หน่วยงานด้านนโยบายและการศึกษาของคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของเกาหลีใต้ หรือ NHRC กำลังผลักดันให้นายมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ประกาศคำสั่งประธานาธิบดีในการระงับการใช้โทษประหาร ในช่วงเวลาครบรอบ 70 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
การระงับการใช้โทษประหารถือเป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างเป็นทางการ โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเกาหลีใต้เปิดเผยว่าได้หารือกับกระทรวงยุติธรรม เพื่อนำไปสู่การร่างแผนการดำเนินงาน ซึ่งจะมีการเปิดรับฟังความเห็นจากแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเดือน ก.ย. นี้ พร้อมกับจะมีการค้นคว้าวิจัยเรื่องนี้ต่อไป โดยมุ่งเน้นไปที่การหามาตรการอื่นมาทดแทนการประหารชีวิต
NHRC ยืนยันสนับสนุนการยกเลิกโทษประหารตามมาตรฐานสากล โดยปี 2548 NHRC เคยแนะนำให้รัฐสภาเกาหลีใต้ยกเลิกโทษประหาร และยังเคยยื่นฟ้องร้องไปยังศาลฎีกาเมื่อปี 2552 โดยระบุว่าโทษประหารชีวิตขัดต่อรัฐธรรมนูญที่รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
แม้ความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยที่จะยกเลิกโทษประหาร แต่ฏีกาก็ตกไป เพราะไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะใช้มาตรการใดมาแทนโทษประหาร อย่างไรก็ตาม NHRC เชื่อว่าสถานการณ์ในปัจจุบันของเกาหลีใต้ได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยเมื่อ ธ.ค.ที่ผ่านมา นายมุนได้ตอบรับเรื่องการยกเลิกโทษประหารอย่างดี
สำนักข่าวยอนฮับ ของเกาหลีใต้รายงานว่า ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ยังเก็บโทษประหารไว้เป็นส่วนหนึ่งของบทลงโทษที่รัฐใช้กับผู้ก่อคดีร้ายแรง แต่ไม่มีการประหารชีวิตนักโทษมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2540 ที่มีการประหารชีวิตนักโทษไป 23 ราย
กระทั่งเมื่อเดือน ก.พ. 2541 นายคิมแดจุง อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพได้เรียกร้องระงับการใช้โทษประหาร เนื่องจากเขาเคยถูกตัดสินโทษประหารชีวิตจากข้อหากบฏ และข้อหาสมคบคิดกันพยายามโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารของชุนดูฮวาน และการลุกฮือในควังจู และเมื่อพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่ 2 และสหรัฐฯ กดดันรัฐบาลในขณะนั้น จนนายคิมได้รับอิสรภาพ เขาก็เคลื่อนไหวเรื่องการยกเลิกโทษประหารตลอดมา
นายคิมแดจุงเคยเขียนจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องการยกเลิกโทษประหารโดยให้เหตุผลว่า โทษประหารชีวิตขัดกับหลักประชาธิปไตยที่ให้คุณค่ากับชีวิตมนุษย์มากที่สุด การจบชีวิตมนุษย์ในนามของกฎหมายขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน และเมื่อประหารชีวิตนักโทษไปแล้ว ก็ไม่อาจแก้ไขความผิดพลาดใดๆ ได้อีก และไม่มีใครสามารถรับรองได้อย่างเต็มที่ว่าการตัดสินโทษจะไม่เกิดจากการตัดสินที่ผิดพลาด หรือเป็นเครื่องมือของเผด็จการในการกดขี่และกวาดล้างผู้เห็นต่าง
อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ก็ไม่เคยประกาศออกมาอย่างเป็นทางการว่าจะยกเลิกโทษประหาร โดยข้อมูลจากทัณฑสถานของเกาหลีใต้ระบุว่า ปัจจุบัน เกาหลีใต้มีนักโทษที่ถูกตัดสินประหารชีวิตทั้งสิ้น 62 คน ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ทหารด้วยหลายคน
ที่มา: Yonhap News, Death Penalty World Wide, Reuters, Asia Death Penalty