นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยเกี่ยวกับมาตรการดูแลช่วยเหลือครอบครัวและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากการพนันบอลโลกประจำปี 2561 ว่า ได้ให้โรงพยาบาลจิตเวชในสังกัด 19 แห่งใน 13 จังหวัด คือที่ กทม. 4 แห่ง เชียงใหม่ 2 แห่ง ขอนแก่น 2 แห่ง สุราษฎร์ธานี 2 แห่ง นครสวรรค์ เลย นครพนม อุบลราชธานี นครราชสีมา นนทบุรี สมุทรปราการ สระแก้ว และสงขลา เปิดคลินิกบำบัดรักษาผู้ที่ติดพนันบอลที่แผนกผู้ป่วยนอก และให้บริการปรึกษาทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง และปรึกษาทางระบบออนไลน์ คือ เฟซบุ๊กสายด่วนสุขภาพจิต 1323-เลิกพนัน ในช่วงเวลา 14.30-22.30 น. ผู้ที่มีปัญหาสามารถขอรับบริการได้ฟรี
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่าการพนันเป็นเกมที่ยั่วยุให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกได้มาก ไม่ว่าผู้เล่นจะอยู่ในสถานการณ์ได้หรือเสีย และเกิดการเสพติดได้ง่าย ในการบำบัดรักษาผู้ที่ติดพนันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ กรมสุขภาพจิตได้ใช้เทคนิคที่เรียกว่า การบำบัดแบบเสริมสร้างแรงจูงใจ (Motivational Interviewing and Motivational Enhancement Therapy:MI &MET) โดยใช้กระบวนการทางจิตวิทยาควบคู่กับการใช้ยา หัวใจหลักจะเน้นการกระตุ้นให้ผู้รับการบำบัดค้นหาเป้าหมายหรือแรงจูงใจภายในตนเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่นการพูดคุยถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเล่นการพนัน หรือผลดีที่จะเกิดขึ้นหากเลิกเล่นพนันได้ พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมั่นว่าสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้ โดยบำบัดทั้งหมด 4 ครั้ง ใช้เวลาครั้งละ 45-50 นาที ทั้งนี้หากผู้รับการบำบัดได้รับกำลังใจจากครอบครัวหรือคนรอบข้างด้วย ก็จะเป็นแรงหนุนสำคัญทำให้ผลการรักษาได้ผลดี สามารถเลิกเล่นการพนันได้สำเร็จและเร็วขึ้น
ด้านแพทย์หญิงรัชนี ฉลองเกื้อกูล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. กล่าวว่า สถาบันฯ ได้เปิดคลินิกเลิกพนันตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มีผู้รับบริการ 30 คน ส่วนใหญ่อายุ 30-39 ปี อาการติดพนันที่พบมากที่สุด 3 อาการได้แก่ 1. มีความล้มเหลวในความพยายามที่จะควบคุมหรือเลิกเล่นการพนัน 2.มักจะกลับไปเล่นแก้มือเพื่อหวังเอาเงินที่เสียไปคืน และ 3.มีการใช้เงินเล่นการพนันต่อครั้งเพิ่มมากขึ้น เพื่อจะทำให้เกิดความตื่นเต้นเร้าใจเท่าเดิม
โดยหลังจากได้รับการบำบัดฟื้นฟูแล้วพบว่าได้ผลดี มีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม จำนวนวันและจำนวนเงินที่เล่นการพนันลดลง ความเครียดลดลง คุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยมีผู้รับการบำบัดครบตามเกณฑ์ 4 ครั้ง จำนวน 24 คน
แพทย์หญิงรัชนี กล่าวต่อว่า ในการป้องกันโรคติดการพนันโดยเฉพาะการพนันฟุตบอล มีข้อแนะนำ 5 ประการดังนี้
1. ให้ตระหนักว่าฟุตบอลเป็นกีฬาที่ให้ความสนุกสนาน ควรหาโอกาสเล่นฟุตบอลจริงๆ ด้วย โดยเฉพาะเยาวชนจะได้รู้สึกถึงความสนุกสนานเพลิดเพลินจากการเล่นฟุตบอลจริงๆ และพยายามจะเอาชนะจากการเล่นเกมจริง แทนความรู้สึกสนุกจากการชมและอยากเอาชนะด้วยการพนันบอล
2.ควรใช้ทักษะในการปฏิเสธพร้อมทั้งเดินหนีออกจากสถานการณ์เมื่อถูกชักชวนให้เล่นพนัน
3. หลีกเลี่ยงการสมาคมกับผู้ที่เล่นการพนันฟุตบอล
4. ไม่ทดลองเล่นการพนัน ไม่ว่าจะได้หรือเสีย เพราะจะมีส่วนกระตุ้นการหลั่งของสารสื่อประสาทโดปามีน อาจทำให้รู้สึกสนุกอิ่มเอมขณะเล่น ขณะเดียวกันอาจรู้สึกตึงเครียดและอยากเพิ่มปริมาณการเล่นมากยิ่งขึ้น
และ 5. หลีกเลี่ยงสิ่งยั่วยุต่างๆ ที่จะทำให้รู้สึกอยากจะเล่นการพนัน โดยเฉพาะการวิเคราะห์ที่ชี้ให้เห็นแนวโน้มความน่าจะเป็นของการแพ้-ชนะ โดยหากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เล่นการพนันด้วย ยิ่งเสี่ยงต่อการอยากลองเล่น รวมถึงการทำนายผลแพ้ชนะจากสื่อต่างๆ ก็มีส่วนยั่วยุให้เกิดการเล่นการพนันฟุตบอลได้เช่นกัน
สำหรับโรคติดพนัน จะมีอาการปรากฏ 9 อาการดังนี้ 1. คิดหมกมุ่นอยู่กับการเล่นพนันตลอดเวลา 2. เล่นพนันโดยเพิ่มจำนวนเงินขึ้นเรื่อยๆ 3. เล่นเสียเป็นหนี้ก็ยังเล่นต่อหวังว่าจะได้เงินคืน¨ 4. ยอมทำสิ่งผิดกฎหมายเพื่อหาเงินมาใช้หนี้และเล่นพนัน 5. พูดปดปกปิดปัญหาที่ลุกลามจากการเล่นพนัน
6. มีปัญหากู้หนี้ยืมสินจนเสียหน้าที่การงาน 7. สูญเสียสัมพันธภาพกับคนในครอบครัวจากการเล่นพนัน 8. ใช้การพนันเป็นทางออกในการหนีปัญหา 9. ล้มเหลวทุกครั้งที่คิดจะลด–ละ-เลิกการพนัน จึงขอให้ประชาชนหรือเยาวชนตรวจสอบตนเอง หากมีความคิดและพฤติกรรมที่กล่าวมานี้ 2 ข้อขึ้นไป แสดงว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดพนัน ขอแนะนำให้รีบปรึกษาสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
อ่านเพิ่มเติม