นับตั้งแต่มีประกาศกฎกระทรวงอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบ ตาม พ.ร.บ. สรรพสามิต พ.ศ. 2560 ผ่านมาเพียง 1 เดือนกว่าๆ นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการยาสูบ กล่าวว่า โครงสร้างภาษีใหม่ ทำให้ราคาบุหรี่นอกลดลง เนื่องจากผู้ผลิตและจำหน่ายบุหรี่ต่างประเทศ 4-5 แบรนด์ สามารถเฉลี่ยต้นทุนราคาบุหรี่ในกลุ่มพรีเมียม และนำส่วนต่างที่เกิดขึ้นมาอุดหนุนบุหรี่กลุ่มราคาระดับกลางกับราคาประหยัด เพื่อลดราคาลงมาแข่งขันกับบุหรี่ไทย
โดยจะเห็นว่าราคาขายปลีกแนะนำ มีผลให้บุหรี่ต่างประเทศบางแบรนด์ทำราคาลดลงมาจากเดิมอยู่ที่ 72 บาทต่อซอง เหลือ 60 บาทต่อซอง เนื่องจากภาระภาษีลดลงถึงซองละ 9.79 บาท
ขณะที่บุหรี่ของโรงงานยาสูบในเซคเมนต์เดียวกัน กลับมีราคาสูงขึ้นจากซองละ 51 บาท เป็น 60 บาท และมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นซองละ 9.83 บาท
นอกจากนี้ ส่วนแบ่งตลาดของบุหรี่ไทยจากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 80 ลดเหลือร้อยละ 65.92 ภายในเดือนแรก หลังภาษีใหม่มีผลบังคับใช้ ขณะที่ ส่วนแบ่งตลาดของบุหรี่ต่างประเทศเพิ่มเป็นร้อยละ 32.53
ขณะเดียวกัน ประเมินว่า จะมีผลให้ยอดจำหน่ายบุหรี่ของโรงงานยาสูบในปีงบประมาณ 2561 ลดลงเหลือ 17,000 ล้านมวน จากปีก่อนจำหน่ายได้ 27,000 ล้านมวน และในปีงบประมาณ 2562 อาจจะเหลือเพียง 8,500 ล้านมวน
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับราคาบุหรี่ภายในประเทศ และแก้ไขปัญหาการดัมพ์ราคาของบุหรี่ต่างประเทศบางแบรนด์ ซึ่งส่งผลกระทบกับรายได้ของโรงงานยาสูบ ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ให้รัฐ จนอาจมีผลให้เงินนำส่งรัฐลดลงกว่า 12,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2561 จากปีก่อนหน้ามีรายได้ส่งรัฐกว่า 56,000 ล้านบาท
ขณะที่ นายอรุณ โปธิตา เลขานุการสมาคมชาวไร่บ่มเอง จังหวัดเชียงใหม่ และเกษตรชาวไร่ผู้ปลูกยาสูบ บ้านผาแหน หมู่ 6 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง กล่าวว่า อัตราภาษีใหม่ ทำให้บุหรี่ไทยแพงกว่าบุหรี่นอก แต่ไม่ช่วยลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ แต่จะทำให้คนหันไปสูบบุหี่นอกมากขึ้น จึงกังวลโรงงานยาสูบ จะลดโควตารับซื้อใบยาสูบ หากยอดขายบุหรี่ลดเหลือ 17,000 ล้านม้วน จาก 28,000 ล้านม้วน หรือหายไปร้อยละ 40 กระทบอาชีพที่สร้างรายได้หลักให้กับครอบครัว