กรรมาธิการสถาปนิกผังเมือง (ไทย) ล้านนา และกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา เป็น 2 ใน 4 กลุ่มวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับการออกแบบเมือง และสร้างบ้านแปงเมืองในมิติต่างๆ ในฐานะของกลุ่มวิชาชีพด้านการออกแบบเมืองและในฐานะชาวเชียงใหม่ กรรมาธิการสถาปนิกผังเมือง (ไทย) ล้านนา และกรรมาธิการสถาปนิกล้านนาต่างไม่เห็นด้วยกับ "โครงการบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ เชียงใหม่" ซึ่งกำลังเป็นประเด็นสำคัญที่กระทบความรู้สึกของประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก เหตุผลสำคัญที่กรรมาธิการฯ ทั้ง 2 กลุ่มไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ ประกอบด้วย
ประเด็นแรกคือ มิติด้านสิ่งแวดล้อม ดอยสุเทพมีความสำคัญต่อเชียงใหม่และชาวเชียงใหม่ เป็นป่าธรรมชาติที่ใกล้เมืองที่สุด มีความหลากหลายทางชีวภาพ แหล่งผลิตอากาศบริสุทธิ์ และแหล่งน้ำของเมือง นักวิชาการด้านชีวภาพเคยกล่าวไว้ว่า พื้นที่ป่าธรรมชาติดอยสุเทพมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงกว่าเกาะอังกฤษทั้งเกาะ หากปล่อยให้มีการรุกพื้นที่ป่าที่เป็นรอยต่อระหว่างป่ากับเมืองไปเรื่อยๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของป่าได้
ผลกระทบต่อมาในมิติด้านสังคม-วัฒนธรรม นอกจากดอยสุเทพจะเป็นผืนป่าของเมืองแล้ว ยังมีความหมายสำคัญต่อชาวเมืองเชียงใหม่มาช้านาน พญามังราย ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่เห็นความสำคัญของดอยสุเทพในฐานะเป็นปราการด้านตะวันตกของเมือง และเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงเมือง อีกทั้งในสมัยพญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังรายที่ศาสนาพุทธรุ่งเรืองที่สุด ผืนป่าทางตะวันตกของเมืองถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ตั้งของศาสนสถานสำคัญหลายแห่ง พระองค์ทรงอธิษฐานเสี่ยงทายช้างมงคลเพื่อหาสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่ยอดดอยสุเทพ และพระธาตุดอยสุเทพกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเมืองและเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่นั้นมา
อีกทั้งยังส่งผลต่อมิติด้านการออกแบบเมือง เพราะเมืองประวัติศาสตร์ที่สำคัญทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับภูมิศาสตร์และภูมิทัศน์อันเป็นที่ตั้งของเมือง การออกแบบมักคำนึงถึงความงามและความสำคัญขององค์ประกอบทางธรรมชาติ และอัตลักษณ์ของเมือง จากความสำคัญของดอยสุเทพทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสังคม-วัฒนธรรมที่กล่าวมา อาจกล่าวได้ว่ามุมมองจากเมืองสู่ดอยสุเทพเป็นมุมมองสำคัญ อันเป็นมรดกล้ำค่าที่ประมาณราคาไม่ได้ที่ควรสงวนรักษา ส่งเสริมให้เป็นจุดเด่นของเมือง การทำลายมุมมองนี้นอกจากจะทำลายสิ่งที่มีคุณค่าเดิมของเมืองแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของชาวเมืองอย่างประเมินความเสียหายไม่ได้
และ มิติด้านภัยพิบัติ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนเป็นสิ่งที่นักออกแบบควรให้ความสำคัญ พื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพเป็นป่าเต็งรังที่ทิ้งใบในฤดูแล้ง และมักจะเกิดปัญหาไฟป่า ดังนั้นการสร้างที่พักอาศัยติดชายป่า อาจเกิดปัญหาดังกล่าวต่อผู้อาศัยได้ นอกจากนี้การสร้างที่อาศัยบนพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ยังมีปัญหาเรื่องการรับน้ำหลากในฤดูฝน
สุดท้ายในมิติด้านวิสัยทัศน์การพัฒนาเมือง เชียงใหม่เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ความพยายามในการปกปักรักษาเมืองประวัติศาสตร์ให้พัฒนาเติบโตอย่างงดงาม เชียงใหม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเบื้องต้น โดยองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนฏรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ในปี 2558 ที่ชาวเชียงใหม่ต่างสนับสนุนพื้นที่สำคัญสองแห่งที่คณะทำงานเพื่อการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกฯ ให้ความสนใจคือพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ และพื้นที่ดอยสุเทพโครงการบ้านพักตุลาการ อยู่ในรัศมีใกล้เคียงกับพื้นที่ดอยสุเทพดังกล่าว ย่อมมีส่วนทำลายคุณค่าและส่งผลต่ออนาคตการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลกของเมืองเชียงใหม่แน่นอน