ไม่พบผลการค้นหา
กรมการแพทย์แนะบ้านมีความสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ ควรปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้มีความปลอดภัย ลดการบาดเจ็บ หกล้ม

นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ผู้สูงอายุหกล้มและกระดูกหักพบว่า 1 ใน 5 ไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก และบางส่วนต้องใช้รถเข็นตลอดไป นอกจากนี้ยังพบว่าการหกล้มเป็นสาเหตุสำคัญของการ เข้าโรงพยาบาลในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป สรุปได้ว่าความเสี่ยงของการหกล้มจะยิ่งมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือมีโรคประจำตัว เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือมีปัญหาเรื่องการทรงตัว

การล้มในผู้สูงอายุเกิดจาก หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นกระดูกหรือกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง มีปัญหาสายตา การกินยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาททำให้ง่วงซึม ซึ่งวิธีลดความเสี่ยงของการหกล้มที่ได้ผลมากที่สุดคือการออกกำลังกาย เพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพิ่มความสามารถในการทรงตัวและการเดิน 

ทั้งนี้ การป้องกันการหกล้มด้วยวิธีการออกกำลังกายผู้สูงอายุสามารถนำไปปฏิบัติเอง เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ เป็นต้น ยกเว้นบางรายที่มีข้อจำกัดด้านสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ นอกจากการออกกำลังกาย ยังพบว่า การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมภายในบ้านโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบบ้านเพื่อผู้สูงอายุ รวมทั้งปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้าน ที่เหมาะสมจะช่วยลดการบาดเจ็บ หกล้มในผู้สูงอายุได้

ด้านนายแพทย์ประพันธ์ พงศ์คณิตานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับปรุงบ้านให้มีความปลอดภัยสำหรับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ที่ผ่านมาพบว่าผู้สูงอายุ หกล้ม ลื่นล้ม เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 3 คน

ดังนั้น การดูแลผู้สูงอายุจึงให้ความสำคัญกับการปรับปรุงบ้าน เริ่มตั้งแต่ทางเข้า ประตูเข้า-ออก ติดราวจับบันได ปรับพื้นลาด รื้อพื้นที่กีดขวาง เพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้ม ห้องนอนต้องมีไฟส่องนำทางสายตา ระดับเตียงนอนต้องสูงจากพื้นพอดีเข่าให้ลุกนั่งได้ง่าย จุดเสี่ยงที่สุด คือ ห้องน้ำต้องมีราวจับและพื้นกันลื่น มีเก้าอี้นั่งเสริมอาบน้ำ ตลอดจนปรับเปลี่ยนสุขภัณฑ์ให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ซึ่งบั้นปลายชีวิตผู้สูงอายุใช้ชีวิตอยู่กับบ้านเป็นหลัก ในขณะที่ลูกหลานต้องออกไปทำงานนอกบ้าน การสร้างสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัย จะช่วยลดการบาดเจ็บ หกล้มได้ และสำคัญที่สุด คือ ความรักความเอาใจใส่ตอบแทนพระคุณผู้สูงอายุ