หากเคยอ่านบล็อกกันมาอาจจะรู้กันอยู่แล้วว่าเราเชื่อในพลังทุนนิยมในการส่งเสริมประเด็นทางสังคม และมองว่าการผลักดันประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศและด้านสังคมอื่นๆ ในไทยมักไม่มีพลังมากพอ เพราะภาคธุรกิจไม่ค่อยสนใจจะผลักดันและส่งเสริมกันมากนัก ดังนั้น เมื่อเห็นว่า มีหนังสั้น "i STORIES" 4 เรื่อง ได้แก่ L G B T ที่ฮอนด้าทำออกมา ก็ถือเป็นเรื่องน่ายินดี และตั้งตาดูว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
ซีรีส์นี้เปิดตอนแรกมาด้วย T ที่มาจาก Transgender เล่าเรื่องคนข้ามเพศที่ถูกหลอก ถูกขโมยรถจักรยานยนต์ เจอเพื่อนสมัยเรียน เล่าถึงอดีตที่เคยถูกรุมข่มขืนโดยที่เพื่อนก็ไม่ช่วย เพราะคิดว่าเธอ 'ชอบ' เพราะ “ก็เดินตูดบิดซะอย่างงั้น” ซึ่งล้วนเป็นประเด็นจี้จุดที่ทำให้หลายคนพูดถึงหนังสั้นชุดนี้ เสียงตอบรับจากกลุ่มหลากหลายทางเพศต่อเรื่องนี้ก็ค่อนข้างดีทีเดียว
แต่ตอนที่ 2 คือ B ที่มาจาก Bisexual กำกับโดย สาลินี เขมจรัส ทำให้ค่อนข้างผิดหวัง แต่ที่คนไม่ค่อยวิพากษ์วิจารณ์อะไรมากนักก็เพราะไบเซ็กชวลในไทยเองก็ไม่ได้เสียงดังอะไรกันนัก และเนื้อเรื่องมันค่อนข้างคลุมเครือ จนบางคนงง คือเรื่องบอกเล่าคู่รักผู้หญิง ซึ่งเขาก็ไปดูไพ่ยิปซี หมอดูก็ทำนายว่า ระวังเรื่องมือที่สาม จะจริงจังถึงขั้นแต่งงานมีครอบครัว แล้ววันนึง 2 คนนี้ก็ไปเช่ารถจักรยานยนต์ แล้วก็ไปเจอผู้ชายเจ้าของร้านเช่า แล้วผู้ชายนี่ก็พาสองคนนี้ไปชายหาดที่สงบ ทำไปทำมา ผู้หญิงคนนึงก็จูบผู้ชายที่เพิ่งเจอกัน แฟนก็เห็น ก็ถามว่าทำทำไม อีกคนก็บอกว่า "ไม่รู้"
ถ้ายังไม่แย่พอ คำโปรยบนเฟซบุ๊กบอกว่า ‘ B - ความสับสนบนเส้นทางสามเส้า จะเป็น เธอ หรือ เขา เมื่อต้องเลือกเพียงหนึ่งเส้นทางให้กับตัวเอง’ นอกจากคอมเมนต์ของคนที่บอกว่าเรื่องนี้มันงงๆ ก็มีคนทักท้วงว่า ทำไมทำเรื่องไบเซ็กชวลออกมาเป็นคนหลายใจ นอกใจแฟนแล้วอ้างว่าสับสน แอดมินเพจของฮอนด้าก็มาตอบว่า “อาจจะแล้วแต่การตีความนะครับ ตอนจบจริงๆ ก็ไม่ได้สรุป เพราะเปิดให้ตีความได้หลากหลายมาก” ส่วนอีกคนก็แสดงความเห็นว่า เรื่องนี้ “จะสื่อถึงความรักไม่จำกัดเพศ เเต่สับสนกับตัวเอง แล้วทำให้อีกคนเจ็บอย่าเรียกว่าความรัก” แล้วแอดมินฮอนด้ามาตอบว่า “บางทีคนเราก็สับสนในตัวเองได้ครับ ค่อยๆ เรียนรู้กันไป”
พัง หนังที่ทำออกมาก็ว่าแย่แล้ว ถ้าไม่มาตอบเลยอาจจะดีเสียกว่า เพราะยิ่งตอบยิ่งทำให้รู้ว่าฮอนด้าไม่เข้าใจ ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงพอสมควร เพราะฮอนด้ากำลังตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของไบเซ็กชวลทุกๆ เรื่อง แทนที่จะทำให้คนเข้าใจไบเซ็กชวลมากขึ้น กลายเป็นแคมเปญหวังดีประสงค์ร้าย
