เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. เวทีเสวนาทางวิชาการ “ทางออกจากวังวนอำนาจนิยม : ระบบรัฐธรรมนูญนิยมประชาธิปไตย” โดยสาขาวิชานิติศาสตร์ ร่วมกับสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการและแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่ามีการฉีกรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้งผ่านคณะรัฐประหาร สะท้อนให้เห็นว่าคำสั่งของคณะรัฐประหารใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญมาตลอด แล้วจะเรียกว่ากฎหมายสูงสุดได้อย่างไร
นอกจากนี้ยังมีค่านิยมของคนในสังคมว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลพลเรือนมักไม่สามารถทำให้บ้านเมืองสงบ และบริหารปกครองไม่ได้ จึงต้องให้ผู้มีอำนาจเข้ามายึดอำนาจ และอยู่ในอำนาจ
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า เราจะออกจากระบบอำนาจนิยมได้อย่างไร อย่าถามว่าเมื่อไหร่ แต่ถ้าจะออกได้จากอำนาจนิยม จะต้องพยายามไม่ให้คสช.สืบทอดอำนาจ 20 ปีได้ตามแผน ที่มีการเขียนขึ้นมาอีกทั้งที่ยังไม่เลือกตั้งและไม่ปลดล็อก เพราะอยากใช้เวลาที่เหลือวางแผนจนมั่นใจว่าหากเลือกตั้ง คสช.จะกลับมามีอำนาจอีก
ซึ่งตอนนี้ยังทำไม่ได้เลยต้องใช้เวลา ขณะเดียวกันย้ำว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเครื่องสืบทอดอำนาจของคสช. รัฐบาลที่จะเข้ามาโดยวิธีการแบบที่ถูกกำหนดไว้และการทำรัฐประหารเป็นสิ่งเลวร้าย ทั้งนี้เราต้องไปสู่การมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นกฎหมายสูงสุดจริงๆ เป็นรัฐธรรมนูญที่ยั่งยืนที่ไม่มีใครมาฉีกได้ง่ายๆ
ด้านนายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์รัฐศาสตร์ มสธ. กล่าวว่า แม้จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าประเทศไทยยังไม่มีรัฐธรรมนูญ เพราะว่ามาตรา 44 ยังคงอยู่ ซึ่งสาเหตุเกิดจากการจัดทำรัฐธรรมนูญอาจเป็นเพียงพิธีกรรม ไม่ให้คนมีส่วนร่วม ประชาชนไม่รู้สึกเป็นเจ้าของ ทั้งนี้ในระบบรัฐธรรมนูญไทยที่เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่อาจจัดดุลอำนาจของสังคมการเมืองไทยได้
หลักการที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยที่ตั้งมั้น ต้องมีหลักการ 3 ส่วน คือ 1.ต้องมีการเลือกตั้งสะท้อนการมีอำนาจของประชาชน 2.ต้องมีกลไกการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ป้องกันการทุจริต และ 3.ต้องเกิดการมีส่วนร่วม ต้องวางบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน และยึดหลักนิติธรรม
ทั้งนี้ปัญหาเชิงแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมือง ประชาธิปไตยในสังคมไทยยังไม่เป็นหนึ่งเดียว คนบางกลุ่มเชื่อว่า ประชาธิปไตยแบบสากลยังไม่เหมาะกับสังคมไทย แต่อีกกลุ่มเชื่อว่า ประชาธิปไตยแบบสากลจะเป็นทางออกของสังคมได้ ผลก็คือ เกิดการรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม ทางออกจากวังวนอำนาจนิยมคือ 1.ต้องร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนมีส่วนร่วม โดยยึดหลักนิติธรรม 2.จัดดุลอำนาจในรัฐธรรมนูญ ที่ครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น ไม่ใช่แค่ลายลักษณ์อักษร ที่เข้าไม่ถึงหรือจัดการไม่ได้.