ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรี เสนอที่ประชุมผู้นำเอเปกให้ความสำคัญกับทุนมนุษย์ การเข้าถึงทางดิจิทัล และนวัตกรรมสีเขียว หวังเอเปคจะประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากขึ้นในอนาคตเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มก้าวสู่สังคมดิจิทัลได้อย่างเต็มศักยภาพและเท่าเทียม

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปค ช่วงที่ 1 (Retreat I) ภายใต้หัวข้อ การเติบโตอย่างมีนวัตกรรม การมีส่วนร่วม และการจ้างงานที่ยั่งยืนในยุคดิจิทัล(Innovative Growth, Inclusion and Sustainable Employment in the Digital Age) โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอสิ่งที่เอเปคสามารถเริ่มดำเนินการเพื่อวางรากฐานไปสู่การเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ได้แก่

ประการแรก การพัฒนาทุนมนุษย์ นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า การพัฒนาทุนมนุษย์เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของทุกสมาชิกเอเปค ซึ่งได้จัดทำกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล เป็นแนวทางเตรียมความพร้อมบุคลากรทุกเพศทุกวัยให้มีศักยภาพเท่าทันต่อวิวัฒนาการของเทคโนโลยี โดยไทยให้ความสำคัญต่อการเตรียมกำลังคนในยุคดิจิทัลผ่านบูรณาการสะเต็มศึกษา เพื่อนำไปสู่การคิดแก้ปัญหา และการสร้างสรรค์นวัตกรรมในชีวิตประจำวันและการทำงาน รวมทั้งการวิจัยและพัฒนา การใช้ดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ และการให้ความสำคัญกับการเตรียมแรงงานในยุคดิจิทัล

ประการที่สอง การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในฐานะที่เป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก ควรต้องสนับสนุนภาคการเกษตรปรับตัวเข้ากับยุคดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารโลก ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงสนับสนุนให้เกษตรกรน้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาปรับใช้กับเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเช่น Big data ในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไปสู่เกษตรอัจฉริยะ เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเชื่อมต่อกับตลาดโลก รวมถึงรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

ประการที่สาม และการส่งเสริมธุรกิจสีเขียว การส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสีเขียว มีส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ MSMEs มีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก และเป็นรากฐานให้เอเปคเติบโตอย่างยั่งยืน ครอบคลุม และมีนวัตกรรม ตลอดจนผลักดันให้ภูมิภาคของเราเปลี่ยนผ่านไปสู่ “สังคมคาร์บอนต่ำ” และก่อให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมสีเขียวที่กำลังเติบโตขึ้นอีกด้วย

นายกรัฐมนตรีหวังว่า เอเปคและกลไกเหล่านี้จะประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากขึ้นในอนาคตเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มก้าวสู่สังคมดิจิทัลได้อย่างเต็มศักยภาพและเท่าเทียม นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่เวียดนามเสนอวาระการดำเนินการเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าในการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ การเงิน และสังคม (Action Agenda for Advancing Economic, Financial and Social Inclusion) เพื่อเป็นแนวทางให้สมาชิกเอเปคเติบโตไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง