่าจะกำจัดโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ทั้งยังระบุว่าอาจจะทบทวนยกเลิกข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน ซึ่งในสมัยของนายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้พยายามผลักดันจนสำเร็จ โดยมีเงื่อนไขว่าอิหร่านจะต้องยุติโครงการนิวเคลียร์เพื่อแลกเปลี่ยนกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร แต่นายทรัมป์ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของโอบามา