ผลการวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีชีวภาพเฟลมิช (Vlaams Instituut voor Biotechnologie – VIB) มหาวิทยาลัยแคทอลิกเลอเฟิน (Katholieke Universiteit Leuven) ประเทศเบลเยียม และมหาวิทยาลัยอิสระบรัสเซล (Vrije Universiteit Brussel – VUB) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเผยแพร่อยู่ในวารสารวิชาการเนเจอร์ คอมมูนิเคชั่นส์ (Nature Communications) และกำลังได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่า เป็นผลงานวิจัยชิ้นสำคัญของแวดวงการศึกษาเรื่องโรคมะเร็ง เนื่องจากทีมนักวิทยาศาสตร์สามารถไขความลับของกระบวนการ ‘วอร์บูร์ก เอฟเฟกต์’ (Warburg Effect) หรือการแพร่กระจายของมะเร็งได้สำเร็จ
‘วอร์บูร์ก เอฟเฟกต์’ เป็นการเรียกชื่อตามบุคคลสำคัญ ออตโต ไฮน์ริช วอร์บูร์ก (Otto Heinrich Warburg) นักชีววิทยาสัญชาติเยอรมัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี 1931 ซึ่งพยายามศึกษากลไกการเกิดเซล์มะเร็งมาตลอด จนทำให้ช่วงเวลา 100 ปีผ่านมา วอร์บูร์ก เอฟเฟกต์ นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่สถาบันวิจัยมะเร็งทั่วโลกต่างเร่งศึกษา และตั้งประเด็นถกเถียงกันมายาวนาน แต่กลับหาสาเหตุหลักของการเปลี่ยนเซลล์ปกติเป็นมะเร็งไม่พบ
ทว่าความหวังครั้งใหม่ของมวลมนุษยชาติเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อผลการวิจัยชิ้นล่าสุดของศาสตราจารย์โจฮาน เธอะเวเลียน (Johan Thevelein) นักชีววิทยาโมเลกุล และทีมงาน แสดงหลักฐานชิ้นสำคัญเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเมทาบอลิซึมของกลูโคส (Glucose Metabolism) กับกระบวนการเปลี่ยนผ่านเซลล์ปกติให้กลายเป็นเซลล์มะเร็ง โดยพวกเขาเริ่มต้นโครงการวิจัยดังกล่าวใน 2008 และใช้ยีสต์เป็นโมเดลศึกษา เนื่องจากลักษณะคล้ายเซลล์เนื้อเยื่อในร่างกายมนุษย์ คือแสดงให้เห็นวงจรชีวิตของเจริญเติบโต และใช้กระบวนการสลายกลูโคสเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ
หลังจากเฝ้าสังเกตปฏิกิริยาของยีสต์ภายในห้องทดลองทีมนักวิจัยชี้ชัดว่า การบริโภคน้ำตาลสูงเกินความพอดีมีส่วนกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งในร่างกายตื่นตัว และลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเซลล์มะเร็งต้องการน้ำตาลเป็นพลังงานมากกว่าเซลล์ปกติในของร่างกาย แต่ข้อสรุปของผลงานวิจัยดังกล่าวมาจากห้องทดลองเท่านั้น
ขณะที่สถานการณ์การบริโภคของคนไทยยังอยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันคนไทยยังเสพติดการบริโภคน้ำตาลในทุกมื้ออาหาร เฉลี่ยวันละ 28 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขปลอดภัยเกือบ 5 เท่า ส่วนโรคมะเร็งยังคงครองแชมป์สาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งต่อเนื่อง เฉลี่ยคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปีละกว่า 67,000 ราย หรือประมาณ 8 รายต่อชั่วโมง