ขอตอบเรื่องการตีความหนังเรื่องนี้ก่อนว่า ไม่ว่าเรื่องนี้จะทำตอนจบให้ไปคิดว่าตกลงใครไปแต่งงานกันแน่ ก็ช่างมันเถอะ คนทำหนังกับฮอนด้าอาจจะคิดว่าจุดประสงค์หลักของเรื่องอยู่ตรงนั้น อยู่ที่ความคลุมเครือในตอนจบ แต่สิ่งที่คุณเล่ามาทั้งหมดมันบอกว่า จะมีคนหนึ่งนอกใจ ไม่ว่าคนผมสั้นหรือผมยาวไปแต่งงาน มันมีคนหนึ่งที่นอกใจไง
ไบเซ็กชวล ≠ คนหลายใจ
คุณรู้ไหมว่า ไบเซ็กชวลโดนคนอื่นรังเกียจว่าเป็นพวกโลเลมาตลอด ในต่างประเทศก็เจอปัญหานี้ ไบเซ็กชวลถูกเหยียดว่าเป็นพวกเห็นแก่ตัว ไม่เลือกสักทาง ไม่ได้ถูกสังคมเหยียดหยามเหมือนคนรักเพศเดียวกัน เพราะก็ทำตัวเนียนไปกับพวกรักเพศตรงข้ามได้ ผู้หญิงบางคนขยะแขยงเมื่อรู้ว่าผู้ชายที่กำลังคุยด้วย เขาเคยมีแฟนเป็นผู้ชายมาก่อน บางคนระแวงว่าความรักกับไบเซ็กชวลมันไม่ยั่งยืน เพราะสุดท้ายคนที่คุยด้วยจะหันไปชอบอีกเพศหนึ่ง เลสเบี้ยนบางคนถึงขั้นขยะแขยงเมื่อคิดว่าไบเซ็กชวลคนนี้เคยมีเซ็กส์กับผู้ชายมาก่อน
ไบเซ็กชวลอาจจะไม่เจอการเลือกปฏิบัติที่ชัดเจนอย่างที่คนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกันบางคนเจอ แต่ไบเซ็กชวลเองก็ถูกเหยียดจากคนหลายๆ กลุ่ม แม้แต่ในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศกันเอง ถ้าจะทำหนังสักเรื่องเพื่อให้เข้าใจไบเซ็กชวลมากขึ้น ก็ควรต้องช่วยลบล้างภาพลักษณ์แย่ๆ เหล่านั้นออกไป ไม่ใช่ยิ่งตอกย้ำว่าไบเซ็กชวลเป็นพวกหลายใจ
แน่นอน บางคนอาจจะหลายใจ บางคนอาจรักเดียวใจเดียว คบทีละคนก็มี ดาราฝรั่งที่บอกว่าตัวเองเป็นไบเซ็กชวลหลายคนไม่ได้ดูหลายใจนะ แองเจลินา โจลี, อลัน คัมมิง, ซาราห์ พอลสัน ก็มีแฟนมาหลายคนนะ แต่ก็คบทีก็นานเหมือนกัน ที่ยกตัวอย่างมานี่ แทบไม่มีใครมีเรื่องมือที่ 3 เลยนะ (มีแต่แบรด พิตต์ นอกใจเจนนิเฟอร์ แอนิสตัน มาคบกับแองเจลินา โจลี)
ไบเซ็กชวล ≠ สับสนทางเพศ
ไบเซ็กชวลถูกคนอื่นตีตราเรื่องนี้มาตลอด หนังสั้นเรื่องนี้ยิ่งตอกย้ำว่า ไบเซ็กชวลเป็นแค่เฟสหนึ่งก่อนที่จะค้นพบตัวเอง แน่นอน การสับสนทางเพศเกิดขึ้นได้ แต่นั่นอยู่ในขั้น questioning ไง lgbtq q ในสมัยก่อนคือ questioning นะ คำว่า queer มันเพิ่งถูกนำกลับมาใช้ในความหมายปัจจุบันแค่ไม่กี่ปีมานี้เอง (แต่ก่อนเควียร์เป็นศัพท์เก่า ก็เอาไว้เรียกเกย์เรียกเลสเบี้ยนนั่นแหละ) เมื่อเขากำลังค้นหาตัวเองก็คือกำลังค้นหาตัวเอง แต่ไบน่ะ เขาหาตัวเองเจอแล้วว่ามีแรงดึงดูดทางเพศกับทั้งผู้ชายและผู้หญิง ไม่ได้ชอบแค่เพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น เมื่อค้นพบตัวเองแล้ว ก็คือไม่สับสนแล้ว การบอกว่า “บางทีคนเราก็สับสนในตัวเองได้ครับ ค่อยๆ เรียนรู้กันไป” นี่มันไม่ถูกต้อง
คนที่เป็นไบ เขารู้ตัวเองว่าชอบได้ทั้งชายและหญิง แล้วบางคนก็ต่างกันนะ บางคนค้นพบว่า ชอบผู้ชายและผู้หญิงได้พอๆ กัน 50-50 บางคนพบว่าส่วนใหญ่ชอบผู้หญิงมากกว่า แต่ก็ยังชอบผู้ชายบางคนแบบ 70-30 ไรแบบนี้ คนเป็นไบเซ็กชวลต้องถามตัวเองหลายขั้นตอนนะ เผลอๆ หลายขั้นตอนกว่าคนรักเพศเดียวกันที่บางครั้งเกิดมาก็รู้เลยว่าชอบเพศไหน
