ไม่พบผลการค้นหา
ชิโอริ อิโตะ ออกมาพูดเรื่องนี้ในปี 2017 ก่อนกรณีไวน์สตีน แต่สิ่งที่เธอพบคือการโดนสังคมญี่ปุ่นด่าทอ ไล่ให้ไปหาความช่วยเหลือเอง และต้องสาธิตการโดนข่มขืนกับตุ๊กตายางให้ตำรวจผู้ชายดู

จนถึงตอนนี้เป็นเวลาเกือบเก้าเดือนแล้วที่โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ชื่อดัง ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ถูกเปิดโปงจากนิวยอร์กไทมส์เรื่องล่วงละเมิดทางเพศนักแสดงหญิงในวงการ จนเป็นแรงบันดาลใจให้เหล่าดารา เซเล็บ รวมถึงคนธรรมดาพากันออกมาเปิดเผยถึงประสบการณ์ถูกล่วงละเมิด กลายเป็นความเคลื่อนไหวที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อ #MeToo

กระแส #MeToo ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในฮอลลีวู้ดหรือสหรัฐอเมริกาเท่านั้น มันยังขยายมายังฝั่งเอเชียด้วย ที่เห็นชัดๆ เลยคือเกาหลีใต้ที่เมื่อช่วงต้นปีนักแสดงหญิงออกมาแฉผู้กำกับหรือดาราชายกันรายวัน จนถึงขั้นมีเรื่องตลกร้ายว่าหนังเรื่องหนึ่งต้องหยุดการถ่ายทำชั่วคราวเพราะบรรดานักแสดงชายถูกกระแส #MeToo เล่นงานกันหมด หรือผู้ถูกกล่าวหาบางคนก็เลือกจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย เช่น นักแสดงคนดัง โจมินกิ

ทว่าในประเทศญี่ปุ่นกลับไม่มีนักแสดงหญิงออกมาพูดเรื่องทำนองนี้เลย แทบจะมีอยู่รายเดียวที่โด่งดังขึ้นมานั่นคือ ชิโอริ อิโตะ นักข่าวสาวที่ออกมาแถลงแบบเปิดหน้าว่าเธอถูกนักข่าวชายรุ่นเก๋า โนริยูกิ ยามากูจิ มอมยาและข่มขืน แต่เรื่องราวซับซ้อนขึ้นไปอีกเมื่อยามากูจิสนิทสนมกับนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ (เขาเป็นคนเขียนหนังสือชีวประวัติของอาเบะ) ในที่สุดศาลตัดสินไม่ฟ้องยามากูจิโดยอ้างว่าหลักฐานไม่เพียงพอ

ส่วนอิโตะถูกคนในโลกออนไลน์ถล่มด่า ทั้งข้อหา ‘ไร้ยางอาย’ ‘อยากดัง’ และ ‘พวกต่อต้านอาเบะส่งเธอมาแน่ๆ’ จนท้ายสุดเธอต้องย้ายไปอยู่ประเทศอังกฤษ


06.jpeg

อิโตะออกมาเปิดเผยเรื่องราวของเธอต่อสาธารณชนในช่วงเดือนพฤษภาคม 2017 นั่นคือก่อนข่าวฉาวของไวน์สตีนเสียอีก แต่กระแส #MeToo นี่เองทำให้กรณีของเธอเป็นที่สนใจในระดับโลก ล่าสุดเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา BBC ก็ได้ออกอากาศสารคดีความยาวหนึ่งชั่วโมงชื่อ Japan’s Secret Shame อันว่าด้วยการเรียกร้องความยุติธรรมของเธอและผลตอบรับจากสังคม

แม้ว่าตัวสารคดีจะเข้าข้างฝั่งอิโตะอย่างไม่ปิดบัง แต่มันก็ทำให้เราเห็นถึง ‘ปัญหา’ หลายประการของสังคมญี่ปุ่น อิโตะเล่าว่าหลังจากเกิดเหตุเธอติดต่อไปยังศูนย์ช่วยเหลือผู้ถูกข่มขืน แต่ทางนั้นกลับยืนยันว่าเธอจะต้องไปที่ศูนย์ด้วยตัวเอง แน่นอนว่าตอนนั้นอิโตะไม่มีกะจิตกะใจก้าวออกจากบ้านด้วยซ้ำ สารคดียังถ่ายทำตอนที่อิโตะไปเยือนที่ศูนย์นี้ในภายหลัง เจ้าหน้าที่กล่าวขอโทษว่าเมื่อก่อนมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เพียงคนเดียว จึงไม่สามารถเดินทางไปหาเธอได้ แต่เมื่ออิโตะถามว่าที่ศูนย์มีเครื่องมือบันทึกหลักฐานการถูกข่มขืน (Rape Kit) หรือไม่ก็ได้คำตอบน่าเศร้าว่าเครื่องมือนี้จะมีเฉพาะตามโรงพยาบาลใหญ่เท่านั้น

อิโตะยังเล่าต่อว่าตอนที่ไปแจ้งความ เธอเรียกร้องขอให้การกับตำรวจหญิง ทางนั้นอิดออดอยู่พักหนึ่งก่อนจะส่งตำรวจหญิงมา หลังจากที่อิโตะเล่าเรื่องราวทั้งหมดเธอก็ได้ทราบว่าอีกฝ่ายเป็นตำรวจจราจรและเธอต้องให้การใหม่กับตำรวจชายอีกครั้ง (สารคดีระบุว่าสัดส่วนตำรวจหญิงในญี่ปุ่นมีเพียง 8%) ซ้ำร้ายตำรวจยังให้อิโตะจำลองเหตุการณ์กับตุ๊กตาขนาดเท่าคนจริง กลายเป็นการถูกข่มขืนครั้งที่สอง (Second Rape) ไปโดยปริยาย เช่นนั้นแล้วสถิติของญี่ปุ่นที่ว่ามีคนถูกข่มขืนเพียง 5 คนต่อหนึ่งล้านคน อาจไม่ได้แปลว่าประเทศนี้ปลอดภัย หากแต่เป็นผู้เสียหายไม่อยากมาแจ้งความต่างหาก

ในด้านกฎหมายก็มีเรื่องน่าตกใจว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการข่มขืนไม่ได้ปรับปรุงมาตั้งแต่ปี 1907 แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่าเรื่องกฎหมายคือเรื่องแนวคิดของสังคมญี่ปุ่นที่ดูเหมือนจะไม่มีคอนเซ็ปต์ของ ‘การยินยอมพร้อมใจ’ (Consent) สักเท่าไร

นักวิชาการคนหนึ่งกล่าวว่าในญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่ว่า No means No (ไม่ แปลว่า ไม่) แต่กลับเป็น No means Yes (ไม่ แปลว่า ใช่) กล่าวคือมีผู้ชายบางส่วน (หรือกระทั่งผู้หญิง) เข้าใจว่าผู้หญิงจะมีเซ็กส์จะขัดขืนพอเป็นพิธี สุดท้ายเดี๋ยวก็ยอมเอง ซึ่งแนวคิดแบบนี้มีให้เห็นทั้งในหนังโป๊ AV หรือกระทั่งฉากพระเอกจับกดนางเอกในการ์ตูนตาหวาน

อีกฉากที่น่าสนใจคือตอนที่อิโตะไปบรรยายตามมหาวิทยาลัย นักศึกษาบางคนเข้าใจว่าการยอมไปดื่มเหล้ากับเพื่อนชายถือว่าเป็น Consent แล้ว หรือนักศึกษาหญิงหลายคนบอกว่าเคยมีประสบการณ์ถูกลวมลามทางเพศบนรถไฟ (ทั้งการถูกจับก้นหรือถูกช่วยตัวเองใส่กระโปรง) พวกเธอให้สัมภาษณ์ว่าผู้หญิงเกือบทุกคนต้องเคยเจอเรื่องพวกนี้ จนกลายเป็นเรื่องในชีวิตประจำหรือเรื่องที่ต้องทนๆ ไป จึงไม่น่าแปลกเลยว่าทำไมสังคมญี่ปุ่นถึงไม่ตื่นตัวกับกระแส #MeToo

ขณะที่รายการ Asian Boss เคยไปสัมภาษณ์ผู้คนตามท้องถนนว่ารู้จักคำว่า MeToo หรือไม่ หลายคนตอบว่า “ไม่รู้”


สารคดีปิดท้ายด้วยแนวโน้มหลายอย่างที่ดีขึ้น อิโตะได้รับจดหมายให้กำลังใจมากมาย ผู้หญิงหลายคนกล้าออกมาเปิดเผยประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยมีอิโตะเป็นแรงบันดาลใจ (แต่ส่วนใหญ่ยังปิดบังตัวตน) หรือญี่ปุ่นเองมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายว่าด้วยการข่มขืนครั้งแรกในรอบ 110 ปี เช่น เพิ่มโทษจำคุกจาก 3 ปีเป็น 5 ปี หรือให้ผู้ชายแจ้งความว่าถูกข่มขืนได้

อย่างไรก็ดี ที่ว่าไปคือความเปลี่ยนแปลงที่เป็นเพียงแรงกระเพื่อมลูกเล็กๆ เท่านั้น ข่าวเรื่องการลวนลามบนรถไฟหรือล่วงละเมิดทางเพศในญี่ปุ่นยังคงมีแทบทุกวัน ในฝั่งอิโตะเองเธอยังคงเรียกร้องความยุติธรรมต่อไป (เธอตัดสินใจฟ้องคดีแพ่งต่อเมื่อกันยายน 2017) ไม่มีใครรู้ว่าเธอจะชนะคดีหรือไม่ เมื่อไรที่เธอจะได้กลับมาอยู่ญี่ปุ่นอย่างถาวร หรือถึงที่สุดเราไม่อาจแน่ใจว่าเรื่องราวของเธอเป็นความจริง 100% หรือไม่ แต่ในสารคดี Japan’s Secret Shame อิโตะทิ้งท้ายอย่างหนักแน่นว่า

“ฉันไม่เสียใจกับสิ่งที่ทำลงไปเลย เพราะอย่างน้อยมันก็ดีกว่าการนิ่งเงียบ”  

ชมสารคดี Japan's Secret Shame