ไม่พบผลการค้นหา
แม้บ็อกซ์ออฟฟิศของจีนกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ภาพยนตร์จีนกลับประสบปัญหาในการดึงดูดผู้ชมกลุ่มใหญ่ในต่างแดน ในยุคที่ประเทศพยายามผลักดันวัฒนธรรมให้ทัดเทียมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

เมื่อต้นปีนี้ ภาพยนตร์ปลุกใจยอดนิยมของจีน ‘Wolf Warriors 2’ โกยรายได้ทำลายสถิติในประเทศ พร้อมขึ้นแท่นเป็นภาพยนตร์ต่างชาติเรื่องแรกที่ทำเงินทะลวงภาพยนตร์ฮอลลีวูดเข้าสู่ลิสต์ภาพยนตร์ 100 เรื่องที่ทำเงินมากเป็นประวัติการณ์ของโลก

รายได้บ็อกซ์ออฟฟิศส่วนใหญ่ในจีนมาจากภาพยนตร์ในประเทศและภาพยนตร์แอ็กชันรักชาติ รวมถึงภาพยนตร์ฮิต เช่น ‘Great Wall’ ที่นำแสดงโดยแมตต์ เดมอน ซึ่งจีนร่วมสร้าง แต่กลับไม่สามารถดึงดูดนักดูหนังและกรรมการด้านภาพยนตร์ในต่างแดนได้เลย

โดยคณะกรรมการพิจารณารางวัลด้านภาพยนตร์ เอเชียน บริลเลียนท์ สตาร์ส (Asian Brilliant Stars) ที่จัดภายในเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน เยอรมนี ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อผลักดันภาพยนตร์เอเชียในตะวันตก ให้ความเห็นว่า คนรักหนังนอกประเทศจีนนั้นเหนื่อยหน่ายกับทางการปักกิ่งที่เน้นภาพยนตร์ซึ่งชื่นชม ‘ความถูกต้องทางการเมือง (political correct)’ รวมไปถึงระบบเซ็นเซอร์ที่เข้มงวด

“รางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศมักจะตกเป็นของภาพยนตร์จากญี่ปุ่นหรือเกาหลี ซึ่งหลายเรื่องถ่ายทอดความมืดหม่น เซ็กซ์ และความรุนแรง หรือความเย็นชาของมนุษย์” แมนเฟร็ด หว่อง (Manfred Wong) กรรมการตัดสินรางวัล ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์และนักเขียนบทชาวฮ่องกงกล่าว “แต่ระบบเซ็นเซอร์ของจีนทำให้ไม่มีภาพยนตร์แนวนั้นที่งานมอบรางวัลนี้เลย”



ภาพยนตร์เรื่อง ‘Wolf Warrior 2’ ซึ่งเล่าถึงเหล่าทหารจีนที่ไปช่วยเหลือชาวแอฟริกันจากเงื้อมมือของวายร้ายจากดินแดนตะวันตก เป็นภาพยนตร์ที่จีนเสนอให้เป็นตัวแทนประเทศไปชิงออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศในปีนี้

โดยหว่องให้ความเห็นว่า จีนพยายามโปรโมตแนวคิด ‘ความภูมิใจในวัฒนธรรมของชาติ (cultural self-confidence)’ แต่ ‘Wolf Warrior 2’ นั้นก็ดูจะภูมิใจมากจนเกินไป

ทางการจีนพยายามสร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของชาติโดยการใส่ระบบวิธีคิดและค่านิยมแบบสังคมนิยมตามแบบฉบับของจีนไปในงานศิลปะและสิ่งอื่น โดยประเทศจีนที่อยู่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ยังถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีระบบเซ็นเซอร์ทางวัฒนธรรมที่เข้มข้นเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอีกด้วย

“ในทางเศรษฐกิจแล้ว อุตสาหกรรมและบริษัทจีนหลายแห่งสามารถแข่งขันหรือเอาชนะคู่แข่งต่างชาติได้เลย แต่พอเป็นเรื่องวัฒนธรรมแล้ว ยังมีช่องว่างที่แตกต่างกันมาก” ริชาร์ด เซิน (Richard Shen) ผู้จัดงานมอบรางวัลเอเชียน บริลเลียนท์ สตาร์ส กล่าว

ขณะที่ โชโซะ อิชิยามะ (Shozo Ichiyama) หนึ่งในคณะกรรมการ มองว่า อุปสรรคสำคัญของวงการภาพยนตร์จีนไม่ได้อยู่ที่การเซ็นเซอร์ แต่เป็นเรื่องของการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ในเร็ววัน

แม้จำนวนโรงภาพยนตร์ในประเทศจีนจะมีมากกว่าอเมริกา แต่โรงส่วนใหญ่เป็นโรงมัลติเพล็กซ์ที่เลือกฉายเฉพาะภาพยนตร์ตลาด และแทบไม่มีพื้นที่ให้ภาพยนตร์แนวอื่น

อย่างไรก็ตาม หว่องหวังว่าจะมีนักทำหนังฝีมือดีสักคนมาช่วยสร้างชื่อให้วงการภาพยนตร์จีนตีตลาดต่างชาติได้สำเร็จ พร้อมยกตัวอย่าง ‘เจียจางเค่อ (Jia Zhangke)’ หนึ่งในผู้กำกับมือทองของจีน ที่ไปคว้ารางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ประเทศอิตาลี ในปี 2006 จากเรื่อง ‘Still Life’