อันที่จริง พอเข้าใจได้นะว่าทำไมคนถึงเข้าใจผิดเกี่ยวกับไบเซ็กชวล เพราะเกย์และเลสเบี้ยนหลายคนประกาศตัวว่าเป็นไบเซ็กชวลในช่วงแรกๆ ก่อนจะมั่นใจและประกาศว่าเป็นคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งมีสาเหตุหลักๆ อยู่ 2 ข้อ คือ 1. ก็ยังไม่แน่ใจจริงๆ ว่าชอบอีกเพศจริงไหม (กระบวนการ questioning ยังไม่จบ) 2. กลัวว่าการประกาศว่าเป็นเกย์ไปเลยมันอาจจะหักมุมเกินไปสำหรับคนรอบข้าง กลัวคนอื่นช็อก ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงรู้สึกว่า สุดท้ายไบเซ็กชวลจะเลือกเพศใดเพศหนึ่ง เมื่อหายสับสนแล้ว
แม้แต่ซีรีส์เรื่อง The L Word เกี่ยวกับเลสเบี้ยนที่ดูเหมือนจะก้าวหน้าเรื่องเพศแล้ว (ในสมัยนั้น) ก็ยังมีฉากที่เลสเบี้ยนบอกให้อลิซ ซึ่งเป็นไบเซ็กชวลเลิกสับสนและเลือกสักทีว่าจะชอบผู้ชายหรือผู้หญิง
ไบเซ็กชวลแต่งงานแล้วก็ยังเป็นไบเซ็กชวล
ความเชื่อว่าไบเซ็กชวลไม่มีอยู่จริงทำให้หลายคนเข้าใจว่า เมื่อคนที่บอกว่าตัวเองเป็นไบเซ็กชวลแต่งงานแล้ว ก็แปลว่าคนนั้นได้เลือกแล้วว่าจะชอบเพศไหน ก็ไม่ได้เป็นไบเซ็กชวลแล้วน่ะสิ แต่ตรรกะนี้ช่างน่าขัน เพราะเวลาที่คนรักต่างเพศตัดสินใจแต่งงานกับใครสักคน การแต่งงานมันเป็นการประกาศว่าเราตัดสินใจเลือกรัก 'เพศไหน' หรือประกาศว่าเราเลือกรัก 'คนไหน' กันแน่?
ดาราที่เป็นไบเซ็กชวลอย่าง อลัน คัมมิง เคยให้สัมภาษณ์ว่า คนมักคิดว่าเขาเป็นเกย์ เพียงเพราะเขาแต่งงานกับสามีมาหลายปี แต่จริงๆ แล้วเขาก็ยังมองว่าผู้หญิงบางคนมีแรงดึงดูดทางเพศได้เช่นกัน ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ว่าเขาหลายใจ คนรักเพศตรงข้ามก็เป็นเหมือนกัน พวกผู้ชายมีเมียแล้ว ก็เห็นผู้หญิงคนอื่นน่าดึงดูดอยู่ ผู้หญิงมีสามีแล้วก็ยังเห็นผู้ชายคนอื่นมีเสน่ห์อยู่ แต่ไม่มีอะไรเกินเลย เพราะก็แต่งงานแล้ว ไบที่แต่งงานแล้วก็เหมือนๆ กัน แต่หากเลิกรากับแฟนคนปัจจุบัน เขาก็อาจไปชอบคนอื่นที่เป็นเพศหญิง หรือเพศชายก็ได้ เพราะฉะนั้น การแต่งงานไม่ได้ทำให้คนนั้นสิ้นสภาพการเป็นไบเซ็กชวล
อธิบายเรื่องไบเซ็กชวลมายืดยาวนี้ก็เพื่อตอกย้ำเรื่องเดิมเรื่องเดียวก็คือ การส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ หรือแม้แต่เรื่องด้านสังคมใดๆ ก็ตาม จะต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับเรื่องนั้นก่อน เมื่อเข้าใจแล้วก็ต้องมีความละเอียดอ่อนมากขึ้นด้วย เพราะแค่มีใจอยากจะทำ อยากจะส่งเสริมอย่างเดียว แต่ไม่เข้าใจประเด็นนั้นอย่างลึกซึ้งพอ จนอาจสร้างความยุ่งยากหรือสร้างความเสียหายในเรื่องนั้นยิ่งกว่าเดิม
เรื่องนี้สร้างความเสียหายร้ายแรง เพราะนี่คือการสร้างทัศนคติที่ไม่ดีต่อไบเซ็กชวล ทำให้คนที่เขาเจอการเหยียด การถูกปฏิบัติด้วยอคติอยู่แล้ว ยิ่งเจอปัญหานี้ซ้ำๆ เหมือนถูกซ้ำเติมด้วยคนที่ปากก็บอกว่าอยากช่วยเหลือเรา