ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มเคลื่อนไหวด้านแรงงาน เสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาศักยภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานให้ดีขึ้น แนะยกเลิกรูปแบบการจ้างงานไม่มั่นคง ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวกันทั่วประเทศ เก็บภาษีจากคนรวยมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างหลักประกันให้แก่ประชาชนทุกคน

พจนา วลัย นักกิจกรรมกลุ่มสังคมนิยมแรงงาน ออกแถลงการณ์เนื่องในวันแรงงาน 1 พ.ค. 2561 ในยุคการปกครองของรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหาร การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานจะเป็นต้องเร่งรื้อฟื้นอำนาจการต่อรองของแรงงานทุกภาคส่วน เนื่องจากมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพในวงกว้าง มีการเลิกจ้างผู้นำ/สมาชิกสหภาพแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม และมีการลดทอนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายที่สำคัญ โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั้งผลที่ออกมายังไม่เป็นคุณประโยชน์ต่อประชาชน ดังนั้น ในการเรียกร้องของฝ่ายแรงงานต่อรัฐบาลทหาร รวมถึงพรรคการเมืองที่เตรียมการเลือกตั้งในอนาคตควรโยงไปถึงการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจการเมืองให้ยุติธรรมกับผู้ใช้แรงงานซึ่งมีข้อเสนอ 6 ข้อ ดังนี้

ข้อเสนอที่ 1 ยกเลิกรูปแบบการจ้างงานไม่มั่นคง เช่น ลูกจ้างเหมาช่วง ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างสัญญาจ้างระยะสั้น ที่ดำรงชีวิตแบบวันต่อวัน ดิ้นรนในการหาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทย ไม่เป็นการสร้างขวัญกำลังใจและคุณภาพของกำลังแรงงานในระยะยาว ดังนั้น รัฐบาลต้องมีนโยบายการจ้างงานที่มั่นคง (Job security) ไม่ใช่พร่ำถึงแต่ความมั่นคงแห่งชาติ โดยบรรจุลูกจ้างชั่วคราวในภาครัฐและเอกชนให้เป็นพนักงานรายเดือน ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างงาน และจ้างงานโดยตรง

ข้อเสนอที่ 2 ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวกันทั่วประเทศและครอบคลุมสมาชิกครอบครัวอีก 2 คนตามมาตรฐานแรงงานสากล ไม่ใช่ค่าจ้างที่เลี้ยงคนทำงานเพียงคนเดียวเพราะเป็นเรื่องไร้เหตุผลที่จะปล่อยให้คนหาเลี้ยงชีพแบบวันต่อวัน ซึ่งผลักให้คนงานต้องทำงานยาวนาน พึ่งพาการทำงานล่วงเวลาโดยไม่จำเป็น ไม่มีเวลาพักผ่อน ดูแลครอบครัว ศึกษาหาความรู้ อบรมทักษะฝีมือเพิ่มเติม ตามระบบสามแปด และส่งผลต่อการสร้างภาระหนี้สินซึ่งนายจ้างต้องปรับตัวเพื่อให้กำลังแรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ไปพร้อมกับขึ้นเงินเดือนแก่ลูกจ้างตามอายุงานด้วย

ข้อเสนอที่ 3 สร้างเสริมสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าทุกด้านตั้งแต่เกิดจนตาย และเก็บภาษีจากคนรวยมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ นำไปสร้างหลักประกันให้แก่ประชาชนทุกคน (รัฐสวัสดิการ) เช่น เรียนฟรี มีระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพราคาถูก มีบำเหน็จบำนาญที่สามารถดำรงชีพได้

ข้อเสนอที่ 4 ยอมรับอำนาจเจรจาต่อรองและบทบาทในการบริหารองค์กรร่วมของลูกจ้าง โดยรัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เสรีภาพในการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองร่วม ต้องเปิดพื้นที่และออกกฎระเบียบที่เอื้อให้ลูกจ้างรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน โดยปราศจากการกลั่นแกล้งจากนายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชนและให้สหภาพแรงงานอยู่ในโครงสร้างการบริหารองค์กรหรือบุคคลร่วมกับนายจ้างเพื่อสร้างความรับผิดชอบ (accountable) ซึ่งกันและกัน

ข้อเสนอที่ 5 ควบคุมตรวจสอบภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานแรงงานสุขภาพอนามัย ลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อชีวิต และควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชน โดยจัดให้ตัวแทนลูกจ้าง ประชาชนในชุมชนใกล้เคียง เข้าไปตรวจสอบกระบวนการผลิต การควบคุมภายใน เพื่อประกันความปลอดภัยในการทำงาน ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อิเล็กทรอนิกส์

ข้อเสนอที่ 6 สังคมไทยจะต้องไม่ยอมรับวัฒนธรรมอำนาจนิยม การใช้ความรุนแรง และเลือกปฏิบัติต่อประชาชนที่แตกต่างกันในเรื่องเพศ อายุ ร่างกาย เชื้อชาติ ศาสนา การศึกษา ความคิดเห็นทางการเมือง เช่น แรงงานข้ามชาติ แรงงานหญิง แรงงานผู้พิการ เพศที่หลากหลาย ผู้เสียประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล เพื่อเสริมสร้างเสรีภาพในการแสดงออก ประชาธิปไตยและความสมานฉันท์ในสังคม

เพราะการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนกับการบริหารของหน่วยงานภาครัฐ ลูกจ้างคือองค์ประกอบหนึ่งของระบบการผลิต หากปล่อยให้กำลังแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมอยู่อย่างด้อยศักดิ์ศรีกว่าชนชั้นอื่น ก็เท่ากับว่านายจ้าง/ผู้บริหารเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ความมั่นคงของชาติ (National Security) จึงเกี่ยวข้องกับการสร้างหลักประกันให้นายทุนทำกำไรและสะสมทุนอย่างมหาศาลมากกว่าการสร้างความมั่นคงในการทำงานของลูกจ้าง เพราะท้ายสุดเมื่อเกิดปัญหาข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ก็เลือกที่จะเลิกจ้างคนงานด้วยดุลพินิจของศาลอยู่บ่อยๆ คือ “หากเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทํางานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกําหนดจํานวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน

ด้านนาย ชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมในวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2561 ในวันที่ 1 พ.ค. นี้ ในส่วนของ คสรท. และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และแรงงานข้ามชาติกว่า 45 องค์กร ประมาณ 5,000 คน จะร่วมกันจัดกิจกรรม "วันแรงงานสากล" จะมีการเดินขบวนตั้งแต่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามข้อเรียกร้องเดิม 10 ข้อ เมื่อปี 2560 โดยปีนี้ยังไม่มีข้อเรียกร้องใหม่ เพราะคณะกรรมการจัดงานเห็นตรงกันว่าทั้ง 10 ข้อเรียกร้องเดิมยังไม่ได้รับการตอบสนอง

โดยนายชาลี คาดว่า กลุ่มแรงงานที่จะมาร่วมเดินขบวนมากที่สุดคือ กลุ่มพนักงานบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มรัฐวิสาหกิจอื่นๆ กลุ่มพนักงานเอกชน และแรงงานข้ามชาติ สำหรับข้อเรียกร้องคือ ไม่ให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ขึ้นค่าจ้างรายวันขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ และต้องทำให้รายได้ของแรงงาน 1 คน สามารถเลี้ยงสมาชิกในครอบครัวได้ 3 คน การปฏิรูปประกันสังคม การตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง การแก้ไข พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง