ไม่พบผลการค้นหา
มองการวิ่งผ่านประสบการณ์ ชุมพล ครุฑแก้ว นักวิ่งอัลตราคนแรกของไทย ที่พิชิตเทือกเขาหิมาลัย หลัง 'ตูน บอดี้สแลม' ประกาศหยุดพักร่างกาย 2 วันหลังกล้ามเนื้อขาอักเสบ โดยเชื่อว่า 'ตูน' สามารถวิ่งได้จนบรรลุเป้าหมาย

หลังวิ่งอย่างต่อเนื่องมาแล้วกว่า 20 วัน วันนี้ (23 พ.ย.60) ตูน บอดี้สแลม หรือ อาทิวราห์ คงมาลัย ต้องประกาศขอพักรักษาจากอาการกล้ามเนื้อขาอักเสบ ที่จังหวัดชุมพร 2 วัน ก่อนกลับมาอีกครั้ง 25 พ.ย.นี้

เดิม ตูน บอดี้สแลม ตั้งเป้าหมายในการวิ่งในโครงการ 'ก้าวคนละก้าว' เพื่อระดมทุนช่วยเหลือโรงพยาบาล 11 แห่งทั่วประเทศ โดยจะเริ่มต้นวิ่งจาก อ.เบตง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา และจะไปสิ้นสุดที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในวันที่ 25 ธ.ค.รวมระยะเวลา 55 วัน ระยะทาง 2,191 กิโลเมตร พร้อมตั้งเป้าหมายยอดเงินบริจาคประมาณ 700 ล้านบาท

การวิ่งของ ตูน บอดี้สแลม เทียบเคียงได้กับการวิ่งระยะไกลของนักวิ่งในประเทศไทยหลายคน หากลองมองผ่านการวิ่งของผู้มีประสบการณ์ ที่พึ่งผ่านรายการ 'การแข่งขันอัลตรารันนิ่ง' ประเทศเนปาล โดยใช้เวลา 48 วัน ในการพิชิตเส้นทางธรรมชาติ 1,760 กิโลเมตร ของเทือกเขาหิมาลัย มาเมื่อไม่นานมานี้


17952999_986576944810708_9162021653823156820_n.jpg

"ชายผู้ซึ่งหิมาลัยไว้ชีวิต" คือฉายา ของ ชุมพล ครุฑแก้ว หรือ ดร.จุ๋ง ซึ่งบอกเล่าประสบการณ์ การฝึกซ้อม และพัฒนาการของร่างกาย ซึ่งเขาเชื่อว่า ร่างกายมนุษย์คือสิ่งมหัศจรรย์ หากเรารู้จักสื่อสารกับร่างกายของตัวเองอย่างถูกต้อง การปรับตัวและพัฒนาของร่างกายจะสอดรับกับเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ได้

เช่นเดียวกับ การวิ่งของ ตูน บอดี้สแลม ซึ่ง ดร.จุ๋งเชื่อว่า ความสำเร็จเกิดขึ้นตั้งแต่การประกาศวิ่งระยะทาง 2,191 กิโลเมตร แม้จะห่วงในเรื่องของระยะเวลา 55 วันที่ดูจะบีบรัดมากเกินไปแต่ก็เชื่อว่าทีมงานที่ดูแลและประเมินการวิ่งของ ตูน บอดี้สแลม น่าจะแก้ปัญหาได้

"ถ้าผมห่วงก็เรื่องเวลา 55 วัน ที่อาจจะทำให้ร่างกายอาจจะได้พักไม่มาก แต่ผมเชื่อในเรื่องของร่างกายมนุษย์นะ และเชื่อมั่นในทีมงานของ ตูน บอดี้สแลม จะประเมินการวิ่งตลอดเวลาจะไม่น่าจะมีปัญหาอะไร"

หากลองย้อนประสบการณ์ของ ดร.จุ๋ง ทำให้ถึงเชื่อพัฒนาของร่างกายมนุษย์ว่ามีความมหัศจรรย์มากขนาดไหน โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 ก่อนที่จะพิชิตหิมาลัย ดร.จุ๋ง ถือเป็นนักวิ่งอัลตรามาราธอนคนแรกของประเทศไทยที่สามารถจบการแข่งขันรายการวิ่งบนเส้นทางวิ่งรอบเทือกเขาแอลป์ ซึ่งถือเป็นสนามวิ่งสุดหฤโหดระดับโลกระยะทาง 350 กม. ภายในเวลา 154.44 ชั่วโมง

"ถือเป็นความภูมิใจ แต่ไม่ใช่ความยิ่งใหญ่" ดร.จุ๋ง บอกว่า เป้าหมายในการวิ่งแท้จริงแล้วคือเพื่อสุขภาพ เพราะเป็นคนที่ชื่นชอบการวิ่งตั้งแต่เด็ก ทำให้วิ่งแล้วมีความสุข 

จุดเริ่มก่อนที่ ดร.จุ๋ง จะกลายเป็นนักวิ่งอัลตรา ระดับแนวหน้าของประเทศไทย ย้อนไปเมื่อ 8 ปีที่แล้วเริ่มต้นการวิ่งในที่ทำงานของตัวเองจากกิจกรรมเพื่อสานสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน

ขณะนั้นเขาเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการพัฒนามาตรฐานและการทดสอบ ศูนย์เทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

"อยากทำกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างแล็บ แต่คิดว่ากีฬาแบบไหนที่จะมีส่วนร่วมกันได้ทุกคน เพราะหากแข่งกีฬาก็จะเป็นก็จะได้เฉพาะนักกีฬา จึงนึกถึงการวิ่งเพราะแค่เดินได้ วิ่งได้ก็มีส่วนร่วมด้วยกติกาเดินรอบสำนักงาน 1 รอบ ได้ 1 คะแนน"

จากจุดเริ่มเล็กๆทำให้ ดร.จุ๋งเริ่มชอบการวิ่งมากขึ้นเพราะเห็นพัฒนาการด้านสุขภาพของตัวเองและเพื่อนร่วมงาน จนเป็นแรงกระตุ้นให้กระโดดเข้าสู่การแข่งขันวิ่งระยะไกลด้วยการวิ่งกรุงเทพมาราธอนระยะทาง 10 กิโลเมตร



14355028_850794688388935_7119477531607265606_n.jpg

ความท้าทายในการวิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะบรรยากาศในสนามแข่งกระตุ้นให้เกิด การพัฒนาจนที่สุดเขาตัดสินใจร่วมวิ่งแข่งรอบเทือกเขาแอลป์ ซึ่งสนามวิ่งสุดหฤโหดระดับโลกระยะทาง 350 กม.ต้องวิ่งผ่านภูเขา 25 ลูกทั้งวันทั้งคืนโดยไม่หยุดพัก

"ผมเห็นความมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์ ที่สามารถปรับตัวได้เพียงแต่เราต้องเรียนรู้ ที่จะสื่อสารกันอย่างถูกต้อง การวิ่งรอบเทือกเขาแอลป์ผมมีเวลานอนแค่วันละ1 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้"

ความท้าทายเพิ่มมากขึ้นไปอีกขั้น และครั้งนี้ถึงขนาดทำให้ ดร.จุ๋ง ตัดสินใจลาออกจากหน่วยงานที่เรียกว่ามีความมั่นคงแห่งหนึ่ง เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันอัลตรารันนิ่ง ในรายการ Great Himalaya Trail 2017 หรือการวิ่งตามเส้นทางธรรมชาติที่เชื่อมจากทางฝั่งตะวันออกสุดของเทือกเขาหิมาลัยไปจรดทางตะวันตกสุดในประเทศเนปาล ระยะประมาณ 1,760 กิโลเมตร

"มันเป็นเรื่องยากที่จะลาออกจากหน้าที่การงานและหน่วยงานที่มั่นคง แต่เมื่อเห็นว่ามันคุ้มค่าพอก็ต้องตัดสินใจเลือก"



17352066_970323569769379_2259896351027822345_n.jpg

การวิ่งที่เนปาลในครั้งนี้สร้างความแตกต่าง และทำให้มุมมองของชีวิตเปลี่ยนไป โดยเฉพาะความรู้สึกหลังการแข่งขันมันที่มากกว่าความภูมิใจ จนไม่สามารถบรรยายออกมาได้

"ทุกครั้งที่ผมวิ่งความรู้สึกคือภูมิใจผมทำสำเร็จ และบอกเล่าความรู้สึกนี้ออกมาได้ แต่ผมวิ่งที่เนปาล ความรู้สึกของผมมากกว่าความภูมิใจ เกินกว่าจะพูดออกมาได้ ยิ่งเมื่อวิ่งเสร็จและขึ้นเฮลิคอปเตอร์แล้วมองกลับ หิมาลัยยิ่งใหญ่จนผมไม่รู้ว่าวิ่งข้ามมาได้อย่างไร"

นั่นจึงเป็นที่มาของฉายาที่ว่า "ชายผู้ซึ่งหิมาลัยไว้ชีวิต" เพราะตลอดเส้นทางที่ยากลำบากหลายครั้งก้อนหินขนาดมหึมาหล่นลงห่างจากเท้าไม่มากนัก รวมถึงอาการบาดเจ็บระหว่างเส้นทาง ที่ทำให้เขาต้องเรียนรู้การพูดคุยสื่อสารกับร่างกายตัวเองอย่างใกล้ชิด

"ถ้าจะบอกว่าที่ผมผ่านมาได้เพราะธรรมชาติไว้ชีวิต ก็ไม่ใช่เรื่องเกินไปเลย เพราะหลายครั้งที่ผมรอดมาได้ปแบบหวุดหวิด"

ดร.จุ๋ง บอกว่าการวิ่งผ่านเทือกเขาเนปาลถือเป็นทดสอบและการเรียนรู้ตัวเองอย่างแท้จริง ระหว่างการวิ่งจะถูกตัดขาดจากการสื่อสารทั้งหมด แต่สามารถส่งข้อความจากสัญญาณดาวเทียมได้ครั้งละ 160 ตัวอักษรเท่านั้น 

"ครั้งหนึ่งระหว่างทางผมไม่สบายอาหารเป็นพิษจากการกินโยเกิร์ตของคนท้องถิ่น อาเจียนและมีไข้ประมาณ3 วัน แต่การเรียนรู้ภาษาของร่างกายตัวเอง ทำให้การฟื้นตัวทำได้ โดยไม่ต้องหยุดพักเลย"

ความยากลำบากของหิมาลัยไม่ได้ทำให้ ดร.จุ๋งล้มเลิกความตั้งใจในการพิชิต แม้ว่ารายการนี้จะใช้เวลาทั้งหมด 48 วัน ช้ากว่าเวลาที่กำหนดไว้ คือ 45 วัน ก็ตาม 



14317428_850794248388979_1034464906828191374_n.jpg

ดร.จุ๋ง บอกว่า ที่ผ่านมาอาการบาดเจ็บ หรือปัญหาต่างๆ ที่เจอ ไม่เคยทำให้คิดที่จะหยุดวิ่งหรือหันหลังกลับ เพราะเป้าหมายจะทำให้เราเต็มที่ แม้ว่าผลการแข่งขันจะเป็นอย่างไร ออกมาดีหรือไม่ แต่การฝึกซ้อมที่เพียงพอจะสร้างความมั่นใจ ขณะที่ร่างกายแข็งแรงเวลาแข่งเราก็จะสนุกและทำได้ดีด้วย 

การแข่งขัน สำหรับ ดร.จุ๋ง แล้วเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วินาทีแรกที่ตัดสินใจสมัครแข่ง ดังนั้นเราต้องแข่งกับตัวเอง โดยให้คิดเสมอว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว เพื่อให้ทั้งสองอย่างไปด้วยกัน 

สำหรับรายการต่อไปที่ ดร.จุ๋ง จะเข้าร่วมพิชิตคือโครงการ "TJ ‘s True South" ของ "เอก" ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้บริหารในกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ที่เฟ้นหาคนไทย 10 คนเป็นตัวแทนไป ปักธงชาติไทยที่ขั้วโลกใต้

ครั้งนี้สิ่งที่เขากลัวคือ "กลัวตาย" เพราะรับรู้กันว่าเส้นทางของการวิ่งในขั้วโลกใต้มีผู้เสียชีวิตมาแล้วหลายคน ทำให้การฝึกซ้อม และเตรียมตัว นอกจากเพิ่มความแข็งแรงของร่างกายด้วยการฝึกซ้อมวิ่ง เดินในความชัน และยังต้องเรียนรู้เทคนิคการเอาตัวรอดจากสภาพแวดล้อมที่สุดขั้ว เนื่องจากอาจเกิดอาการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยได้ โดยที่เราไม่รู้ล่วงหน้า 

สิ่งเหล่านี้ ดร.จุ๋ง บอกว่า ศึกษา และเรียนรู้จากประสบการณ์ ที่สำคัญจากคุณเอก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักธุรกิจระดับต้นๆ และเป็นนักวิ่งแถวหน้าของเมืองไทยที่ผ่านประสบการณ์ทรหดสุดขั้วมามากมาย ทั้งหนาวสุดที่ขั้วโลกเหนือ ร้อนสุดกลางทะเลทราย 



18768259_1426246584131848_7949757728391748614_o.jpg

ย้อนกลับมาในฐานะนักวิ่งผู้ผ่านประสบการณ์ ดร.จุ๋งมองการวิ่งของ "ตูน บอดี้สแลม" ว่า เป็นเรื่องดี 

ส่วนจะวิ่งเข้าเส้นชัยตามระยะเวลา หรือได้เงินตามที่ตั้งเป้าไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง เพราะ"ตูน" ทำสำเร็จตั้งแต่เริ่มประกาศจัดทำโครงการแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ได้ช่วยโรงพยาบาล 

ส่วนการขอถ่ายรูปหรือการหยุดแวะทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างทางที่หลายคนมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าทำ ดร.จุ๋ง กลับบอกว่า เป็นสิ่งดีที่ช่วยให้กล้ามเนื้อของ "ตูน" ได้ผ่อนคลาย และหยุดพัก เพราะการวิ่งแบบเดิมๆ ทุกวัน จะใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าในที่สุดอาจทำให้เกิดปัญหาอาการบาดเจ็บ อันตราย

กระนั้นก็ตาม ดร.จุ๋งหวังว่าจะเห็น ดราม่า ด้านบวกของการวิ่งครั้งนี้ ให้ไปไกลถึงการ สร้างกระแสให้คนออกกำลังกายด้วยการวิ่งมากขึ้น หรือแก้ปัญหาระบบสธารณสุขของไทยอย่างยั่งยืนได้ด้วย