ไม่พบผลการค้นหา
'วอยซ์ ออนไลน์' ตรวจปฏิทินโรดแมปเลือกต้ังที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในต้นปี 2562 นับจากวันที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.บังคับใช้เมื่อครบกำหนด 90 วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขณะที่รัฐบาล คสช.จะพ้นอำนาจกลางปี 62

มติของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 25 มกราคมนี้ เพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 -3

สาระสำคัญที่สุด อยู่ที่การรื้อถ้อยคำในมาตรา 2 โดยกำหนดใหม่ว่า "พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป"

เท่ากับ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะถูกประกาศใช้ในอีก 3 เดือน

ส่งผลให้โรดแมปเลือกตั้งที่ "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เคยประกาศต่อหน้าผู้นำสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายปี 2560 ว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 จะต้องขยับออกไปทันที

ทวีศักดิ์ สูทวาทิน สนช 157.jpg
ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษก กมธ.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกต้ัง ส.ส.

เมื่อไล่ดูร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ

ล่าสุดมีเพียง ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศใช้เป็นฉบับแรก

ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีผลบังคับใช้แล้วอย่างเป็นทางการเป็นฉบับที่สอง

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จะเข้าสู่วาระที่ 2-3 ของ สนช. วันที่ 26 มกราคมนี้

ตามบทเฉพาะ มาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญ บังคับให้ต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกทันทีใน 150 วัน นับแต่วันที่กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งประกาศใช้ครบทั้ง 4 ฉบับ

ถ้าเป็นไปตามเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะทำให้ปฏิทินเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้เมื่อพ้นกำหนด 90 วันของการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สูตรขยับการเลือกตั้งดังกล่าว แม้จะมีเหตุผลของ กมธ.เพื่อให้เวลากับพรรคการเมืองได้ปรับตัวดำเนินกิจกรรมทางธุรการของพรรคการเมืองก็ตาม

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสูตรดังกล่าว ย่อมมีผลทำให้ สนช.  คสช. รัฐบาล อยู่ในอำนาจเพิ่มต่อไปอีก 3 เดือน หรือเรียกง่ายๆตามที่บรรดานักการเมืองท้วงติงคือ "ต่อท่ออำนาจ"

ยิ่งไล่เหตุการณ์ครองอำนาจของ "รัฐบาล คสช." ด้วยแล้ว นับแต่เข้ามากุมอำนาจบริหารราชการแผ่นดินเป็นเวลาเกือบ 4 ปี ( 22 พ.ค. 2557 - ปัจจุบัน)

การขยับโรดแมปครั้งแรกผ่านกลไกของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เกิดขึ้นในปี 2558

เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ"

ส่งผลให้เกิด "คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" ชุดที่มี "ซือแป๋" มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานเข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กินเวลาถึง 3 ปี (ยกร่างรัฐธรรมนูญ พ่วง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ)

1200  eb Cover Template.jpg

กลไกของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 กำหนดในบทเฉพาะกาลให้ต้องจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เสร็จก่อน

ขณะที่ สนช. ได้ปรับแก้ไขร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ยืดกระบวนการเลือกตั้งออกไปอีก 90 วัน 

พร้อมกันนั้น ยังมีสมาชิก สนช. สงวนคำแปรญัตติให้การเลือกตั้งต้องล่าช้าไปอีก 120 วันด้วย

มติที่ประชุม สนช. จึงไม่น่ามีอะไรแหกโผ และน่าจะยึดสูตรให้การเลือกตั้งต้องล่าช้าออกไปอีกไม่น้อยกว่า 90 - 120 วัน

000_Hkg9425057.jpg

เมื่อกางปฏิทินขั้นตอนที่จะมี การเลือกตั้ง รวมทั้งความเป็นไปได้ของ "รัฐบาลชุดใหม่" หากยึดตามร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. สูตรยื้อเลือกตั้งออกไปอีก 90 วัน น่าจะเป็นไปตามห้วงเวลาดังนี้

  • 25 มกราคม 2561

สนช. เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. วาระ 2-3

  • 26 มกราคม 2561

สนช. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. วาระ 2-3

  • มีนาคม 2561

องค์กรอิสระ ศาล รธน. กรธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับเลือกตั้ง 2 ฉบับสุดท้ายมีเนื้อหาตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

กรณีร่างกฎหมาย 2 ฉบับไม่มีปัญหา

  • เมษายน - มิถุนายน 2561 

ประกาศใช้ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับสุดท้ายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

  • กันยายน 2561

ครบกำหนด 90 วัน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศวันเลือกตั้งทั่วไป

  • ตุลาคม 2561 - กุมภาพันธ์ 2562

 เลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกใน 150 วัน

  • มีนาคม - เมษายน 2562

กกต.ประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ช้ากว่า 60 วัน

(กรณีประกาศผลจนได้ ส.ส. 95%)

  • พฤษภาคม 2562

เปิดประชุมรัฐสภา ครั้งแรก เลือกประธานรัฐสภา - เลือกนายกรัฐมนตรี

  • มิถุนายน 2562

รัฐบาลเลือกตั้งชุดใหม่ เข้าบริหารราชการแผ่นดิน - รัฐบาล คสช. พ้นตำแหน่ง

ปฏิทินทั้งหมดนี้ จึงน่าจะอยู่ในเงื่อนเวลาดังกล่าวโดยประมาณ ซึ่งการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกน่าจะเกิดขึ้นในต้นปี 2562

ขณะที่รัฐบาลเลือกตั้งชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามกลไกของบทเฉพาะกาลในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก น่าจะเกิดขึ้นกลางปี 2562

แต่ถ้าการเลือกตั้งต้องถูกยื้อออกไปอีก

คงหนีไม่พ้นการใช้แทคติกทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เพื่่อยืดการเลือกตั้งออกไปเหมือนเช่นทุกครั้ง !


230118_TimelineElection-01.jpg



อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง