ไม่พบผลการค้นหา
หนังสือศาสตร์การ ‘อาบป่า’ ฉบับภาษาอังกฤษในชื่อ ‘Forest Bathing’ ของด็อกเตอร์ ควิง หลี (Dr. Qing Li) ประธานสมาคมเวชศาสตร์เขตร้อน ประเทศญี่ปุ่น เตรียมวางจำหน่ายในวันที่ 5 เมษายนนี้ โดยเนื้อหาเชิญชวนให้ผู้อ่านคืนกลับสู่ความสงบเงียบ พร้อมพินิจหลักการซึมซับธรรมชาติผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งเป็นหนึ่งแนวทางการฟื้นฟูร่างกาย และเยียวยาจิตวิญญาณ

ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า ต้นไม้มีพลังในการบำบัดรักษา ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นการปล่อยน้ำมันหอมระเหยที่เรียกว่า ‘ไฟทอนไซด์’ (Phytoncide) ออกมาป้องกันจุลชีพ หรือจุลินทรีย์ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้มนุษย์รู้สึกผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้า และความเครียด

‘ไฟทอนไซด์’ หรือ ‘กลิ่นธรรมชาติบำบัด’ อุดมไปด้วยคุณสมบัติมากมาย อาทิ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ลดความดันโลหิต ความวิตกกังวล ความสับสน ปรับปรุงการนอนหลับ และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์

นอกจากนั้น การสูดดมไฟทอนไซด์สามารถเพิ่มการทำงานของเซลล์ฆาตกรธรรมชาติ (Natural Killing Cell – NK) ที่อาจช่วยต่อสู้กับโรคมะเร็ง และภาวะซึมเศร้าได้ด้วย ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นประโยชน์อันน่าประทับใจ อีกทั้งยังได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์แล้ว

fall-autumn-red-season.jpg

และจากความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับธรรมชาติบำบัด มันเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ด็อกเตอร์ ควิง หลี (Dr. Qing Li) ประธานสมาคมเวชศาสตร์เขตร้อน ประเทศญี่ปุ่น ตัดสินใจเดินทางเข้าป่าตั้งแต่ปี 1988 เพราะเขาเป็นนักศึกษาแพทย์ในกรุงโตเกียวคนหนึ่งที่ต้องเผชิญกับความเครียดเสมอ และช่วงเวลา 1 สัปดาห์ที่หลีเข้าไปพักผ่อนอยู่กลางป่าด้วยการตั้งแคมป์ มันสามารถช่วยฟื้นฟูพละกำลังให้กลับคืนมา ทำให้เขาพยายามพินิจพิเคราะห์หาเหตุผลทางการแพทย์ที่เหมาะสมนับตั้งแต่นั้นมา

“ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่กวี และผมได้ค้นหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังความรู้สึกมานานหลายปี เพราะผมอยากรู้ว่าทำไมพวกเราถึงรู้สึกดีขึ้นเวลาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ บางคนศึกษาเรื่องป่า บางคนศึกษาเรื่องการบำบัด แต่ผมศึกษาเรื่องป่าบำบัด เพื่อหาทุกวิถีทางเดินป่าที่สามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเราได้”

สำหรับใครที่กำลังสนใจเดินทางเข้าป่า เพื่อฟื้นฟูร่างกาย ไม่ว่าคุณจะเป็นคนเมือง หรือนักสำรวจ ในหนังสือศาสตร์การอาบป่าฉบับภาษาอังกฤษในชื่อ ‘Forest Bathing’ ของหลี ซึ่งมีกำหนดวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 เมษายนนี้ ได้แนะนำวิธีการรักษาสุขภาพกาย และการเยียวยาจิตวิญญาณ โดยซึมซับธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายผ่านรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส เพื่อพิสูจน์ประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ของการใช้เวลาอยู่ท่ามกลางต้นไม้ และเพลิดเพลินกับธรรมชาติ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใดก็ตาม

ต้นกำเนิดของศาสตร์การอาบป่า

แนวคิดร่วมสมัยเกี่ยวกับการใช้ป่ารักษาโรคเริ่มโด่งดังในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เพราะคนญี่ปุ่นนั้นให้ความสำคัญกับธรรมชาติ และจัดเฉลิมฉลองให้กับดวงจันทร์ ภูเขา ทะเล แม้น้ำ ป่าไม้ ฯลฯ มายาวนาน เช่น ฤดูกาลดอกไม้บานสะพรั่ง คืนพระจันทร์วันเพ็ญ และหิ่งห้อยเริงระบำท่ามกลางความมืด ขณะเดียวกัน 2 ศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองมากในญี่ปุ่นคือ ศาสนาพุทธ และศาสนาชินโต ก็บูชาธรรมชาติกันมาเป็นเวลาช้านาน 

“สำหรับศาสนาพุทธนิกายเซน เน้นการเรียนรู้จากสภาวะความเป็นจริงของธรรมชาติ ส่วนรากฐานความเชื่อของศาสนาชินโตเกิดจากธรรมชาติ และมนุษย์สิงสถิตอยู่ในธรรมชาติ ทั้งต้นไม้ โขดหิน สายลม ลำธาร และน้ำตก”

ต่อมาในปี 1982 รัฐบาลญี่ปุ่นแนะนำแนวคิดเรื่อง ‘ชินริน-โยกุ’ (Shinrin-Yoku 森林浴) หรือ ‘การอาบป่า’ (Forest Bathing) เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนออกไปใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าของประเทศในการบำบัดรักษา และพัฒนาคุณภาพชีวิต จนกระทั้งเทรนด์การอาบป่าได้กลายเป็นวัฒนธรรมที่นิยมไปทั่วโลก


‘ชินริน-โยกุ’ (Shinrin-Yoku) มาจากคำว่า ‘ชินริน’ (Shinrin) ในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า ‘ป่าไม้’ บวกกับคำว่า ‘โยกุ’ (Yoku) แปลว่า ‘การอาบน้ำ’


อย่างไรก็ตาม ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังสนับสนุนแนวคิดการอาบป่า ด้านนักวิทยาศาสตร์สัญชาติอเมริกันพยายามร่างวิทยานิพนธ์ที่อธิบายว่า ทำไมธรรมชาติสามารถเคลื่อนย้าย และเปลี่ยนแปลงผู้คนไปได้ ตามทฤษฏี ‘ไบโอฟิลเลีย’ (Biophilia) หรือความใฝ่หาชีวภาพ ในหนังสือของเอ็ดเวิร์ด โอ.วิลสัน (Edward O. Wilson) นักชีววิทยาวิวัฒนาการ ตีพิมพ์เมื่อปี 1984 ซึ่งชี้ให้เห็นว่า มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติ และมันเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิต จึงไม่แปลกที่มนุษย์จะรู้สึกเบิกบานยามเห็นดอกไม้แย้มกลีบ และรู้สึกชื่นใจยามใบไม้ผลิ


‘ไบโอฟิลเลีย’ (Biophilia) มาจากคำว่า ‘ไบออส’ (Bio) ในภาษากรีกที่แปลว่า ‘สิ่งมีชีวิต’ บวกกับคำว่า ‘พิลาส’ (Philos) แปลว่า ‘ความรัก’


แม้จะไม่มีทางระบุปริมาณธรรมชาติที่ใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ได้ชัดเจน เพราะการดำรงอยู่ของมนุษย์ขึ้นอยู่กับนิสัย และความชอบส่วนตัว แต่ไบโอฟิลเลียอาจช่วยอธิบายได้ว่า เหตุใดต้นไม้สามารถเยียวยารักษามนุษย์ได้ แม้อยู่ห่างไกลออกไป

1.jpg

โดยในปี 1984 โรเจอร์ อุลริช (Roger Ulrich) นักวิจัยทางการแพทย์ ตีพิมพ์ผลการศึกษาชื่อว่า ‘การมองออกไปนอกหน้าต่างทำให้การฟื้นตัวหลังการผ่าตัดดีขึ้น’ เขาวิเคราะห์ข้อมูลของโรงพยาบาลนครฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย กว่าหนึ่งทศวรรษ และผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่มองเห็นวิวทิวทัศน์สีเขียวฟื้นตัวเร็ว และอาการซึมเศร้าน้อยกว่าผู้ป่วยที่ต้องจ้องมองอาคาร หรือผนังคอนกรีต

ที่สำคัญ อุลริชยังมีประสบการรณ์ตรงกับเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเขาเริ่มมีความสนใจในความเป็นไปได้ในการบำบัดโรคด้วยมุมมองสีเขียว เพราะเขาเคยเจ็บป่วยในวัยเด็ก ซึ่งทำให้ต้องนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานาน กระทั่งเขาสังเกตเห็นว่า ต้นสนสูงที่อยู่นอกหน้าต่างช่วยฟื้นฟูอาหารเจ็บป่วยให้เขา

คุณสามารถทดสอบผลกระทบได้ด้วยตนเองจากการดูวิดีโอสั้นๆ ด้านล่าง ซึ่งมันถ่ายทำในป่าเรดวู้ด รัฐแคลิฟอร์เนีย แล้วมาดูกันว่า คุณรู้สึกอย่างไร?

ที่ผ่านมา นักวิจัยทั่วโลกต่างพุ่งความสนใจไปที่ประเด็นยารักษาโรค วิทยาศาสตร์ และต้นไม้ในศตวรรษที่ 20 ส่วนการศึกษาเรื่องธรรมชาติบำบัด หรือป่าบำบัด อุบัติขึ้นในญี่ปุ่นเมื่อปี 1980 จนกระทั่งเวลาเดินทางมาถึงสหัสวรรษใหม่ การใช้ป่ารักษาโรคกลายเป็นแนวทางการรักษาทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ในปี 2004 หลีร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรการศึกษาของญี่ปุ่น ก่อตั้งกลุ่มการบำบัดรักษาด้วยป่าขึ้นมา

ปีถัดมา หลีได้ทำการศึกษาด้วยการพาอาสาสมัครที่เป็นชายวัยกลางคนสุขภาพดีจากกรุงโตเกียวจำนวน 12 คน เดินเข้าไปในป่าเป็นเวลา 3 วัน โดยแพทย์ผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยได้ทำการจดบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ระดับอะดรีนาลีน และฮอร์โมทนคอร์ติซอล ตั้งแต่ก่อนเดินทาง ระหว่างเดินทาง จนกระทั่งจบทริป 

ผลสรุปออกมาว่า การอยู่ท่ามกลางต้นไม้มีผลเชิงบวกต่อร่ายกายอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการอาบป่าช่วยให้ระบบประสาทของอาสาสมัครทำงานดีขึ้น ฮอร์โมนความเครียดลดลง อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง ความดันโลหิตลดต่ำลง และอาสาสมัครทุกคนรู้สึกเหมือนร่างกายได้รับการฟื้นฟู ทำให้นอนหลับได้ยาวนานขึ้น

aliunix-535672-unsplash.jpg

ตั้งแต่ปี 2004-2012 ญี่ปุ่นได้จ่ายเงิน 4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 127 ล้านบาท ให้กับการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการอาบป่า เพื่อทดสอบผลกระทบของป่าในหลายร้อยหัวข้อภายใต้บริบท และผืนป่าที่แตกต่างกันออกไป

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นขึ้นทะเบียนต้นไม้บำบัดมากถึง 62 ชนิด ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกว่า 5 ล้านคนต่อปี โดยคุณไม่จำเป็นต้องไปทริปเข้าป่า เพื่อเสพไม้ที่เป็นยา เพราะมีการนำคุณประโยชน์ของต้นไม้มาอยู่ในเมืองได้อย่างง่ายดาย เพียงไปเที่ยวสวนสาธารณะ หรือปลูกต้นไม้เองที่บ้านก็สามารถมองเห็น ได้กลิ่น และสัมผัส เพื่อบำรุงรักษาร่างกาย และเยียวยาจิตใจตัวเองได้ 

ความเป็นจริงแล้ว ป่าที่เป็นยาอาจจะเป็นสิ่งที่เข้าถึงทุกคน ราคาไม่แพง ดีต่อสุขภาพของมนุษย์ทุกคน